“บิ๊กตู่” เปิดประชุมเอซีดี หยอดคำหวานทุกประเทศคือเพื่อน-ครอบครัว ชูเอกชนพลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศ แนะร่วมทำโรดแม็ป-ปฏิรูปเพื่อนำเอเชียก้าวเดินไปด้วยกัน หารือทวิภาคี”ฮุนเซน” เร่งเอ็มโอยูเดินรถไฟอรัญฯ-ปอยเปต ถกรองปธน.จีนช่วยผลักดันรถไฟไทย-จีน “พีระศักดิ์”ระบุ 33 สนช.ใหม่ทหารพรึบไร้ปัญหา ชี้แค่กำลังเสริม ไม่ใช่ฐานการเมืองให้คสช. เด็กปชป.เชื่อต่างตอบแทน กรธ.ยันอังคารนี้ส่งร่างรธน.ฉบับสมบูรณ์ถึงมือนายกฯ “องอาจ”แนะ 5 ข้อร่างกฎหมายลูก ให้กกต.เป็นที่พึ่งสกัดนักการเมืองโกง “สมศรี”จี้กกต.ดึงอำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่นกลับคืน เตือนถ้าไม่ช่วยตัวเอง อาจหายไปจากรธน.

“บิ๊กตู่”เปิดประชุมเอซีดี

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 9 ต.ค. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 (ACD Summit 2016) ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. พร้อมกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “บทบาทสำคัญของภาคธุรกิจต่อวิวัฒนาการของ ACD” (The Indispensable Role of Business in the Evolution of ACD) โดยมีตัวแทนภาคเอกชนประเทศสมาชิกเข้าร่วม 34 ประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ภาคเอกชนถือเป็นพลังสำคัญในการสร้างพลวัตใหม่ ท่ามกลางความผันผวนและความท้าทายต่างๆ ต้องดึงเอาศักยภาพที่หลากหลายของเอเชียออกมาอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน นำสู่การปฏิบัติให้เร็วที่สุด โดยกำหนดโรดแม็ป หากิจกรรมเริ่มต้นให้ได้ ในปีนี้และอีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าเราถอด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก็จะเหมือนเดิม ประชุมไปไม่ได้ผลเชิงปฏิบัติก็ไม่เกิดความร่วมมือ เกิดความขัดแย้ง จะทำอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น บนความคิดที่แตกต่าง ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไข และการปฏิรูป

ดึงเอกชนร่วมขับเคลื่อนประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนขับเคลื่อนได้เพียงรัฐบาล ต้องมีภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยรัฐบาลอำนวยความสะดวก กฎ กติกา ระเบียบ กำจัดอุปสรรค เปิดเส้นทางการค้ากับประเทศต่างๆ หากิจกรรมให้เจอไม่มองการแข่งขันอย่างเดียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนในระยะยาวที่มีผลตอบแทนชัดเจน ในการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และคน เผยแพร่ความรู้ การกระจายสวัสดิการ ยกระดับความเป็นอยู่อย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประเทศ ดึงดูดเงินทุนที่มีอยู่มากในเอเชียเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคได้อย่างเพียงพอ สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละประเทศ ข้อจำกัดของพื้นที่

สำหรับเรื่องประชาธิปไตย ประเทศอื่น เขาผ่านมาก่อนประเทศไทย และขณะที่ประเทศไทยยังก้าวข้ามไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งติดกับดักทั้งในและต่างประเทศ ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีปัญหา เพราะการบริหารราชการแผ่นดินมีความแตกต่างหลายระบอบ หลายวิธีการ แต่ปัญหาอยู่ที่ประชาชนจะร่วมมือหรือไม่เท่านั้น

ผุดเมกะโปรเจ็กต์เพื่อเอเชีย

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคการผลิต และบริการไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยได้จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย วงเงิน 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและเป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ตนเสนอให้มีการคิดเห็นร่วมกันว่า ทำอย่างไรและด้วยกลไกอะไรที่จะทำให้เกิด การไหลเวียนและระดมเงินลงทุนข้ามประเทศจากแหล่งต่างๆ ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กร และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่าน โครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมเพื่อรองรับความรุ่งเรืองของเอเชียได้อย่างเต็มที่

มุ่งใช้ฟินเทค-ลดต้นทุนอื้อ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมได้ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงด้านเงินทุน และการเงินในเอเชียยิ่งขึ้น นวัตกรรม และเทคโนโลยี สมัยใหม่ฟินเทคได้เปลี่ยนโฉมและกำลังเปลี่ยนโฉมภาคการเงินในเอซีดีหลายประเทศ ประเทศไทยเองก็ใช้ประโยชน์จากฟินเทคและได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดลงถึงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

เมื่อปีที่แล้วเอเชียได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกด้วยการลงทุนด้านฟินเทคเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า คิดเป็นมูลค่าถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะฟินเทคได้เปลี่ยนแปลงชีวิตชาวเอเชียให้สะดวก และมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและเงินทุนยิ่งขึ้น ในอนาคตชาวเอเชียทุกคนอาจไม่จำเป็นต้องถือเงินสดหรือบัตรเครดิตอยู่ในมือก็ซื้อของได้ ส่งเงินกลับประเทศได้โดยค่าบริการที่ไม่แพง เข้าถึงแหล่งทุน และเปิดธุรกิจได้ด้วยการระดมทุนจากผู้ที่เชื่อในธุรกิจ บนพื้นฐานของระบบที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย

เผยรักทุกคนเหมือนเพื่อน

นายกฯ กล่าวว่า ที่พูดนาน เพราะทุกคนคือเพื่อน คือครอบครัว ที่พูดวันนี้ก็เหมือนพูดกับเพื่อน ไม่ว่าประเทศไหนก็คือเพื่อนกัน วันนี้เราขัดแย้งกันไม่ได้ เพราะเรามีอุปสรรคทั้งภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของโลก วันนี้ทำอะไรไม่มีคนเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องพูดสร้างความเข้าใจให้ได้ในวันนี้ ประเทศไทยจะขัดแย้งกันไม่ได้อีกแล้ว ต้องแก้ด้วยความเข้าใจ และการพัฒนา

“วันนี้พูดอะไรไปก็อย่าโกรธเคือง และรำคาญ ผมรักทุกคนเหมือนเพื่อน และมองเป็นครอบครัวเอซีดี ที่ต้องรัก และปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้หวังให้ไทยเป็นผู้นำ แต่เราต้องนำไปด้วยกันตามศักยภาพ โอกาสนี้ขอเชิญชวนให้ทุกประเทศกลับมาท่องเที่ยวในประเทศ ไทยอีกในโอกาสต่อไป เหมือนกับผมที่อยากไปหลายประเทศบ่อยๆ แต่ยังไปไม่ได้ในวันนี้เพราะกำลังปฏิรูปทั้งหมด และขอให้ทุกคนมีความสุขในดินแดนแห่งรอยยิ้ม ซึ่งวันนี้ผมจะยิ้มเป็นตัวอย่าง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หารือทวิภาคีปธน.อิหร่าน

จากนั้นเวลา 10.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ เริ่มจากนาย ฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีอิหร่านได้กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นและชื่นชมต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอซีดี ที่มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทย-อิหร่านมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ซึ่งการเยือนไทยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนระดับสูงที่สุดครั้งแรกของฝ่ายอิหร่าน อันเป็นการยืนยันถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

ส่วนนายกฯ ได้ย้ำว่าไทยพร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก และพร้อมที่จะร่วมมือกับอิหร่านในทุกสาขา ขณะที่อิหร่านยังแสดงความประสงค์ที่จะซื้อข้าวจากประเทศไทยรอบใหม่ พร้อมชมอินทผาลัมและแอปเปิ้ลของไทยมีคุณภาพดี ในขณะที่ผลไม้ของอิหร่านก็มี ชื่อเสียง ซึ่งสองประเทศสามารถส่งเสริมการ นำเข้าผลไม้เหล่านี้ระหว่างกันได้

ขยายความร่วมมือกับภูฏาน

พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ส่วนการหารือระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับนายเชอริ่ง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏานนั้น นายกฯ หวังให้ภูฏานสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทยในภูฏานในทุกสาขาโดยเฉพาะสาขาก่อสร้างและโรงแรม ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวนายกฯ ภูฏานกล่าวว่าภูฏานยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และหวังให้ชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวภูฏานให้มากขึ้น โดยเห็นว่าการท่องเที่ยวจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ รวมถึงความเข้าใจอันดีระหว่างกันในระดับประชาชน

“ความร่วมมือด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือด้านการเกษตร เนื่องจากไทยและภูฏานเป็นประเทศเกษตร กรรมเช่นเดียวกัน โดยภูฏานประสงค์ที่จะเรียนรู้และส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนาจากไทย และแสดงความชื่นชมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราช ดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนายกฯ ย้ำว่าไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ภูฏานด้านวิชาการเกษตรในทุกสาขา นายกฯ ภูฏานย้ำว่าภูฏานยินดีร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิด และหวังเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ” พล.ท.วีรชนกล่าว

เร่งเดินรถไฟอรัญฯ-ปอยเปต

พล.ท.วีรชนกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้หารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกฯ แสดงความยินดีที่รถไฟของไทยและกัมพูชาบริเวณสะพานรถไฟอรัญประเทศ-ปอยเปต ได้เชื่อมต่อกันแล้ว และกำชับให้หน่วยงานของทั้งสองฝ่ายเร่งจัดทำร่างความตกลงเดินรถไฟร่วมให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนหัวรถจักรหรือตู้โดยสารที่ใช้การให้แก่ฝ่ายกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ตอบรับคำเชิญของ นายกฯ กัมพูชาที่จะโดยสารรถไฟสายประวัติ ศาสตร์นี้ร่วมกัน เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีระหว่างไทยและกัมพูชาอีกด้วย

ด้านการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน (จังหวัดสระแก้ว)-สตึงบท (จ.บันเตียเมียนเจย) นั้นนายกฯ ยืนยันว่า จะสามารถเปิดทำการได้ภายในปี 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมา ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้นายกฯ กล่าวว่า ไทยพร้อมให้การสนับสนุนในการแจกหนังสือเดินทางให้กับแรงงานกัมพูชาในประเทศไทยที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว นายกฯ ไทยและกัมพูชา ยังเห็นพ้องที่จะผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ถกจีนช่วยดันรถไฟไทย-จีน

พล.ท.วีรชนกล่าวว่า สำหรับการหารือทวิภาคีกับนายหลี่ หยวนเฉา รองประธานา ธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งสองฝ่ายยินดีในความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ นายกฯแสดงความประสงค์ให้ฝ่ายจีนช่วยผลักดันความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะในระยะยาวจะช่วยสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงในภูมิภาคซึ่งสอดคล้องกับความริเริ่ม One Belt One Road ของผู้นำจีน และจะสร้างประโยชน์ร่วมแก่ทั้งไทยและจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยขณะนี้ไทยกำลังเร่งการดำเนินการภายในประเทศเพื่อให้สามารถเริ่มโครงการได้ตามที่ตั้งเป้าหมาย

ในช่วงท้าย ทั้งสองฝ่ายหารือถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกฯกล่าวว่า ไทยยินดีที่ชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี พร้อมเน้นย้ำถึงการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับการดูแลคนไทย นายกฯหวังว่า ไทยและจีนจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ใหม่ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยวในลักษณะไทยบวกหนึ่งเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศอื่นๆในอาเซียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เลี้ยงอาหารค่ำผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอซีดี ที่หอประชุมกองทัพเรือ

แจ๊กหม่าเข้าพบ 11 ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายแจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน “อาลีบาบา” ซึ่งมาร่วมการประชุมเอซีดีในไทย เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกับผู้นำชาติเอเชียที่เข้าร่วมประชุมด้วย นอกจากนี้นายแจ๊ก หม่า จะเข้า หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงเย็นวันที่ 11 ต.ค. และวันที่ 12 ต.ค. จะเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ โดยรัฐบาลจะเชิญนายแจ๊ก หม่า ให้เข้ามาช่วยเหลือในส่วนที่รัฐบาลกำลังมีโครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยต้องการให้นายแจ๊ก หม่า เข้ามาช่วยเหลือด้านการปฏิบัติ (เทรนนิ่ง) ในการทำอี-คอมเมิร์ซ

นายสมคิด ระบุว่า ถ้าเราดึงทั้งหัวเว่ยและนายแจ๊ก หม่า เข้ามาช่วย จะทำให้การพัฒนาด้านดิจิทัลของไทยไปได้ดีมาก และหากเขาเริ่มที่ไทยจะทำให้ภาพของไทยเป็นฮับด้านดิจิทัลของอาเซียนได้

“พีระศักดิ์”ชี้สนช.ทหารไร้ปัญหา

วันเดียวกัน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการนำเสนอรายชื่อว่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ใหม่เพิ่ม 33 คน ซึ่งเป็นทหาร 26 คน นายตำรวจ 2 คนและพลเรือน 5 คน ว่า การที่มีสนช.ใหม่ 33 คน จะทำให้การพิจารณากฎหมายต่างๆ ของสนช. ทำได้รวดเร็วขึ้น และทันต่อห้วงเวลาที่เหลืออยู่อีกปีเศษ ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก และกฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล อีกเกือบ 200 ฉบับ ที่สนช.ต้องพิจารณา ส่วนที่กังวลว่าสนช.ใหม่ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นทหาร แต่ต้องมาพิจารณากฎหมายจะทำได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าตรงนี้ไม่ใช่ปัญหา อีกทั้งสนช.ที่เป็นทหารคงเป็นกำลังเสริม ไม่ใช่กำลังหลัก ข้อดีของทหารคือมีเวลา ไม่มีธุรกิจส่วนตัวที่ต้องทำ ดังนั้น ในแง่ของการทำงานในสภาจึงทำได้เต็มที่

เมื่อถามว่า การแต่งตั้งทหารจำนวนมากเข้ามาเป็นสนช. มองได้ว่าเข้ามาเป็นฐานทางการเมืองให้คสช.ได้หรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า คงไม่ใช่เรื่องของการสร้างฐานทางการเมือง เพราะคสช.ประกาศตลอดว่าจะไม่ ตั้งพรรคการเมือง คิดว่าสนช.ใหม่ที่เข้ามา เพื่อภารกิจด้านกฎหมายให้ลุล่วงมากกว่า เพราะอย่างที่บอกว่า เวลาที่เหลือหลังจากนี้ภารกิจของสนช.ค่อนข้างหนักมาก ในภาพการเมืองจึงไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องเลย

“วิรัตน์”เชื่อตั้งเพื่อตอบแทน

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในสนช.เดิมก็มีทหารอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสนช.ทำหน้าที่ทั้งส.ส.และส.ว. ฉะนั้นควรมีความรอบคอบโดยการตั้งคนให้เหมาะสมกับงาน เมื่อสนช.ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติควรจะประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพ และการตั้งสนช.รอบนี้ต้องไม่ใช่เป็นการตอบแทนบุญคุณ เมื่อมีทหารเข้ามามาก คิดว่าไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากในการพิจารณากฎหมาย แต่อาจจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยดีขึ้นในระดับหนึ่ง สามารถเคลียร์ปัญหากันได้ในสนช.หรือการตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นการตอบแทนอะไรกันหรือไม่ เพราะดูแล้วไม่ได้ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน

“การทำงานอาจทำให้ขาดความรอบคอบ เพราะกฎหมายหลายตัวส่วนราชการเสนอมาก็ผ่านไปโดยง่าย ไม่ได้มองให้รอบคอบในทุกประเด็น เพราะเมื่อส่วนราชการเสนอกฎหมายขึ้นมา ก็ผ่านกฎหมายไปโดยเร็ว เมื่อผ่านไปแล้วก็แก้ยาก เพราะคนที่มาเป็นสนช.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อาจขาดความรอบคอบ ขาดการกลั่นกรอง ไม่ได้มองถึงผู้ถูกบังคับคือประชาชน ช่วงนี้กฎหมายจะผ่านออกมามาก เพราะสนช.ถือว่าเป็นผลงาน ทั้งที่ควรดูเป็นรายร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าออกมาเพื่อความสะดวกของคนใช้กฎหมายหรือออกมาเพื่อจะอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกใช้บังคับ” นายวิรัตน์กล่าว

“เต้น”ชี้ไม่สนองภารกิจ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า หน้าที่หลักของฝ่ายนิติบัญญัติคือ พิจารณากฎหมายและติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ถามประชาชนทั้งประเทศว่า เมื่อเห็นรายชื่อสนช.ใหม่ทั้ง 33 คน ใครเชื่อบ้างว่าเป็นการแต่งตั้งเพื่อตอบสนองภารกิจ ดังกล่าว โดยเฉพาะการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งสนช.ที่มีอยู่แล้วได้คะแนนติดลบ ส่วนที่มาใหม่ก็คาดหวังไม่ได้ ยิ่งฝ่ายผู้มีอำนาจแสดง ออกว่าไม่ชอบใจความพยายามตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนเสียอีก เท่ากับว่า ในช่วงเวลาที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลไม่ได้แสดงออกว่าเปิดกว้างรับการตรวจสอบเลย

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า การยกบทบาททั้งหมดให้องค์กรอิสระไม่ตอบโจทย์สถาน การณ์นี้ เพราะหัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วม หลายครั้งที่คนในรัฐบาลร้องขอประชาชนให้เป็นหูเป็นตาเรื่องการทุจริต แต่พอหูตาประชาชนไปเจอเรื่องคนในกลุ่มผู้มีอำนาจเข้าก็บอกให้อยู่เฉย รอหน่วยงานทำหน้าที่ เลยไม่รู้ว่าเอาจริงๆ ประชาชนต้องทำตัวอย่างไร

กรธ.เร่งร่างกม.ให้ทันโรดแม็ป

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การประชุม กรธ.วันที่ 10 ต.ค. จะมีทบทวนประเด็นต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งรายละเอียดและความถูกต้อง ก่อนที่จะส่งฉบับสมบูรณ์ให้นายกฯ ในวันที่ 11 ต.ค. ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อสังคม หากการแก้ไขเสร็จสมบูรณ์แล้วกรธ.จะเปิดเผยข้อมูล และข้อสังเกตต่อสาธารณชนให้ได้ทราบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามกรธ.จะมีการหารือกันถึงเรื่องการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับนายกฯว่าจะต้องมีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการหรือไม่ เบื้องต้นคาดการณ์ว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.อาจจะไปมอบด้วยตนเอง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอการประชุมวันที่ 10 ต.ค.ก่อน

ส่วนการร่างกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ กรธ.กำลังเร่งจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้เสร็จ เพื่อมีเวลาส่งให้สนช.ได้นำไปพิจารณาดำเนินการต่อ ซึ่งกรธ.อยากให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เสร็จให้เร็วเพื่อให้พรรคการเมือง และกกต.ซึ่งเป็น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง ได้มีเวลาเตรียมตัวทำงานกับกติกา และเพื่อให้การเลือกตั้งทันเวลาตามโรดแม็ป

ปชป.ฝาก 5 ข้อ-ให้กกต.เป็นที่พึ่ง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎหมาย กกต. ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการเลือกตั้งทุกระดับในประเทศไทย เพราะกกต.เป็นองค์กรอิสระที่มากำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามความถูกต้องเรียบร้อย ถ้ากกต.ไม่ดำเนินการให้เกิดความเรียบร้อย ปล่อยให้มีการทุจริต หรือมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันอย่างแพร่หลาย จะทำให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบนไป เพราะยิ่งปล่อยปละละเลยให้มีการซื้อเสียงมากเท่าไหร่จะยิ่งทำให้เราได้นักการเมืองที่เข้ามาทำงานมุ่งหวังจะใช้อำนาจหน้าที่เพื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น กกต.จึงเป็นองค์กรอิสระที่สำคัญในการช่วยทำให้การเมืองไทยใสสะอาดมากขึ้น

นายองอาจกล่าวว่า เพื่อให้การทำงานของกกต.สัมฤทธิผลตามเป้าหมาย จึงขอเสนอให้กรธ.ยกร่างกฎหมายกกต.โดยยึดหลักสำคัญดังนี้ 1.สร้างเสริมให้กกต.มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานป้องกันและปราบปรามการซื้อเสียงให้ได้ผลอย่างจริงจัง 2.สร้างกลไกให้การใช้อำนาจของ กกต.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม 3. ในกรณีที่ให้อำนาจ กกต.เพิ่มมากขึ้น ควรมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจการทำงานของกกต.ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการใช้อำนาจ และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

แนะเปิดตัวร่างกฎหมาย

นายองอาจกล่าวว่า 4.ควรกำหนดโครงสร้างการทำงานของกกต. ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการ จนถึงระดับปฏิบัติการ ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และ5.ควรเพิ่มเติมบทบาทอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้หวังว่าการยกร่างกฎหมายกกต.ขึ้นมาใหม่ จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการทำงานของ กกต.ให้เป็นองค์กรอิสระที่เป็นที่พึ่งหวังของบ้านเมืองได้

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุดกรธ.ควรเปิดร่างกฎหมายลูกออกมาให้ทุกคนเข้าถึงได้มากที่สุด และช่วยกันแสดงความคิดเห็น เสมือนหนึ่งเป็นการทำประชามติกลายๆ ว่าประชาชนต้องการอะไร รวมทั้งขอความเห็นว่าควรปรับอย่างไร ส่วนความเห็นของทุกภาคส่วน ทางกรธ.ต้องคำนึงถึงความเห็นในส่วนนี้ด้วย และทุกฝ่ายไม่น่าจะปฏิเสธ ซึ่งความเห็นโดยร่วมใครจะเอาไปบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ก็ต้องระมัดระวัง

“สมศรี”จี้กกต.โชว์บทบาท

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. กล่าวถึงกรณีที่กรธ.มีแนวคิดลดอำนาจ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เหนือความคาดหมาย ดูแล้วกรธ.คงจะลดอำนาจของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นลงเหลือเพียงเป็นผู้กำกับดูแลเท่านั้น และให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการเลือกตั้งแทนกกต. ซึ่งเหมือนกับการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากองค์กรท้องถิ่นส่วนใหญ่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อเป็นเช่นนี้จะมี กกต.ไว้ทำไม

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาที่อาจจะตามมาหากให้องค์กรอื่นเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง การบังคับบัญชาของ กกต.จะทำได้ยาก ถ้าเกิดการเลือกตั้งแบบตามแต่ใจตัวเอง กกต.จะควบคุมไม่ได้ ก็จะเป็นปัญหา และส่งผลทำ ให้การดำเนินงานจัดการเลือกตั้งไม่ราบรื่นเหมือนที่ กกต.เคยดำเนินการทั้งหมด ดังนั้น กกต.ต้องอธิบายและแสดงความคิดเห็นให้ กรธ.ได้ทราบและเข้าใจว่า กกต.มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

“ถ้าเปรียบการเล่นกีฬาฟุตบอล หาก กกต.ไม่ได้เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแต่เป็นเพียงผู้ดูแล กกต.ก็จะเป็นแค่เพียงกรรมการกำกับเส้นเท่านั้น ไม่ใช่กรรมการที่ทำหน้าที่เป่านกหวีด มันก็ไม่มีความหมายอะไร ต่อไปข้างหน้า กกต.จะกลายเป็นเสือกระดาษ ไม่มีบทบาท ดังนั้น ในฐานะ กกต.รุ่นพี่ อยากขอให้ กกต.ชุดนี้ ดึงสิทธิหน้าที่บทบาทของ กกต.ที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กลับมาเหมือนเดิม ถ้า กกต.ไม่ช่วยตัวเอง โอกาสที่กกต.จะหายไปจากรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มสูงมาก” นางสดศรีกล่าว

โพลหนุนกกต.จัดเลือกตั้ง

ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,250 คน เรื่อง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรทำหน้าที่อะไร” ระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.96 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่ทั้งจัดการเลือกตั้งและกำกับดูแลการเลือกตั้ง ร้อยละ 15.68 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งเท่านั้น ร้อยละ 8.32 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น

ส่วนความคิดเห็นต่อการมี กกต.จังหวัด ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐผู้แทนองค์กรธุรกิจเอกชน ผู้แทนองค์กรประชาสังคมและชุมชน ทำหน้าที่อำนวยการการจัดการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.68 ระบุว่าเห็นด้วย ร้อยละ 11.2 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.08 ระบุว่าควรรับผิดชอบอำนวยการการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

เมื่อถามถึงการให้ส่วนราชการอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ส่วน กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเฉพาะในระดับชาตินั้น ร้อยละ 50.56 ระบุว่า เห็นด้วย ร้อยละ 44.64 ไม่เห็นด้วย ส่วนการยกเลิก กกต.จังหวัดแต่กำหนดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่สรรหาจากส่วนกลาง จังหวัดละ 3-5 คนไปทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้งแทนนั้น ร้อยละ 60.56 เห็นด้วย ร้อยละ 34.08 ไม่เห็นด้วย

โพลชี้ชาวบ้านยังเชื่อใจ”บิ๊กตู่”

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,287 คน เรื่อง “ประชาชนเชื่อใจและไม่เชื่ออะไรในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ระหว่างวันที่ 3-8 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่ประชาชนเชื่อใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 74.36 ตัวนายกฯ เพราะมีความเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี พูดจริงทำจริง มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและส่วนรวม รองลงมาร้อยละ 72.57 การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จัดระเบียบสังคม เพราะมีผลงานให้เห็นต่อเนื่อง เห็นถึงความตั้งใจในการทำงาน ร้อยละ 61.85 เป็นรัฐบาลทหารที่ไม่มีนักการเมืองมาร่วม และร้อยละ 60.06 จะมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีแผนการทำงานที่มีความชัดเจน ทำงานตามโรดแม็ป

ส่วนสิ่งที่ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ พบว่าร้อยละ 78.09 คิดว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ร้อยละ 67.60 การสร้างความปรองดองในบ้านเมือง เพราะยังมีความขัดแย้งให้เห็น มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ร้อยละ 65.73 ระบุว่าความซื่อสัตย์สุจริต เพราะมีข่าวให้เห็นมากขึ้นเกี่ยวกับการทุจริต การใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เหมาะสม เช่น โครงการอุทยานราชภักดิ์ ทริปฮาวาย และร้อยละ 55.94 การใช้อำนาจพิเศษ

เมื่อถามว่าประชาชนเชื่อใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มากน้อยเพียงใด พบว่าร้อยละ 40.56 ค่อนข้างเชื่อใจ เพราะรัฐบาลมุ่งมั่นในการบริหารประเทศ ตั้งใจแก้ปัญหาบ้านเมือง มีคณะทำงานที่มีความรู้ความสามารถ เชื่อใจในตัวนายกฯ มีความเด็ดขาด รองลงมาร้อยละ 24.01 ไม่ค่อยเชื่อใจ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ดีขึ้น มีแต่ความขัดแย้งและหวังผลประโยชน์ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ประชาชนเดือดร้อน ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 20.51 เชื่อใจ และ 14.92 ไม่เชื่อใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน