คอลัมน์ รายงานพิเศษ : ยืดใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จำเป็นหรือไม่

ยืดใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จำเป็นหรือไม่ – คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด (ศบค.ชุดเล็ก) มีมติให้ต่ออายุพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือนจนถึงวันที่ 31 ก.ค. โดยจะนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานพิจารณาวันที่ 29 มิ.ย. หากเห็นชอบจะเสนอเข้า ครม.ในวันที่ 30 มิ.ย.

นักวิชาการมีความเห็น ดังนี้

ยืดใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จำเป็นหรือไม่

สุนัย ผาสุก
ที่ปรึกษาฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย

กฎหมายพิเศษที่มีผลต่อการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ กติการะหว่างประเทศ อนุญาตให้บังคับใช้ได้ในเวลาจำกัดและต้องมีความจำเป็นเท่านั้น

แต่กรณีของประเทศไทย พ.ร.ก.ฉุกเฉินในส่วนของเรื่องโควิด-19 ไม่มีเหตุผลชอบธรรมที่จะต่ออายุแล้ว เพราะสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามในการแพร่ระบาดมีการคลี่คลายลง

ผลที่ตามมาคือเอาไปใช้ในทางที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีผลบั่นทอนการบริหารประเทศตามหลักการประชาธิปไตย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจความรับผิดชอบต่อการบริหารของรัฐบาล และกลายเป็นว่าเป็นการปกครองที่อยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับสมัยที่เป็นหัวหน้าคสช.

มองว่าเจตนาของการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องการคุ้มครองพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลจากการถูกท้าทายทางการเมือง ทั้งผ่านการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ผ่านสื่อต่างๆ ผ่านการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่หน้ากระทรวงการคลัง หรือเรื่องการเมือง

เหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาอ้างว่าเพื่อรองรับการคลายล็อกในเฟส 5 ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกสอง จึงฟังไม่ขึ้น

จริงๆ ประเทศไทยมีกฎหมายอื่นที่นำมาใช้ได้ และที่ผ่านมาความสำเร็จของมาตรการในการรับมือโควิดมาจากพื้นฐานกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ที่ก่อนหน้านี้ประกาศใช้แล้ว แต่การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะรัฐบาลสั่งการพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ แต่พอมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งการ ไม่ใช่เครื่องมือในการทำงาน เพียงแต่เป็นตัวบอกและสั่งว่าต้องทำ

สิ่งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินยกเลิกได้ แต่สามารถประกาศใช้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้จำเป็นแค่ไหน ถ้าไม่จำเป็นแล้วก็น่าจะยกเลิกได้ไม่ยาก

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือสะท้อนถึงการเตือน หรือส่งสัญญาณให้เห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถนำกลับมาใช้ได้ทั้งในบริบทของการรับมือการระบาดโควิดระลอกใหม่ หรือกับเรื่องอื่นๆ ต่อไปในอนาคต จะกลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดการเสพติดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะเป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้านกับทุกเรื่องหรือไม่

การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินในมุมมองขององค์กรสิทธิมนุษยชน จะส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ของการบริหารประเทศที่กลับหลัง การถ่วงดุลอำนาจที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ขัดกับหลักการรับผิดของรัฐ เป็นสภาวะที่ไม่ได้เอื้อหรือให้ความมั่นใจหากจะมีประเทศไหนหรือภาคเอกชนจะกลับมาทำธุรกิจเหมือนอย่างปกติกับประเทศไทย เพราะประเทศอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ

ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ยืนยันว่าควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที เพราะมีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพ มีฝ่ายสาธารณสุขของไทยที่มีประสิทธิภาพ และคนไทยมีวินัย ให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ จนมีผลประจักษ์ออกมาว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉิน

ฉะนั้นต้องเอาตัวที่ไม่เกี่ยว แต่ทำให้มีผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวกออกไปโดยเร็ว

ยืดใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จำเป็นหรือไม่
สุรชาติ บำรุงสุข
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เมื่อตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศไม่ปรากฏแล้ว มีเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อของคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเท่านั้น การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลจะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในตัวเอง เพราะไม่สามารถอธิบายเป็นอื่นได้

หากรัฐบาลจะอ้างว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะกลัวการระบาดของโควิด-19 รอบสองนั้น ถ้าคิดว่าการระบาดรอบสองในไทยเป็น ไปได้เหมือนกับในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือในยุโรป เชื่อว่า สังคมรวมทั้งประชาชนสามารถ ตั้งรับกับสถานการณ์การระบาดได้ดีมากพอสมควร ทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ดีมากขึ้น และการจะระบาดรอบสองได้นั้น จะเกิดในพื้นที่แคบ เป็นวงจำกัด ไม่ใช่ในพื้นที่ขนาดใหญ่

ดังนั้น ต้องยอมรับว่าการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน แต่เป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลเองมากกว่า

หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลต้องการมีอำนาจพิเศษในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกับปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ จนอาจส่งผลให้เกิดการชุมนุมได้ การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกจึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าที่จะนำมาใช้ควบคุมปัญหาการระบาดของโควิด-19

ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กลุ่มนิสิตนักศึกษา เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มคลายออก การไม่ตอบรับรวมทั้งความไม่พอใจรัฐบาลก็กลับมาอีกครั้ง

มองว่าคนที่ไม่พอใจรัฐบาลอาจใหญ่กว่าเดิม โดยเฉพาะคนที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ อาจกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ของพวกม็อบเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในเวทีโลกหลายๆ ประเทศมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

เมื่อขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้คนตกงานจำนวนมาก คนจนเกิดขึ้นมากมาย สภาพที่เราเห็นจากกรณีการขอรับเงินเยียวยาที่หน้ากระทรวงการคลัง เป็นข้อบ่งชี้ได้ดี เชื่อว่าจะเกิดการชุมนุมอีกรูปแบบหนึ่งในอนาคต กลายเป็นม็อบเศรษฐกิจ

ประกอบกับม็อบการเมืองที่ไม่พอใจกับการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ คาดว่าจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวของทั้งม็อบเศรษฐกิจและม็อบการเมืองในอนาคตได้

การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้รัฐบาลมีอำนาจพิเศษมากกว่า จึงไม่สามารถอธิบายเป็นอื่นได้ว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองให้กับรัฐบาลเท่านั้น

สังคมมีบทเรียนกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประชาชนดูแลตัวเองได้ดีมากขึ้น รัฐบาลเองก็รับรู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถตั้งรับและเผชิญเหตุการณ์การระบาดได้ดีกว่าช่วงที่มีการระบาดใหม่ๆ วันนี้การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปจึงไม่ช่วยอะไร

ส่วนจะยกเลิกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่เราเห็นแล้วว่าการคงพ.ร.ก. ฉุกเฉินมีผลเสียมากกว่า ยิ่งต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนานเท่าไร เชื่อว่าคนจะยิ่งไม่กลัว และรัฐบาลจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยเจอ คือม็อบเศรษฐกิจ ไม่ได้มีเพียงม็อบการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักรู้

ยืดใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-จำเป็นหรือไม่
ฐิติพล ภักดีวานิช
คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ผมบอกได้อีกเสียงว่าไม่มีความจำเป็นต้องต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล

การอ้างว่าต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ เพื่อรับมือกับการคลายล็อกเข้าสู่เฟส 5 หรือควบคุมการระบาดรอบ 2 นั้นฟังไม่ขึ้น ทั้งยังไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย ประเทศไทยมีมาตรการอื่นในการควบคุมโรคระบาดค่อนข้างเยอะ ทั้งยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่พร้อมจะทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว

นี่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งจากการรัฐประหาร และหลังการเลือกตั้งรัฐบาลนี้ยังคงมีความคิดและคุ้นเคยกับการใช้อำนาจพิเศษต่างๆ ในการปกครองมากกว่าใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้

โดยเฉพาะในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคระบาดอย่างชัดเจน และมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะใช้เครื่องมือนี้ควบคุมไม่ให้กลุ่มคนที่เห็นต่างออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐบาลต่อไป

การคงไว้ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินแน่นอนว่าส่งผลกระทบหลายส่วน และยิ่งส่งผลเสียกับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตย ในทางเศรษฐกิจเองก็ยิ่งเป็นปัญหา นอกจากจะย่ำแย่อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว ยังมีผลกระทบในการปิดช่องทางการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปได้ในระดับหนึ่งด้วย

อย่างการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเงิน จากประชาชน จากกลุ่มนักศึกษาหรือกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ได้ทำได้ง่ายภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการทุจริตและความไม่โปร่งใสมากขึ้น เพราะโดยหลักการแล้วรัฐบาลควรที่จะตรวจสอบได้และตั้งคำถามได้จากประชาชน

ถ้ายังยืนยันจะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะต้องเขียนไปอย่างชัดเจนเลยว่า ‘ไม่ใช้ในการควบคุมกิจกรรมทางการเมือง’ หรือถ้าจะใช้เพื่อโควิดจริงๆ ก็อาจจะต้องเพิ่มบทเฉพาะกาลไปว่า ‘ไม่ใช้ไว้อ้างกิจกรรมทางการเมือง’

แต่ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าเป็นการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า

รัฐบาลควรเข้าใจว่าตอนนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจการปกครองควรจะอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรพยายามที่จะแสวงหาเครื่องมือในการให้อำนาจพิเศษในการปกครอง หรือในการควบคุมประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน