ศาลฎีกาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ” เสนอเงินสินบน 30 ล้านตุลาการรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์คดียุบทรท.ปี 49 อ้างติดหนี้บุญคุณ ครอบครัวกอดให้กำลังใจ ก่อนถูกคุมเข้าเรือนจำคลองเปรมรับโทษ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 14 ก.ค. ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.3559/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อายุ 75 ปี อดีต ผกก.สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ผู้ใดขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และผู้ใดขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานตำแหน่งตุลาการ อัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167

โดยโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2556 บรรยายพฤติการณ์สรุป เมื่อวันที่ 16-22 ต.ค.49 จำเลยได้ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ห้องทำงานที่ศาลฎีกา แล้วรับว่าจะให้เงินจำนวน 15 ล้านบาทกับ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อให้ช่วยเหลือในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม.

ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี อ้างเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ ม.ล.ไกรฤกษ์ การไปพบก็เพื่อส่งหนังสือเชิญร่วมงานเลี้ยงรุ่น และการกล่าวถึงสินบนก็เพียงพูดคุยหยอกล้อในฐานะเพื่อนเท่านั้น เพราะขณะนั้นมีข่าวลือเรื่องวิ่งเต้นคดี

ซึ่งคดีได้มีการสืบพยานร่วมปี ต่อมาศาลชั้นต้น ก็ได้มีพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.57 ว่า โจทก์ มี ม.ล.ไกรฤกษ์ ประจักษ์พยานเบิกความซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ขณะที่การกระทำของจำเลย ถือเป็นการเห็นแก่ตัว ทำลายความเชื่อถือและศรัทธาของระบบศาลและตุลาการ ซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จึงลงโทษให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลยฐานจะให้สินบนตุลาการเพื่อจูงใจกระทำการมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167

ต่อมา พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลย ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 19 ก.พ.59 เห็นว่า นอกจากโจทก์ มี ม.ล.ไกรฤกษ์ ประจักษ์พยานว่า จำเลยขอเข้าพบมาแสดงความยินดีและและพูดคุยว่าจำเลยเป็นหนี้บุญคุณ คุณหญิงอ้อ ถ้ายอมช่วยเหลือจะได้รับเงิน 15 ล้านและจำเลยขอส่วนแบ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วจำเลยยังมาพบที่บ้านอีกอ้างนำบัตรเชิญเลี้ยงรุ่นมาให้และพูดลอยๆว่า 30 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ยังมีนายจรัญ ภักดีธนากุล, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ผู้พิพากษาและอดีตผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสำคัญ เบิกความถึงกรณีที่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ได้เล่าเรื่องจำเลยเข้าพบด้วย

โดยพยานก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันที่จะกุเรื่องปรักปรำจำเลย และขณะนั้นพรรคไทยรักไทยเองก็เป็นรัฐบาล หากปรักปรำก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเหมาะสมพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ขณะที่จำเลยก็เคยเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม การกระทำของจำเลยทำให้เสื่อมเกียรติภูมิตุลาการอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจต่อกระบวนการยุติธรรม จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ แต่ชั้นพิจารณาจำเลยได้รับข้อเท็จจริงตามฟ้อง จึงพิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 2 ปี แต่ไม่รอการลงโทษ

โดย พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลยได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดี และได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นฎีกา หลังจากยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท ต่อศาลในการประกันตัว

ขณะที่วันนี้ พ.ต.อ.ชาญชัย สวมเสื้อคลุมแจ๊กเก็ตสีน้ำเงิน กางเกงสแลคขายาวสีดำ ใบหน้าสวมแว่นสายตาสีชาและสวมหน้ากากอนามัย เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมกับครอบครัวและคนสนิท 5-6คน พร้อมด้วยทนายความ

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ฎีกาจำเลยที่กล่าวอ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธน่าสงสัยไม่อาจรับฟังได้นั้น ล้วนแต่เป็นการคัดลอกและตัดตอนจากอุทธรณ์ของจำเลยเกือบทั้งหมด เมื่อผลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไว้โดยละเอียดแล้ว

ขณะที่ฎีกาของจำเลยไม่ได้กล่าวโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งดังนั้นต้องห้ามฎีกา ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 193 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยประการอื่นเกี่ยวกับการกระทำผิดตามฟ้อง ก็ล้วนเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้ให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอลงการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยมีอายุ 75 ปี และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงต้องพบแพทย์เป็นประจำ และประกอบคุณงามความดีขณะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการ และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเคยเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมาก่อน จำเลยย่อมรู้ดีว่าการเสนอให้เงินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการโดยเฉพาะการเสนอให้เงินแก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อจูงใจให้ช่วยเหลือการพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคดีที่สำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชนนั้น

จึงนับว่าเป็นความพยายามที่จะบิดเบือนความยุติธรรมและเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันศาล การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษจำคุกโดยลดโทษให้ 1 ใน 3 ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษนั้นเหมะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อฟังคำพิพากษาแล้ว ภรรยาและบุตร ก็ได้เข้าสวมกอด พ.ต.อ.ชาญชัย ให้กำลังใจ ก่อนที่เจ้าหน้าราชทัณฑ์จะควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำคลองเปรม เพื่อรับโทษ 2 ปีตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาต่อไป

โดยทนายความของ พ.ต.อ.ชาญชัย เปิดเผยว่า ในชั้นฎีกา ได้ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ โดยระบุถึงสุขภพของ พ.ต.อ.ชาญชัยว่า มีโรคประจำตัวความดันสูง แต่ทั้งนี้ศาลพิจารณาเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุสมควร ประกอบกับจำเลยก็เป็นอดีตนายตำรวจที่ได้กระทำผิดลงไปจึงไม่รอการลงโทษ

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน