สภาฯถก งบ 64 วาระแรก “บิ๊กตู่” ห่วงเศรษฐกิจ ทรุดหนัก หากโควิด-19 ยืดเยื้อ เชื่อ เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นหาก โควิดสิ้นสุดไตรมาสแรก ปี 64

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2564 วงงิน 3,300,000,000,000 บาท (สามล้านสามแสนล้านบาท) ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ และไม่ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ
โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ64 ว่า เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

โดยใช้งบเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ

และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อ เศรษฐกิจไทยในปี 64 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 – 5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโดยเกิดจากฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในปี63 และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของความต้องการจากภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของ โควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการในประเทศตามการเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร

และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่าง ๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่การระบาดของโควิด-19 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 64

นายกฯกล่าวต่อว่าในปี 64 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,798,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 121,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,677,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สำหรับงบ 64 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท

เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 623,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 674,868 ล้านบาท

คิดเป็นร้อยละ 20.5 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 มีจำนวน 7ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ41.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

โดยให้กระทรวงต่างๆดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 แผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน