“ทวี สอดส่อง” ชี้การจัดงบ 64 ส่อล้มละลายด้านงบประมาณ จี้เปิดให้ปชช.มีส่วนร่วม ด้านค่าใช้จ่ายลงทุนไม่ชัดเจน งบผูกพันข้ามปี ซื้ออาวุธ-ก่อสร้างมากเกินจนเป็นภาระ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 กล่าวว่า กมธ.ฯ จะเริ่มมีการประชุมในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ซึ่งในหลักการต้องเลือกประธาน กมธ.ฯ และตำแหน่งต่างๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าจะได้เป็นประธาน กมธ. จากนั้นคงร่วมกันพิจารณากำหนดกรอบในการทำงานและรับฟังหน่วยงานต่างๆ ภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนกว่า

ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.จะต้องสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรหรือเงินงบประมาณ และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนรวมของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องด้วย สรุปต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนถ้วนหน้าและต้องพิจารณาแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจสังคม สาธารณสุข และความมั่นคงของประเทศด้วย

“อยากให้การพิจารณาครั้งนี้เป็นระบบเปิดที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ในการแสดงความคิดเห็น เสนอข้อมูล ถ้าไม่ผิดกฏหมายควรเปิดให้สื่อมวลชนได้ถ่ายทอดสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี และรัฐบาล สำนักงบประมาณ ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้ กมธ. และผลงานหรือการประเมินผลถึงความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน”

“อีกประเด็นมีงบผูกพันข้ามปี ที่เป็นภาระ เช่น ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ หรือก่อสร้าง เมื่อรวมแล้วมีจำนวนมากน่าจะเกิดเพดานร้อยละ 10 ของงบประมาณประจำปี ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ห้ามไว้ แต่ทราบว่ารัฐบาล และสำนักงบประมาณประดิษฐ์คำว่าขึ้นมารายการใหม่ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย คงต้องหาข้อยุติ มิเช่นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า การพิจารณาของ กมธ. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่างพระราชบัญญัติหรือเป็นกฎหมาย จะมีศักดิ์สูงกว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือระเบียบ แต่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ แต่ศักดิ์ศรีเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ซึ่งในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติจะต้องสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรหรือเงินงบประมาณ และต้องให้มีกระบวนการมีส่วนรวมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้เกี่ยวข้องด้วย

เบื้องต้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมามีจุดอ่อนหลายประการ อาจเรียกได้ว่าจัดงบประมาณที่สร้างความอ่อนแอให้ประชาชน หรืออาจเรียกว่า ‘ประชาชนล้มละลายด้านงบประมาณ’ เพราะเงินถูกใช้เป็นงบรายจ่ายประจำ (งบบุคลากรที่เป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ) มากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 76.5 ของงบประมาณทั้งหมด และเมื่อรวมงบที่จ่ายเงินคงคลังกับใช้หนี้คืนเงินต้น จะเหลืองบ ‘รายจ่ายลงทุน’ เพียงประมาณ 6.7 แสนล้านบาทเศษ หรือประมาณร้อยละ 20.5 เท่านั้น

แม้อ้างตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ ไม่ได้นิยามศัพท์ ‘รายจ่ายลงทุน’ ไว้ มีเพียงคำว่า ‘งบลงทุน’ ซึ่งบางส่วนที่ดูแล้วเอกสารดูยากมาก ได้พิจารณารายละเอียดตามเอกสารเบื้องต้น รายจ่ายลงทุนน่าจะน้อยกว่าร้อยละ 20 ในหลักการควรมีร่ายจ่ายลงทุนที่ควรจะเป็นประมาณร้อยละ 30-35 ของงบประมาณ คือต้องมีรายจ่ายลงทุน ประมาณ 9.9 แสนล้านเศษ ถึง 1.15 ล้านล้านบาทเศษ ถึงจะเหมาะสมกับประชาชน”

พ.ต.อ.ทวี ระบุอีกว่า หากพิจารณารายได้ปีนี้ แม้จะคาดการณ์ว่าเก็บภาษีได้ 2.67 ล้านล้านบาทเศษ ซึ่งมีผู้เกี่ยวกับออกมาสัมภาษณ์แล้วว่าไม่น่าจะเก็บถึง 2.5 ล้านล้านบาทเศษด้วยซ้ำ กรมสรรพากรกรมเดียวประมาณการเก็บภาษีต่ำขาดไปมากกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว ภาษีที่เก็บได้ยังไม่พอใช้รายจ่ายประจำที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน และงบประมาณดำเนินงานเรียกว่าภาษีอากรของประชาชนทุกบาทประเคนให้รัฐและข้าราชการใช้ทั้งหมด ที่เหลือต้องกู้มา เป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนร่วมกันใช้หนี้ นอกจากนี้ยังมีเงินนอกงบประมาณ และรัฐวิสาหกิจ ที่จัดแล้วประชาชนอ่อนแอลง

ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ตั้งงบประมาณปีละไม่ถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี ขณะประเทศไทยตั้ง 3.3 ล้านล้านบาท แต่มาเลเซียมีรายได้ประมาณ 4 เกือบ 5 แสนบาท/คน/ปี ของไทยรายได้ประมาณ 1 แสนบาท/คน/ปี สาเหตุจากมาเลเซียเป็นประชาธิปไตย และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน