พรรคประชาชาติ เสนอแก้กม.‘พระธรรมนูญศาลทหาร’ ให้ทหารต้องขึ้นศาลยุติธรรม

วันที่ 17 ก.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า พรรคประชาชาติ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และคณะ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ. …

โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร ฉบับนี้ มีหลักการและเหตุผลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2489 ซึ่งก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมนี้ กฎหมายพระธรรมนูญศาลทหารได้แก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วจำนวน 10 ครั้ง

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระแล้วเห็นว่า กฎหมายพระธรรมนูญศาลทหาร เป็นกฎหมายสบัญญัติ (Adjective law) หรือกฎหมายวิธีสบัญญัติ (Procedural law) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการ หรือวิธีการเพื่อนำเอาสาระของกฎหมายสารบัญญัติ (Substantive law) อันเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ ตลอดจนกำหนดความรับผิดเกี่ยวกับกฎหมายทหาร หรือกฎหมายอื่นในทางอาญามาบังคับใช้แก่ผู้กระทำความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร

“การเสนอร่างได้มีการกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติม โดยเพิ่มความเกี่ยวกับประเภทของคดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำผิด กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารเป็นผู้เสียหาย เพื่อมิให้คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร รวมถึงได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มความในบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการโอนคดีดังกล่าว จากศาลทหารไปยังศาลพลเรือน กรณีที่การพิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จ แต่หากการพิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออุทธรณ์หรือฎีกาก็ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารดังเดิม” พันตำรวจเอก ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า “ตามหลักนิติธรรม ความมุ่งหมายบุคคลทุกคนต้องได้รับการบังคับใช้กฏหมายอย่างเสมอภาค ซึ่งตามกฏหมายพระธรรมนูญศาลทหารปัจจุบันในคดีที่ทหารกระทำผิดร่วมกับพลเรือนจะดำเนินคดีที่ศาลพลเรือนหรือศาลยุติธรรม แต่ถ้าทหารกระทำผิดตามลำพังไม่มีพลเรือนร่วมกระทำความผิดทหารจะมีเอกสิทธิ์ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จะแก้ไขในส่วนนี้ให้ขึ้นศาลพลเรือน เหมือนข้าราชการและบุคคลทั่วไปเช่น ข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการอื่นๆ รวมทั้งบุคคลในกระบวนการยุติธรรม อัยการ ศาล ถ้ากระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีศาลยุติธรรม หรือศาลพลเรือน

ดังนั้นจึงเสนอแก้กฏหมายให้ทหารที่กระทำผิดลำพังต่อผู้เสียหายที่เป็นพลเรือน ต้องขึ้นศาลยุติธรรมบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่เป็นพลเมือง รวมทั้งที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเอง ทั้งที่เป็นความผิดอันยอมความได้ และความผิดอาญาแผ่นดินซึ่งเป็นความผิดอันยอมความมิได้เป็นสำคัญ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน