7 ตุลา “ม็อบคนดี” : คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องคดีสลายม็อบพันธมิตรปิดหน้ารัฐสภา 7 ตุลาคม 2551 ด้วยเหตุผลที่กระจ่างแจ้ง ชัดเจน

ศาลชี้ชัดว่าการที่ม็อบปิดล้อมรัฐสภา ปิดประตูเข้าออกทุกด้าน ไม่ให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบาย เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตำรวจปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น

ขณะที่เหตุการณ์ช่วงบ่ายและค่ำ ศาลชี้ว่าการกลับมาปิดล้อม จน ส.ส. ครม.ออกมาไม่ได้ มีการปลุกระดมจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภา ก็ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ ตำรวจจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเปิดทาง แม้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับตำรวจ ที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาเป็นเหตุให้บาดเจ็บล้มตาย

เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยไม่ใช่เพิ่งจะเห็นด้วย เพราะ 2 วันหลังเหตุการณ์ ศาลปกครองซึ่งออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็ชี้ว่าการชุมนุมโดยใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมัน ปิดล้อมรัฐสภาขัดขวางไม่ให้ ครม.เข้าบริหารประเทศ ไม่ใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตำรวจมีหน้าที่สลายม็อบ เพียงต้องทำเท่าที่จำเป็น ตามความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอน

แน่ละ หลังจากนั้นก็โต้เถียงกันว่าทำตามขั้นตอนหรือไม่ แต่กรณีที่ว่าใช้แก๊สน้ำตาจนบาดเจ็บล้มตาย ก็อย่าลืมสิว่าก่อนเช้าวันที่ 7 ตุลา ไม่มีใครในประเทศนี้ (หรือในโลกนี้) คาดคิดว่าแก๊สน้ำตาจะทำให้แขนขาดขาขาด อาจเป็นได้ว่าแก๊สน้ำตา (จีน) เป็นพิษเป็นภัย เสื่อมสภาพ แต่ไม่มีใครรู้ เมื่อปี 50 ก็เพิ่งใช้สลายม็อบ นปก.หน้าบ้านป๋าเปรม

ฉะนั้น ไม่ว่าผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติ ไม่มีใครจงใจให้บาดเจ็บล้มตาย สั่งใช้แก๊สน้ำตานะครับ ไม่ใช่สั่งใช้กระสุนจริง ซึ่งยังเล็งเห็นได้ว่าจะมีคนตาย

น่าเสียดายที่กว่าจะขึ้นศาลตัดสิน ต้องใช้เวลาถึง 9 ปี ขณะที่หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ กระแสสื่อ กระแสคนชั้นกลาง นักวิชาการ นักสิทธิ ภาคประชาสังคม รุมถล่มรัฐบาลด้วยความโกรธแค้นว่า “ฆาตกร”

ถ้ายังจำกันได้ 7 ตุลา สร้างรอยแผลเกิดความแตกแยก ระหว่างมวลชนกับมวลชนอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก เพราะถัดมาไม่กี่วัน 11 ตุลา 51 ก็เกิดปฏิกิริยาโต้กลับ มวลชนอีกข้างหลั่งไหลไปรวมกันที่ธันเดอร์โดม กำเนิดสัญลักษณ์ “เสื้อแดง” ด้วยความไม่พอใจ “ม็อบมีเส้น” ยึดทำเนียบ ปิดรัฐสภา แล้วกระแสสังคมยังปกป้อง

ที่จริงก็เข้าใจได้ สังคมคนชั้นกลางดูถ่ายทอดสด เห็นศิลปิน คนมีการศึกษา บาดเจ็บล้มตาย ก็โกรธแค้น ซ้ำเติมความไม่พอใจรัฐบาลอยู่แล้ว ทำให้ยิ่งเฮกันออกมาหนุนม็อบพันธมิตร ทั้งที่การยึดทำเนียบ ปิดล้อมรัฐสภา เป็นการกระทำที่ผิด ทั้งผิดกฎหมายและกติกาประชาธิปไตย จนท้ายที่สุดก็ได้ใจ คนดีกู้ชาติ ทำอะไรไม่ผิด ล้ำไปจนยึดสนามบิน (แต่บอกว่าไม่ได้ปิด การท่าฯ สั่งปิดเอง)

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่เห็นใจคนบาดเจ็บล้มตาย แต่ต้องแยกแยะ ความเห็นใจว่าตามหลักมนุษยธรรม ความถูกผิดว่าตามหลักยุติธรรม เมื่อไม่มีใครจงใจ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แล้วช่วยกันเยียวยา นี่ยังเป็นห่วงอยู่ว่าเมื่อศาลฎีกาพิพากษาเช่นนี้ คดีละเมิดที่ศาลปกครองตัดสินว่ารัฐบาลสลายม็อบเกินกว่าเหตุ สั่งจ่าย 32 ล้าน ให้ผู้เสียหาย 250 คน ซึ่งอยู่ระหว่างอุทธรณ์ จะมีผลออกมาอย่างไร

คือแม้เห็นว่ารัฐบาลไม่ผิด แต่มีคนตายเจ็บก็ต้องเยียวยา ซึ่งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จ่ายเงินเยียวยาเหยื่อทุกสีไม่เฉพาะเสื้อแดง (เพียงแต่เสื้อแดงตายเจ็บมากกว่าเสื้อเหลือง เลยจะถูกไล่ล่าเอาผิดว่าช่วยพวก)

เช่นกัน ผมไม่ได้คับข้องใจเลยที่ศาลฎีกาพิพากษาคดีพันธมิตรขับรถชนตำรวจ ลดโทษจำคุกจาก 33 ปีเหลือ 2 ปี 16 เดือน ผมม็อบมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา เข้าใจดีว่าเห็นเพื่อนตายเจ็บย่อมโกรธแค้น หลัง 6 ตุลาผมก็เข้าป่า วีรชน 14 ตุลาก็เผาตึก กตป. กองสลาก กรมประชาสัมพันธ์ วีรชนพฤษภา 35 ก็เผากองสลาก กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร

เพียงถามคำเดียว คุณเอาใจเขาใส่ใจเราบ้างหรือเปล่า

7 ตุลา 51 กับเมษาพฤษภา 53 มีความหมายสำคัญเป็นรอยแผลแตกแยกระหว่างมวลชน ระหว่างชนชั้น ซึ่งต้องสะสางทั้งความยุติธรรม และความเข้าใจอกเขาอกเรา

ม็อบเสื้อแดงก็ copycat เสื้อเหลืองนั่นละครับ แต่คุณยึดทำเนียบยึดสนามบิน เสื้อแดงทำได้แค่ยึดศูนย์ช็อปปิ้งยังเจอกระสุนจริง

อยากรู้จริงๆ ว่าเมื่อไหร่หนอ จะมีการพิจารณาคดีปี 53 บ้าง เพื่อให้หายค้างคาใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน