กลุ่มแคร์จัดเสวนารธน.ในฝัน แนะต้องแก้ก่อนค่อยยุบสภาฯ อำนาจ 3 ฝ่ายต้องตรวจสอบได้ ชี้ต้องสร้างความเสมอภาคระหว่างเมืองและชนบท

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 ส.ค. ที่ลิโด้ คอนเนคท์ สยามสแควร์ กลุ่มแคร์จัดงานเสวนาหัวข้อ “ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของประชาชน” เพื่อร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยให้เป็นฉบับสุดท้ายของประเทศไทย และให้เกิดขึ้นที่รุ่นเราจริงๆ โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งของกลุ่มแคร์ อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ ร่วมกิจกรรม

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

โดยมีวิทยากรมาร่วมงานเสวนาหลากหลาย อาทิ นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนแก่ เริ่มชาชินกับวิกฤตทางการเมืองไทยไปแล้ว ตนสอนที่ ม.เกษตรศาสตร์ตั้งแต่ปี 15 สอนเรื่องรัฐธรรมนูญมาตลอด แต่ก็ยังอ่านรัฐธรรมนูญไม่รู้เรื่อง แค่คำปรารภก็ไม่ไหวแล้ว และต้องเจอกับรัฐธรรมนูญที่ร่างกันยาวขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมแค่กระดาษเอสี่ พอเริ่มปี 2517 ก็เขียนกันยาวขึ้นๆ จนคนไม่อ่าน ที่สำคัญอ่านไม่รู้เรื่องด้วย เด็กๆ ตนมีโอกาสได้ไปเรียนที่สหรัฐฯ ได้พบว่ารัฐธรรมนูญที่เขาใช้สั้นมากแค่ 10 กว่าหน้า และใช้มานานจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่รัฐธรรมนูญบ้านเรามันยาวจนเกินไป ไม่มีประโยชน์เพราะยาวเกินไปและอ่านไม่รู้เรื่อง แม้แต่ครูบาอาจารย์ก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง ที่สำคัญคือควรใช้ภาษาคนธรรมดา และที่แปลกใจคือทำไมต้องมีแนวนโยบายแห่งรัฐ และมียุทธศาสคร์ชาติซ้ำเข้าไปอีก ดังนั้นหากอยากออกจากวิกฤตต้องเริ่มเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้นและอ่านรู้เรื่อง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 รับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุด ดังนั้นตนอยากได้รัฐธรรมนูญที่สั้น คนอ่านรู้เรื่อง ที่เรามีปัญหาเพราะเราอ่านไม่รู้เรื่องจึงเถียงกันไปมาแบบนี้

ด้านนางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนขอเสนอว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำก่อนยุบสภาฯ มิเช่นนั้นโอกาสที่จะได้นายกฯ คนเดิมหรือคนใหม่ที่มาจากการจัดตั้ง และต้องแก้ 2 ประเด็นโดยที่ไม่ต้องทำประชามติ คือ 1.ที่มาของนายกฯ กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. มาจากคะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ เท่านั้น และ 2.แก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 40 และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วน ส.ว.เรายกเว้นการใช้บทเฉพาะกาล ม.269 เพื่อให้อำนาจ ส.ว.หมดไป ไม่ต้องมีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ อีก หรืออีกทางหนึ่งตนเสนอว่า ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน ร้อยละ 80 และอีก 20 มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อตอนที่เราคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เราพูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของ คสช. กลไกต่างๆ ขึ้นกับ คสช.ที่สร้างความได้เปรียบและทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่มีทางได้คนดี มีความสามารถเข้ามาแก้วิกฤตประเทศ เราจะได้ระบบที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ พอใช้มาระยะหนึ่งก็เกิดการเรียกร้องให้แก้ แม้กระแสเกิดขึ้นไม่เร็ว แต่เมื่อเราผ่านวิกฤตโควิด-19 ความเหลวแหลกของกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ทำให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เราคาดการณ์มานั้นถูกต้อง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญในฝันที่ตนอยากได้ คือรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างจริงจังและเป็นจริง แต่ที่เขียนไว้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพเลย ประชาชนควรเป็นผู้กำหนดรัฐบาลได้ อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ต้องตรวจสอบได้โดยประชาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นอิสระจากประชาชน และไม่อยู่ใต้ผู้มีอำนาจ กระบวนการยุติธรรมต้องยึดโยงประชาชน วิพากษ์วิจารณ์ได้ ต้องกำหนดให้ชัดว่ารัฐบาลที่มาจากพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ ไม่ใช่ให้กองทัพเป็นอิสระจากรัฐบาลและรัฐสภา

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เมื่อประชาชนต้องการแก้ไข ส่วนจะทำอย่างไรให้เป็นรัฐธรมนูญฉบับสุดท้ายนั้น การเขียนว่าห้ามฉีกไม่มีประโยชน์ เราต้องทำให้สังคมไม่ยอมให้มีใครมาฉีกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมรับรองการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และเห็นคุณค่าร่วมกันว่าใครจะฉีกรัฐธรรมนูญไม่ได้ ศาลจะรับรองไม่ได้ และส่วนตัวหากให้แก้รัฐธรรมนูญ ควรแก้ 2 ส่วน คือตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ยกเว้นเงื่อนไขไพรมารีโหวตให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ ให้มีนายกฯ ใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การแก้ ม.256 ตั้ง ส.ส.ร.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ ที่สำคัญต้องส่งเสริมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาให้มีมากขึ้นตลอดกระบวนการ จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และวันเลือกตั้งให้ลงประชามติเพื่อเปิดช่องให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ทำประชามติอีกรอบ เพื่อเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายจริงๆ

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ กล่าวว่า หลักประกันด้านการเป็นเจ้าของอำนาจรัฐในทุกมิตินั้น ต้องเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชน โดยสมาชิกรัฐสภา นายกฯ และรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งพรรคการเมืองจดทะเบียนอัตโนมัติ พวกขุนนางไม่มีสิทธิ์สั่งยุบพรรคการเมือง ต้องยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน การปกครองท้องถิ่นโดยองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น หน่วยงานตำรวจ ทหาร และหน่วยงานราชการควรมีคณะกรรมการตรวจสอบที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่มาจากภาคประชาชน มีโรงเรียน โรงพยาบาลเป็นของชุมชนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนในคุกมากที่สุดในโลก ที่ส่วนใหญ่เป็นคนจนและมีความผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นเรือนจำไม่ใช่เป็นสถานที่ลงโทษ แต่ควรมีไว้เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้แก้ไข และสิ่งที่นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยพูด เป็นสิ่งที่อยากเห็นในสังคมประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เราต้องทำให้มีความเสมอภาคเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบท แต่ปัญหาใหญ่ประเทศเรามีกลุ่มทุนผูกขาดไม่กี่กลุ่มที่จะต้องไปแก้ไข เราต้องใช้ระบบรัฐสวัสดิการทุกด้าน และรายได้พื้นฐานต้องถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านหน้าสถานที่ทำกิจกรรม กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้ตั้งโต๊ะล่าชื่อประชาชน “5หมื่นชื่อ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” มีประชาชนสนใจลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างคึกคัก โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่

ด้าน น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท.กล่าวว่า ขณะนี้ตนเป็น 1 ใน 31 รายชื่อที่อาจโดนหมายจับ หรือหมายเรียกจัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีสองรายชื่อคือ ทนายอานนท์และไมค์ที่อยู่ในชั้นศาล โดยตนถูกขับรถตามโดนถ่ายวิดีโอ ไม่ว่าพูดอะไรจะถูกบันทึกโดยฝ่ายความมั่นคง สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่รู้สึกอะไรมากแต่สับสนว่าจะโดนหมายเรียกหรือหมายจับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับนักเคลื่อนไหวในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีผู้ปกครองบ้าอำนาจตนรู้สึกเศร้าที่เกิดมาจะอายุ 22 ปีแล้วยังไม่เห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย อยู่ในรัฐที่คนสร้างความหวัดกลัวให้เกิดขึ้นในรัฐ อยู่ในประเทศที่ต้องเรียกร้องหาประชาธิปไตยทั้งที่ควรจะมีตั้งแต่เกิด

ทั้งนี้ ตนเป็นคนต่างจังหวัดแต่อยากเห็นสังคมดีกว่านี้ แต่สิ่งที่เราเจอทุกครั้งที่เราต่อสู้เรียกร้องก็จะเจอกับการต่อต้าน ไม่มีครั้งไหนที่รัฐโอบอุ้มเราหรือเห็นเราเป็นพลเมืองคนหนึ่ง เคยย้อนถามตัวเองตลอดว่าเราเป็นคนเท่ากันหรือเปล่า สุดท้ายต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในหลายคดี ทั้งที่ตนพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ตัวเองและประเทศปลอดภัยกว่านี้ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเพราะเราอยู่ในกติกาที่ไม่เป็นธรรม อยู่ในรัฐธรรมนูญที่มีสิ่งเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ตนไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้จะหยุดตอนไหนในบางครั้งรู้สึกหมดแรงแต่เมื่อถูกต่อต้านก็พร้อมจะกลับมาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

น.ส.จุฑาทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับรัฐธรรมนูญในฝันนั้น ตนอยากผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2489 และ 2540 ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ยืดหยุ่นล้มยากตอบโจทย์ประชาชน ทุกคนต้องเท่าเทียมเสมอภาพ ไม่ว่านายทุนขุนศึกคนเดินดินจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังน.ส.จุฑาทิพย์กล่าวจบทุกคนในฮอลล์ ต่างลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจ น.ส.จุฑาทิพย์อยากเนืองแน่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน