หลักนิติธรรมกับคดี‘บอส อยู่วิทยา’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่ม “CARE คิด เคลื่อน ไทย” จัดเสวนา Round Table “หลักนิติธรรม (Rule of Law) : ข้อห่วงใยของสังคมไทย” คดี “บอส อยู่วิทยา” เพื่อร่วมเปิดมิติความคิดสะท้อนความต้องการของสังคม เก็บรับบทเรียนในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อสร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดสองมาตรฐาน และยึดหลักนิติธรรม

  • มานิตย์ สุธาพร
    อดีตผู้พิพากษา และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

หากปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทุกคนจะต้องวิ่งเต้นเหมือนกันหมด

แต่การวิ่งเต้นหาความยุติธรรมจะเป็นไปได้ยาก หากกระบวนการสอบสวนและกระบวนการกฎหมายอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวน หาพยานบุคคล พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องสามารถตรวจสอบได้ พิสูจน์ได้ ให้เป็นมาตรฐาน ทั้งเรื่องความรวดเร็วในการสอบสวนทำคดีต้องมีการจำกัดเวลา ไม่ใช่ให้ยืดเยื้อไปได้ 7-8 ปี

ส่วนการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องพูด แต่กลับไม่มีคนพูดมากเท่าไรนักทั้งที่รู้ว่ามันมีอยู่จริงและมีมาเนิ่นนาน

โดยการแทรกแซงเกิดได้จากทั้งภายนอกและภายใน กล่าวคือ การแทรกแซงภายนอกมาจากอิทธิพลการเมือง ให้ความดีความชอบ สินบน ไปจนถึงการใช้กำลังข่มขู่

ส่วนกระบวนการสอบสวนที่มาจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างๆ ที่ตั้งขึ้นก็ต้องพิจารณาอยู่ในขอบเขต ต้องไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง เพื่อชี้นำให้เกิดการตัดสินใจได้

ด้านการแทรกแซงภายใน มักจะมาจากการรู้จักหน้าค่าตาและนำไปสู่การวิ่งเต้น ทำให้การตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปตามปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตามหลักฐาน

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการแทรกแซงจากสื่อที่เป็นสื่อโซเชียล ซึ่งจะเป็นใครก็ได้เพราะไม่มีขอบเขต มาจากการเติมแต่งแสดงความเห็น คาดเดาและชี้ทาง ทำให้คนส่วนใหญ่ไขว้เขว และส่งผลกระทบทันทีหากไม่ออกมาตรงตามที่คาดเดา แต่สื่อก็มีข้อดีที่ทำให้เกิดการตรวจสอบได้เช่นกัน

ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องพึงระวังสิ่งเหล่านี้และอยู่บนพื้นฐานพยานหลักฐานของความเป็นจริง ยึดมาตรฐานเป็นหลักเพื่อไม่ทำให้เกิดการวิ่งเต้น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ต้องคำนึงว่าหลักของกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นอิสระ สอบสวนเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ควรให้มีปัจจัยอื่นใดมาชักจูงชี้นำ ประกอบกับการมีจรรยาบรรณทางกฎหมาย เพราะด้วยตัวกฎหมายนั้นแปลได้หลายทาง แต่ตามหลักแล้วกฎหมายทั่วโลกล้วนมีจุดประสงค์เดียวกัน

 

  • อานุภาพ ธีรณิศรานนท์
    ผู้จัดรายการวิทยุ และที่ปรึกษากฎหมาย

วลีคุกมีไว้ขังคนจนยิ่งตอกย้ำหนักข้อ เป็นความสองมาตรฐานระหว่างคนรวย-คนจนและกฎหมายไม่เป็นกฎหมาย

ถ้าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตย แน่นอนว่าคดีบอสไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะปัญหาคือเรายังไม่มีความเท่าเทียมกัน จะจับใครแต่ละทีต้องรู้ว่าเป็นใคร นามสกุลอะไร แบบนี้ไม่ถูก

ความรู้สึกของสังคมจึงกระจายมายังสถาบันการศึกษากฎหมายว่าจะตอบคำถามอย่างไร นักศึกษาจะเอาบรรทัดฐานใดไปใช้ได้ ทั้งยังสะเทือนไปทั้งวงการตำรวจ

เราต้องมีการสังคายนากระบวนการยุติธรรมทุกระดับและทั้งระบบให้เกิดความเท่าเทียม ซึ่งมั่นใจว่าทุกคนอยากให้ความร่วมมือ

บุคลากรทางกฎหมายต้องยอมรับความคิดที่แปลกแยก ยอมรับความรู้ ความคิดของคนรุ่นใหม่ๆ แก้ไขกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง บังคับใช้จริงจังและต้องเป็นธรรม

ทุกวันนี้แม้เป็นฝ่ายถูกยังต้องวิ่งเต้น เพราะกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่มีอะไรแน่นอน อย่ามองว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องมองว่าอะไรผิด อะไรถูก และคิดเพื่อส่วนรวม

ไม่อยากให้คดีนี้กลายเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก และต้องทำให้ทุกอย่างเข้าสู่มาตรฐานสากล

 

  • มานิดา ซินเมอร์แมน
    นักกฎหมายมืออาชีพ ภาคธุรกิจ

ภาพลักษณ์ของไทยที่ออกไปสู่สายตาต่างชาติ ในแง่ของนักลงทุนนั้น ประเทศไทยกำลังเสียโอกาสในการลงทุนค่อนข้างมาก

เนื่องจากสายตาของนักลงทุนมองว่า การลงทุนเสี่ยงได้แต่ในเรื่องของกฎหมายต้องไม่เสี่ยง ต้องประกอบธุรกิจภายใต้กรอบของกฎหมายนิติรัฐได้อย่างถูกต้อง คือ มีความแน่นอนแน่ชัด เพื่อประโยชน์ในการทำใบอนุญาตและจดสัญญาต่างๆ และสามารถคาดหมายได้ว่าในอนาคตเมื่อลงทุนแล้วจะออกมาในลักษณะไหน

กรณีของบอส กระทิงแดง เรามองว่ากระบวนการยุติธรรมที่เปรียบเสมือนเสาของบ้าน เท่ากับได้ผุไปทั้งเสาแล้ว หากเอาอนาคตธุรกิจหรือเครื่องจักรมาไว้บนบ้านอีกจะถล่มหรือไม่

กฎหมายยังไม่เป็นธรรมส่งผลต่อการคิดคำนวณเพื่อการลงทุนอย่างมาก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องระดับโครงสร้างของประเทศ ซึ่งขณะนี้มาถึงขั้นที่รัฐบาลไทยไม่สามารถให้การรับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อีกต่อไป

เมื่อเกิดภาวะคาดการณ์ไม่ได้ นี่เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งที่ทำไมทุนนิยมไม่ชอบเผด็จการ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปกี่สมัยก็ช่าง ตราบใดที่กฎหมายยังคงเดิม

ถ้ากฎหมายชัดเจนไม่ต้องมีดุลพินิจ อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันเราอยู่กันได้

แต่เมื่อกฎหมายยังไม่แน่นอนใครจะลงทุน เสาบ้านที่สั่นคลอนขนาดนี้ไม่มีใครอยากอยู่

 

  • รณกรณ์ บุญมี
    รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและผอ.บัณฑิตศึกษา
    คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หากศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมหายไป สิ่งที่จะตามมาคือคนจะกล้าทำผิด แล้วใช้วิธีวิ่งเต้นหาทางเพื่อให้หลุดคดี ส่วนคนที่ไม่ผิดจะไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ

สังคมจะเชื่อมั่นความยุติธรรมได้ต้องมีประสิทธิภาพทั้งกระบวน การคือ

1.ตำรวจมีความสามารถจัดการอาชญากร

2.อัยการมีความสามารถในการฟ้องร้องคดี

3.ศาลจัดการกับคดีรวดเร็วและเป็นธรรม

4.ศาลกำหนดโทษที่เหมาะกับความผิด

5.เรือนจำมีความพร้อมที่จะฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคมได้จริง

6.กรมคุมประพฤติสามารถป้องกันไม่ให้กลับมากระทำความผิดอีก

สำคัญที่สุดคือความเป็นธรรม เป็นที่น่าสังเกตว่าเราใช้กฎหมายในตัวบทขัดแย้งกันในทางปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง นอกเหนือจากตัวอักษรแล้วยังมีการคุกคามจากคนมีอิทธิพล และผลลัพธ์จากความต่างชั้นของคนรวยและคนรากหญ้า ส่วนสื่อโซเชี่ยลที่มาแทรกแซงนั้น เกิดขึ้นเพราะกระบวนการยุติธรรมไม่มีความน่าเชื่อถือ คนคิดว่าออกสื่อนั้นง่ายกว่า เรียกร้องได้ตรงกว่า

ดังนั้น องค์กรยุติธรรมควรพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นอิสระและดำเนินการอยู่ภายใต้การตรวจสอบ ไม่ใช่มีเฉพาะความยุติธรรมเท่านั้น แต่ประชาชนต้องเห็นด้วยว่าเกิดขึ้นจริง

สิ่งที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือได้คือ เริ่มจากการเปิดเผยเกณฑ์หรือไกด์ไลน์ เพื่อประชาชนจะได้ตรวจสอบ และมั่นใจได้ว่าการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบคดีนั้นๆ เป็นไปตามเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนด อิสระได้ แต่อย่าอิสระจากประชาชน เพราะองค์กรคุณไม่ได้ถูกประชาชนเลือกมา จึงต้องตรวจสอบได้

กฎหมายไทยใช้ดุลพินิจได้ แต่ควรมีเกณฑ์ด้วยว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้อัยการไม่ฟ้องคดี ต้องเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ เพราะสิ่งหนึ่งที่กฎหมายไทยไม่มีคือความชัดเจน

หากย้อนดูที่รากของการศึกษาไทยคือการฝึกให้เอาใจผู้มีอำนาจ เพราะคุณคิดแย้งอาจารย์ไม่ได้ ในแง่ของเนติบัณฑิตเองก็ต้องตอบให้เหมือนธง จะสอบผู้พิพากษาต้องถอดสมองออกแล้วท่อง เพื่อตอบให้เหมือนธง จากนั้นเมื่อได้เป็นผู้พิพากษาจึงค่อยใส่สมองกลับที่เดิม

เราไม่ได้ฝึกให้ใช้ตรรกะและไม่ได้ฝึกให้เกิดความกล้าหาญในการโต้แย้งในสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไข

ส่วนการจะทำให้ตำรวจเป็นอิสระได้คือต้องให้อัยการไปคุมตำรวจ เพราะอัยการคือจุดที่สังคมคลางแคลงใจ ต้องปรับให้ทำงานทีมเดียวกันกับตำรวจ ทั้งปราบปรามอาญากรรมและการฟ้องคดี ต้องมีการคุยกันให้ชัดเจนและบ่อยขึ้น

ห้องสอบสวนต้องติดกล้อง เอกสารต้องเปิดเผยและตรวจสอบได้ ตั้งแต่ศาล อัยการและตำรวจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน