เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดผู้เกี่ยวข้องในคดีการทุจริตจำนำข้าว ฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายหาเสียงแล้วก็เริ่มแถลงนโยบายต่อสภา ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และทางพวกตนชี้ให้เห็นว่าเกิดปัญหาแน่ เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาเรื่องการเปิดช่องทุจริตแล้ว เมื่อรัฐบาลมีสต๊อกข้าวมากๆ จะทำลายตลาดข้าว ทำลายโอกาสของข้าวไทยในการแข่งขัน ในการส่งออก จะกระทบต่อแรงจูงใจของเกษตรกรที่จะต้องดูแลเรื่องคุณภาพข้าว ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของที่มาของคดีว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากมีการเตือนจากหลายฝ่าย
“เมื่อบอกว่าหาเสียงมาแล้ว เขาต้องทำ ตรงนี้ก็พอมีน้ำหนักว่า หาเสียงมาแล้วต้องทำ ถ้าไม่ทำจะหาว่าไปหลอกลวงประชาชนอีก พอเริ่มทำ ปรากฏว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตอยู่หลายขั้นตอน ให้เครดิตนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กับส.ส.อีกหลายคน ที่ไปเก็บข้อมูลมาว่า มีปัญหาเรื่องการโกงตาชั่ง ความชื้น เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็มีการอภิปรายในสภา ตั้งกระทู้ถามบ้าง เสนอเป็นญัตติบ้าง รัฐบาลก็ต้องถือว่ารับรู้รับทราบ ถ้าจะมาแก้ตัวบอกไม่มาสภา ไม่รู้ ก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อโครงการมีการดำเนินการได้สักพักหนึ่ง ก็มาถึงขั้นตอนการเก็บข้าวในสต๊อก มีการนำเสนอข้อมูลต่ออีกว่ามีการทุจริตเรื่องการเวียนข้าว ต่อมาถึงขั้นตอนการระบายข้าว ก็มีการเอาข้อมูลมาเสนออีกว่าที่ระบายข้าวไปนี้ มีปัญหาว่าที่อ้างว่าขายกันรัฐต่อรัฐนั้นของจริงหรือไม่ และเริ่มมีข้อมูลที่เราใช้นำเสนอต่อสภาว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจมาทำธุรกิจหากิน พูดง่ายๆ คือการทุจริตกับโครงการนี้ และมีการฟ้องอีกคดีหนึ่งคือกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และพวก รวม 28 คน ต่อมามีทั้งกระทรวงการคลัง สตง. ที่ตรวจสอบแล้วพบความเสียหายในโครงการ เขาก็บอกว่าตั้งแต่ปี 2554-56 มีการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องระงับยับยั้ง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่กลับปล่อยปละจนกระทั่งความเสียหายนี้ออกมาหลายแสนล้านบาท
“การไม่ทำตามนโยบายที่แถลงต่อสภา เป็นความรับผิดชอบต่อสภา แต่กรณีนี้สภาได้ท้วงว่าอย่าทำต่อ กำลังจะเกิดปัญหาเพราะถ้าเกิดเขาไม่ทำตามนโยบายที่แถลงต่อสภา เขาสามารถยกเลิก แล้วมาแถลงต่อสภาได้เลยว่าที่ต้องหยุดเพราะเกิดความเสียหาย เกิดการทุจริตขึ้น และผมย้ำด้วยว่าขณะเดียวกันอย่าลืมว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็แถลงนโยบายด้วยว่าจะป้องกัน ปราบปรามการทุจริต ซึ่งต้องรวมถึงการระงับยับยั้งโครงการที่ถูกชี้ว่ามีการทุจริต วันนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นดุลพินิจของศาลที่จะวินิจฉัยว่าพฤติกรรมแบบนี้ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ในฐานะผู้นำรัฐบาล”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน