นปช.โวยทหารถือปืนเดินป้วน เปี้ยนในชุมชนป่าซาง จ.ลำพูน กดดันมวลชนไม่ให้เข้ากรุง 25 ส.ค. แม่ทัพภาค 3 โต้แค่ฝึกซ้อมกำลังพล เตรียมลง 3 จว.ใต้สั่งตรวจสอบต้นตอข่าวบิดเบือน ยันไม่เกี่ยวปรามม็อบ ตำรวจจัดกำลัง 2,550 นายตรึงเข้มรอบศาลวันชี้ชะตาคดีจำนำข้าว “บิ๊กป้อม” ยอมรับกก.ปฏิรูป มีทั้งคนดี-คนไม่ดี แต่การันตี ทำงานได้ “ปชป.-เพื่อไทย”อัดไร้วิสัยทัศน์ ฝากความหวังไม่ได้ สนช.รับหลักการวาระ แรกร่างพ.ร.บ. 7 ชั่วโคตร ครอบคลุมถึง”กิ๊ก-ชายรักชาย-เพื่อนสนิท” ฉลุยกฎหมาย”กสม.” เซ็ตซีโร่ยกชุด ประธานกสม.ลั่นเดินหน้าสู้ถึงที่สุด “ไก่อู”โต้ไม่บังคับสื่อทีวี แค่ขอให้ช่วย ทำสกู๊ปข่าวรัฐมนตรีลงพื้นที่ ช่วงครม.สัญจรโคราช 21-22 ส.ค.

“บิ๊กตู่”ต้อนรับนายกฯเวียดนาม

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 17 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้การต้อนรับ เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล จากนั้นนำตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ บริเวณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมลงนามในสมุดเยี่ยม ก่อนจะหารือข้อราชการกลุ่มเล็กและหารือข้อราชการเต็มคณะ

จากนั้นนายกฯ ไทยและนายกฯ เวียดนามเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่าง ไทย และเวียดนาม 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครอบคลุมความร่วมมือใน 6 กิจกรรม 2.บันทึกความเข้าใจเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่ เมืองน้อง ระหว่างจังหวัด ตราดกับจังหวัดก่าเมา 3.ความร่วมมือด้านไปรษณีย์ สารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เทคโนโลยีดิจิตอล 4.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า และ 5.ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติเวียดนามกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขยายความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการเงินและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ร่วมกัน

ช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ เวียดนามและภริยา ที่ตึกสันติไมตรี

“บิ๊กป้อม”รับกก.ปฏิรูปมีทั้งดี-ไม่ดี

ที่องค์การทหารผ่านศึก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคการเมืองวิจารณ์ว่ารัฐบาลตั้งคนใกล้ชิดมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศว่า มีคนอยู่แค่นี้และรู้จักกันทั้งนั้น เขาทำงานได้ก็แล้วกัน ส่วนจะเชื่อมโยงกับการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วยหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็อยากให้เสนอชื่อเข้ามาแล้วมาคัดเลือก การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่การตั้ง คณะกรรมการซ้ำซ้อน คณะกรรมการแต่ละชุดก็รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง ขอให้รอดู ผลงาน อย่าพูดกันไปเอง ยืนยันว่าทุกคนที่เป็น คณะกรรมการได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีเพราะต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ

ส่วนที่วิจารณ์ว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่แล้วมาเขย่านั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ว่ากันไป มีทั้งคนดี คนไม่ดี เราเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้ามาทำงาน โดยเสนอชื่อ ผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนำมา คัดเลือกอีก 2-3 รอบ แต่ไม่เสนอชื่อเข้ามาเอง ส่วนค่าตอบแทนของคณะกรรมการนั้น จะมีการประชุมสัปดาห์ละครั้ง ได้ค่าตอบแทนครั้งละ 6,000 บาท เดือนหนึ่งประมาณ 20,000 กว่าบาทต่อคนเท่านั้น ไม่ใช่เดือนละ 48,000 บาทตามที่พูดกัน

กก.ยุทธศาสตร์เข้าครม. 29 ส.ค.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีเวลาถึงปลายเดือนส.ค.ที่จะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ ขณะนี้พล.อ. ประยุทธ์มอบให้ตนเชิญหลายคน บางคนรับ บางคนไม่รับ ด้วยเหตุผลว่าขออยู่ช่วยข้างหลัง เพราะติดไปต่างประเทศบ่อยไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ตลอด ตรงนี้เป็นซูเปอร์บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน มีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 13 คนมาจากฝ่ายบริหารและนิติ บัญญัติ มีผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คนที่ต้องหาเข้ามา คณะกรรมการดังกล่าวจะประชุมเดือนละ 1 ครั้ง แต่ที่ประชุมทุกสัปดาห์คือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ อย่างน้อยที่มี 6 ด้านตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ ซึ่ง ซูเปอร์บอร์ดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 คณะในภายหลัง

ส่วนพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 สภาใหม่สามารถ แก้ไขได้เพราะพ.ร.บ.ดังกล่าวออกโดยสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาสามารถแก้ไขกฎหมายได้ แต่ต้องระวังหากประชาชนเรียกร้องการปฏิรูปแล้วไปทำอะไรฝืนความรู้สึก โดยไม่มีเหตุผล ก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ แต่ที่จะเป็นปัญหาคือรัฐบาลใหม่ สภาใหม่ยอมปฏิบัติตามแล้วมานั่งอึดอัด วันนี้เหมือนตัดเสื้อให้คนข้างหน้าใส่ ถ้าคนข้างหน้าที่เข้ามาแล้วอ้วนไป คับไปก็หาผ้ามาตัดเสื้อใหม่ จะใส่เสื้อเดิมแล้วบ่นว่าอึดอัด คับไป หลวมไป เหมือนประกาศคณะปฏิวัติผ่านไปจนถึงรัฐบาลเลือกตั้งหลายชุดทำไมไม่เลิกเสีย ไม่แก้

“มาร์ค”อัดไร้วิสัยทัศน์

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามงานทั้งของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไม่เคยรู้สึกว่า จะแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ หรือหลักการปฏิรูป ต่างคนต่างเสนอ ที่สำคัญทั้ง 2 สภานี้ไม่มีอำนาจปฏิรูป ทำได้แค่ส่งต่อไปยังรัฐบาลและ สนช.ซึ่งบางทีเขาก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ สปช.หรือสปท.

“การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปดูแล้วภาพวนไปวนมา และบุคคลที่เป็นกรรมการแม้จะมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่ลักษณะของนักปฏิรูป หลายคนค่อนข้างอนุรักษนิยมมากกว่าจะเป็นนักปฏิรูปด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ที่สุดก็ต้องวัดที่ผลงาน” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เหน็บสำลักคำว่า”ปฏิรูป”

เมื่อถามว่าในฐานะประชาชนคงได้ยินคำว่า ปฏิรูปจนจะอ้วกแล้วหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เอาแค่สำลักการปฏิรูปจะดีกว่า ต้องบอกว่าสังคมคงไม่สามารถวนเวียนอยู่กับการตั้งความหวังแล้วไม่เห็นความคืบหน้า มีความเป็นรูปธรรม ฉะนั้นเมื่อมาถึงจุดหนึ่งมัน ก็เหนื่อย ตนยังยอมรับเลยว่าที่ผ่านมาอย่าว่าแต่ปฏิรูปประเทศทั้งหมดเลย เอาแค่ว่าคำว่าปฏิรูปการศึกษาก็หลายรอบแล้ว จนหลังๆ บางทีลังเลว่าจะใช้คำนี้ดีหรือไม่

นายอนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวว่า จะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น หากการปฏิรูปยังไม่พูดถึง 2 สถาบัน ที่เป็นส่วนสำคัญต่อการทำให้เกิดวิกฤตการเมืองไทย อย่างกองทัพ ที่ออกมายึดอำนาจแทรกแซงทางการเมือง และศาล ที่เป็นหลักของกระบวนการยุติธรรม ต้องพิพากษาคดีสำคัญต่างๆ หากยังทำเหมือนกับว่า 2 สถาบันนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่กำลังหมักหมมอยู่ในสังคมขณะนี้ การปฏิรูปก็ไม่อาจก่อให้เกิดความหวังอะไรขึ้นได้

เพื่อไทยจวกย้อมแมวทาสีใหม่

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายกฯ ขีดเส้นแผนปฏิรูปจะต้องออกมาภายใน 8 เดือนว่า ประชาชนคงไม่คาดหวัง เพราะตั้งแต่ สปช. สปท. ก็ไม่เห็นมีการปฏิรูปเป็นชิ้นเป็นอันที่รัฐบาลและ คสช.นำไปปฏิบัติ ครั้งนี้มาถึงเฟส 3 คนที่ตั้งให้มาปฏิรูปก็มาจากกลุ่มที่มีความเชื่อ ทัศนคติแบบเดียวกับเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งต่อยอดมาจากเวทีชุมนุมนกหวีด เป็นเหล้าเก่าในขวดเก่า แต่มาตกแต่งเปลี่ยนชื่อ หลักการเดียวกับการปรับปรุงรถเมล์ที่ทำได้แค่เปลี่ยนหน้ากาก แต่ตัวถังเก่า เครื่องยนต์เก่า แล้วประชาชนจะฝากความหวังได้อย่างไร

“การปฏิรูปโดยยึดหลักนำของเก่ามาย้อมแมวทาสีใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องให้โอกาสหรือไม่ให้ โอกาส แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก ถ้าวิธีคิดแบบนี้ สำเร็จคงสำเร็จนานแล้ว คงไม่มาสำเร็จเอาในช่วง 8 เดือนหลังจากนี้ ประเทศไทยอุดมไปด้วยนักยุทธศาสตร์ นักคิด แต่ขาดนักปฏิบัติที่พร้อมลงมือทำให้สำเร็จ แผนปฏิรูปต่างๆ ที่จะออกมาคงไม่พ้นออกเป็นคำสั่งให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งเป็นผู้ปฏิบัติ ขอถามว่าประชาชนมีส่วนร่วมปฏิรูปแค่ไหน งานปฏิรูปที่คิด เอาเองแต่ฝ่ายเดียว ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่เปิดรับแนวคิดที่แตกต่าง โอกาสสำเร็จยากมาก” นายอนุสรณ์กล่าว

นปช.ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงนายกฯ เชิญชวนฝ่ายการเมืองเสนอชื่อเข้าร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งยังเหลือที่ว่างอีกมากว่า นปช.มีที่ยืนของตัวเองอยู่แล้ว เป็นจุดยืนประชาธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร จึงไม่พร้อมไปปฏิบัติหน้าที่ในกลไกอำนาจของคณะรัฐประหาร ดังนั้น แม้จะมีที่ว่างอยู่ไม่ถือว่าเป็นที่นั่งของนปช. และจากประสบการณ์ ทำให้เห็นว่าทางเดินนี้ไม่ใช่เส้นทางที่จะเดินไปสู่ประชาธิปไตย

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตัวกรรมการปฏิรูปโดยเฉพาะประธาน จะเห็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดประตูให้กับคณะรัฐประหารทั้งปี 2549 และ 2557 หลายคนเป็นรัฐมนตรี เป็นคนทำงานอย่างก้มหน้าก้มตาให้กับคณะรัฐประหาร เป็นสิ่งยืนยันว่าพวกเขาเหล่านี้มีรากเหง้าความคิดรัฐประหารนิยม อำนาจนิยม ทิศทางของพวกเขาคือสร้างรัฐข้าราชการที่มีทหารเป็นใหญ่ ทำให้ประเทศถอยหลังไปหลายสิบปี ซึ่งการเดินถอยหลัง การต่อต้านการเดินไปข้างหน้าก็คือปฏิการ ไม่ใช่ปฏิรูป จึงตั้งคำถามและ จะติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ปฏิรูปหรือปฏิการประเทศกันแน่

ยื่นป.ป.ช.รื้อคดีสลายม็อบปี”53

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายณัฐวุฒิ พร้อมด้วย นางธิดา โตจิราการ และนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ แกนนำนปช. ยื่นร้องขอความเป็นธรรมให้ทบทวนมติป.ป.ช. พร้อมนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อขอให้ ป.ป.ช.พิจารณาคำร้องใหม่ในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553

ทั้งนี้ ได้หยิบยกคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และพวก ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) เมื่อปี 2551 มาเป็นพยานหลักฐานใหม่ พร้อมนำรายละเอียดข่าวที่เป็นมติของป.ป.ช. เกี่ยวกับข้อกล่าวหากรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต นายกฯ กับพวกตกไป ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงาน ป.ป.ช. และนำเสนอวารสารเสนาธิปัตย์ ที่แสดง ความคิดเห็นเกี่ยวกับสลายการชุมนุมและหนังสือเรื่อง “ความจริงเพื่อความยุติธรรม” ซึ่งเป็นรายละเอียดเหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มายื่นด้วย

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า พวกตนมีคำถามมาตลอดว่าสั่งฟ้องการใช้แก๊สน้ำตา แต่ไม่สั่งฟ้องการใช้อาวุธสงครามได้อย่างไร เหตุการณ์ปี

สนช.ชงกม.ผู้ตรวจฯให้นายกฯ

เมื่อเวลา 10.15 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็น ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ประธานได้แจ้งว่า เนื่องจากสนช.มีมติเห็นชอบผ่าน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวาระ 3 ไปแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือสำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรากฏว่าทั้ง 2 หน่วยงานไม่ทำความเห็นโต้แย้งมายังสนช. รวมทั้งครบระยะเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว คือวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

ดังนั้น สนช.จะดำเนินการตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญ ส่งต่อร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังนายกฯ เพื่อเตรียมทูลเกล้าฯ ต่อไป

เห็นชอบวาระแรกกม.7ชั่วโคตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสนช. ที่มีนายสุรชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีมติ 150 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 คะแนน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. หรือกฎหมาย 7 ชั่วโคตร โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 29 คน มีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงหลักการเหตุผลของร่างกฎหมายว่า รัฐบาลคำนึงถึงสถานการณ์ที่เคยเป็นมา และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการบริหารงานของรัฐจะต้อง โปร่งใส มีธรรมาภิบาล มีความสุจริต ทุกคน ทุกตำแหน่ง ทุกหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจต่างๆ แม้จะมีกฎหมายกำหนดไว้แล้วหลายฉบับว่าสิ่งใดผิดหรือไม่ผิด แต่ยังมีช่องว่างว่าสิ่งใดถือเป็นความผิด หรือไม่ถือเป็นความผิด และยังมี ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวมอยู่ จึงจำเป็นจะต้องสร้างความชัดเจนว่าสิ่งใดผิด หรือไม่ผิด

“กิ๊ก-เพื่อนสนิท”โดนด้วย

ทั้งนี้ การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะถือเป็นกฎหมายป้องกัน การทุจริตคอร์รัปชั่นในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นปัญหามานาน แต่มีสนช.ภาคธุรกิจ อาทิ นายเจน นำชัยศิริ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ และนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ได้อภิปรายเสนอ ให้ปรับแก้คำจำกัดความของคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจนขึ้น เพราะร่างที่รัฐบาลเสนอกว้างขวางเกินไป และอาจมีปัญหาเรื่องการตีความ

สนช.ภาคธุรกิจ ยังระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้โครงการประชารัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยให้ภาครัฐและเอกชนช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของคำจำกัดความ อาจทำภาคเอกชนไม่มั่นใจและลังเลที่จะร่วมมือในโครงการประชารัฐก็เป็นได้ และอาจติดขัดจากการฟ้องร้อง จนโครงการของรัฐต่างๆ เกิด ความล่าช้าและมีผลต่อการพัฒนาประเทศได้ และยังมีข้อห้ามไม่ให้ข้าราชการที่เพิ่งเกษียณอายุไม่ถึง 2 ปีเป็นกรรมการ ที่ปรึกษาในภาคธุรกิจเอกชน ทั้งที่คณะทำงานประชารัฐด้านสังคมก็มีความเห็นว่าคนอายุ 60 ปี ยังมีความสามารถทำงานได้ และยังเป็นที่ต้องการของภาคเอกชนอยู่

นอกจากนี้ ยังมีสนช.บางส่วนข้องใจใน คำว่า “คู่สมรส” กินความไปถึงไหน เพราะในความเป็นจริงอาจจะมีความสัมพันธ์แบบนอกสมรส เป็นกิ๊กกัน หรือแบบชายรักชายด้วย ซึ่งนายวิษณุ ชี้แจงว่า เข้าข่ายด้วย เพราะร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอครอบคลุมไว้ทั้งหมด แล้ว แม้แต่เพื่อนสนิทก็รวมอยู่ด้วย

ถกเครียดกฎหมายกสม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช.ยังได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) โดย พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 67 มาตรา มีการแก้ไขคำปรารภ และแก้ไขทั้งหมด 18 มาตรา ซึ่งมีคณะกรรมาธิการขอสงวนคำแปรญัตติ 5 คน และสมาชิกสนช. 3 คน ทั้งนี้ ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของ กสม.นั้นสมาชิก สนช.และคณะกรรมาธิการมีแนวคิดเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ให้ กสม.พ้นตำแหน่งทั้งหมดหลังจากกฎหมายประกาศใช้ 2.ให้ กสม.ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ และ 3.ให้ กสม.ดำรงตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 3 ปี นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

จากนั้นนางจุรี วิจิตรวาทการ กรธ. ในฐานะ คณะกรรมาธิการ อภิปรายว่า กลุ่มของตนมีแนวคิดที่ 1 คือ เซ็ตซีโร่ กสม.เนื่องจากเห็นว่า กสม.ต้องทำงานในองค์กรร่วมกับเวทีสากล จึงต้องปฏิบัติตามหลักการสากล คือ กฎปารีส แต่ขณะนี้การสรรหา กสม.ยังมีปัญหาที่ไม่เป็น กฎกติกา ตนได้คุยกับเจ้าหน้าที่สากลของหน่วยงานสิทธิมนุษยชน เขามองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ที่ต้องการให้คน ที่มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลายเข้ามาดำรงตำแหน่ง เหตุผลที่ยกมาน่าจะสมเหตุ สมผล เนื่องจากกฎหมายนี้เราพิจารณาโดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ชูเหตุผลหนุนแนวคิด

นางภิรมย์ ศรีประเสริฐ คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ในฐานะรักษาการรองเลขาธิการ กสม. ที่มีแนวคิดตามหลักการที่ 2 กล่าวว่า ควรให้ กสม.ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระในปี 2564 เนื่องจากขณะนี้หลักการปารีสได้รับรองจากสถาบันทั่วโลก และ กสม.ได้ปฏิบัติตามกฎโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม คือ กระบวนการได้มาที่ยังขาดหลักประกัน เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่รองรับ ซึ่ง กสม.สามารถดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อทบทวนแนวทางการทำงานที่ยังไม่เป็นไปตามกฎกติกาปารีสภายในปี 2561 ดังนั้น ที่ตนให้ กสม.อยู่จนครบวาระเพราะมีความหลากหลายและได้รับการสรรหาโดยชอบ ตามคำสั่งคสช. และผ่านความเห็นชอบของ สนช.เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2558

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมาธิการ เสียงข้างมาก ซึ่งมีแนวคิดในกลุ่มที่ 3 กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ กสม.ชุดนี้อยู่ต่อ คือ ทำอย่างไร จะไม่กระทบสิทธิ เพราะเราตั้งคุณสมบัติสูงขึ้น และ กสม.มีสิทธิได้รับผลประโยชน์โดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยกฎหมายในขณะที่ แต่งตั้ง กสม.เข้ามา

ผ่านฉลุย-เซ็ตซีโร่ทั้งคณะ

ต่อมานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้ไปประชุมเพื่อตกลง ปรับแก้ และพิจารณาหารือในทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวว่าจะเห็นเป็นอย่างไร

กระทั่งเวลา 12.50 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง โดยพล.ร.อ.วัลลภกล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้หารือแล้วเห็นว่าให้กลับไปสู่ร่างเดิมในมาตรา 60 ตามที่ กรธ.ร่างมาโดยไม่มีการแก้ไข คือ ให้ กสม.พ้นตำแหน่งทั้งหมดหลังจากกฎหมายประกาศใช้ทันที โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วยในมาตรา 60 ด้วยคะแนน 117 ต่อ 20 งดออกเสียง 8 และขอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 61 เรื่องเวลาในการสรรหาคณะกรรมการเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ กสม. ชุดปัจจุบันจะรักษาการไปจนกว่าจะสรรหา กสม.ชุดใหม่ในระยะเวลา 320 วัน

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ด้วยคะแนน 199 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 ถือว่าที่ประชุมมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิก ที่มีอยู่ จากนี้ สนช.จะส่งร่างให้องค์กรอิสระตาม รัฐธรรมนูญคือ กสม.และ กรธ.เพื่อพิจารณาต่อไป

กสม.เล็งเดินหน้าสู้ถึงที่สุด

นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า หลังจากกสม.ได้รับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกสม.จาก สนช.แล้ว จะพิจารณาร่วมกันว่าจะทำความเห็นแย้งเสนอกลับไปยังสนช. เพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าหากมีขั้นตอนใดที่พร้อมจะสร้างความกระจ่างกับสังคมก็พร้อมเดินหน้าต่อสู้ทุกกระบวนการให้ถึงที่สุด จนกระทั่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับความเห็นแย้งความเห็นของกรธ. ที่ควรเซ็ตซีโร่กสม. ประกอบด้วย 1.การสรรหา โดยมิชอบ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเนื่องจากการคัดเลือกกรรมการชุดนี้มาจากวิชาชีพที่มีความหลากหลาย รวมทั้งภาคประชาสังคม 2.การทำงานที่ล่าช้า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง กสม.ชุดนี้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ลงพื้นที่ ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้น ข้ออ้างดังกล่าวน่าจะเป็นของกรรมการชุดเก่า และ 3.การไม่มีการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ ของกสม.นั้น เราเขียนเอาไว้ถึงความผิดทางแพ่งหรืออาญา เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของกสม.อยู่แล้ว แต่กรธ.กลับถอดออกแล้วบอกว่าใส่หลักเกณฑ์ไปไม่ทัน

“กสม.ชุดปัจจุบันมีผลงานเป็นที่ชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศและได้รับคำชมเชยว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ จนเลื่องลือไปยังสหภาพยุโรปและทั่วโลก การเซ็ตซีโร่อาจจะสร้างความคลางแคลงใจแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนในอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศได้” นายวัสกล่าว

คสช.ใช้กม.ปกติคุมม็อบเชียร์ปู

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อยในวันที่ 25 ส.ค.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลย และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวกรวม 28 คน เป็นจำเลยคดีฮั้วประมูลข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่า ตนได้เรียกหน่วยงานความมั่นคงประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ได้ข้อสรุปว่าจะใช้กฎหมายปกติดูแลความเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ส่วนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) และกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ให้การสนับสนุนเท่านั้น

ส่วนวันที่ 17 ส.ค. เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ พล.อ. เฉลิมชัย กล่าวว่า หน่วยข่าวความมั่นคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุใดๆ ส่วนกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่าคดีมีความล่าช้ามากไม่ทราบรายละเอียด ขอให้ เป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่คิดว่าเรื่องคดีความยังคงเดินหน้าตามขั้นตอน

ตร.เตือนปชช.ระวังละเมิดศาล

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานความมั่นคง ประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องมาตรการรักษาความ ปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกด้าน การจราจร โดยมีตัวแทนจากหน่วยข่าวกรองทหารบก กองทัพภาค 1 สภาความมั่นคง แห่งชาติ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ตำรวจสันติบาล และรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ถึง 9 ที่ดูแลงานความมั่นคง เข้าร่วมประชุม ใช้เวลา 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อประเมินว่าประชาชนที่จะมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีจำนวนเท่าไร เบื้องต้นประเมินไว้น่าจะมากกว่าวันที่แถลงปิดคดีจำนำ ข้าว ทั้งนี้ ศาลได้ให้แนวนโยบายจะกำหนดเขตอำนาจศาลไปจนถึงปากทางเข้าศาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาแผงเหล็กมากั้น เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าบริเวณที่ถูกกั้นไว้เป็นเขตพื้นที่อำนาจศาล การจะเข้าออกก็มีกฎหมายรองรับ ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการปฏิบัติ

ยกกำลัง 17 กองร้อยรปภ.เข้ม

พล.ต.ต.ภาณุรัตน์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ บุคคล มวลชน องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ศาล จึงฝากไปยังประชาชนที่จะมาให้กำลังใจ ว่าจะเข้มงวดในการตรวจค้น มีจุดตรวจค้น 3 จุด พื้นที่อาจจะแคบลง จึงไม่อยากให้ประชาชนมาฟังคำพิพากษาที่ศาลฎีกา ให้ฟังอยู่ที่บ้าน ดีกว่า ทราบว่ามีเจตนาดีที่จะมาให้กำลังใจ แต่ตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย จึงไม่อยาก ให้มีการกระทบกระทั่งกัน

สำหรับการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 17 กองร้อย หรือ 2,550 นาย จาก บก.น.2, บก.น.6, บก.อคฝ. นอกจากนี้ยังร้องขอกำลังจากตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 2 และภาค 7 ด้วย อย่างไรก็ตาม ขอประชาสัมพันธ์ถึงรถตู้ หรือรถที่ใช้ขนส่งมวลชนมาที่ศาลฎีกา การมาให้กำลังใจไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเกณฑ์กันมาและมีการยั่วยุ ยุยงต่างๆ จะถือว่ามีความผิด

แดงเชียงใหม่โวยมีการข่มขู่

นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ประธานที่ปรึกษากลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กล่าวถึงรัฐบาลใช้มาตรการสกัดกั้น พร้อมตรวจสอบการใช้งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สนับสนุนผู้ไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า รัฐบาลกำลังหลงทาง ควรปล่อยตามธรรมชาติ ถ้าบีบคั้นหรือกดดันมากเกินไป อาจถูกต่อต้าน ลุกฮือได้ แค่บอกผู้ที่จะไปให้กำลังใจว่าให้อยู่ในความสงบ ไม่พกอาวุธหรือก่อความรุนแรง ไม่ละเมิดอำนาจศาลหรือทำผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนพูดจาทำนองข่มขู่ ห้ามใช้รถตู้รับส่งหรือใช้กฎหมายจราจร ดำเนินคดีจับปรับผู้ที่ไปให้กำลังใจบริเวณศาล ซึ่งไม่สมควร อาจสร้างความไม่พอใจกับผู้สนับสนุนและเดินทางไปให้กำลังใจมากขึ้น

“อยากให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง คิดใหม่ ทำใหม่ อย่าอ้างกฎหมายหรือใช้อิทธิพล ข่มขู่ กดดัน เพราะการให้กำลังใจ ไม่ใช่ชุมนุมการเมือง หากต้องการสร้างสามัคคี ปรองดอง ไม่แบ่งฝ่าย ต้องเลิกการกระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความรุนแรงเท่านั้น ถ้ายังกีดกัน จะยิ่งถูกพลังเงียบต่อต้าน เดิมประเมินผู้มาให้กำลังใจเพียง 40,000-50,000 คน อาจเพิ่มเป็นแสนคนก็ได้ ถ้าไม่กีดกันหรือกดดัน จนทนไม่ไหว หรือมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ เชื่อว่าทุกอย่างผ่านไปได้แน่” นายเพชรวรรตกล่าว

“เต้น”ปูดจนท.ป้วนเปี้ยนที่ลำพูน

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. กล่าวว่า เราได้รับข้อมูลจากหลายช่องทางว่าประชาชนที่เคยมาให้กำลังใจ หรือกลุ่มที่ ไม่ได้แสดงออกทางการเมืองแต่เห็นวิบาก กรรมที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ พบเจอก็ต้องการมาให้กำลังใจ แต่มีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้าไปพูดคุยสอบถาม ไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้งแล้วว่าจะไปให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ ซึ่งสื่อความหมายว่าไม่อยากให้ไป และยิ่งใกล้วัน เจ้าหน้าที่ก็เข้มงวดขึ้น สร้างความรู้สึกกดดัน หวาดกลัวและไม่เข้าใจ ต่อการปฏิบัติหน้าที่

ตนได้รับทราบข้อมูลเป็นภาพถ่ายจากประชาชน ในเขตอ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในเขตชุมชนพร้อมอาวุธครบมือ แล้วกระจายกำลัง เหมือนพื้นที่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น ทั้งเดิน นั่งเล็งปืน และเข้าไปสอดส่องบ้านเรือน พวกตนไม่ทราบว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นหรือไม่ แต่หากดำเนินการเพื่อเป็นแรงเสียดทานให้กับประชาชน ถือว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ อยากให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงด้วย ซึ่งตนไม่ได้กล่าวหาว่าไปกดดันประชาชน แต่ในพื้นที่ จ.ลำพูนไม่ได้มีสถานการณ์ที่ร้ายแรง

ยันไม่ปลุกระดมใครมา

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตนเห็นการทำงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่ง ตื่นตัวสุดขีดในการตรวจสอบงบประมาณของรัฐที่จะเชิญชวนประชาชนมากทม.ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ซึ่งตนได้ชี้แจงตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีอปท.ไหนจะทำเช่นนั้นได้ เพราะมีกฎหมายมีระเบียบการใช้งบประมาณ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ก็ยืนยันเช่นกันว่าไม่มี จึงอยากให้สตง.ได้ตรวจสอบและแถลงว่า หน่วยงานรัฐทั้งหลายได้ใช้งบในการเคลื่อนไหวที่จะไม่ให้ประชาชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปแล้วเท่าใด และใช้งบที่ชอบด้วยกรอบของกฎหมายหรือไม่

“ส่วนตัวผมวันที่ 25 ส.ค.นี้ ในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไปให้กำลังใจ ยืนยันว่าไม่มีทั้งบนดินและใต้ดิน ที่จะไปเชิญชวนหรือปลุกระดมใครเข้ามา มันเป็นเรื่องที่เปิดเผยตรงไปตรงมา และเป็นเรื่องของสุภาพบุรุษ สิ่งที่ผมเห็นเมื่อใกล้วันพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงเยือกเย็น หนักแน่นและสง่างาม จึงอยากเห็นทุกคนทุกฝ่ายได้แสดงความเป็นสุภาพบุรุษในการปฏิบัติต่อตัวจำเลย หรือประชาชนทุกข้างทุกฝ่าย ถ้าใครจะมาให้กำลังใจคงไม่คิดสร้างความรุนแรง ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าน่าจะมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ให้กำลังใจ มาร่วมแสดงพลังในพื้นที่ของศาลด้วย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ช่วยมาดูแลด้วย” นายณัฐวุฒิ กล่าว

แม่ทัพ 3 โต้ข่าวข่าวบิดเบือน

พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะ ผบ.กกล.รส. กองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ทหาร ตำรวจ และฝ่ายพลเรือนในพื้นที่ภาคเหนือจะเน้นทำความเข้าใจกับประชาชนและแกนนำในพื้นที่ว่าในวันดังกล่าวทุกคนสามารถให้กำลังใจได้ในท้องที่ หรือในบ้านตนเอง ซึ่งเราไม่ได้ห้าม เพราะการรักชอบพอกัน ให้กำลังใจกัน เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่อยากให้คิดว่าหากเข้ามาในกรุงเทพฯ จะลำบาก มีปัญหาการจราจรติดขัด และพื้นที่บริเวณศาลค่อนข้างจำกัด

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเผยแพร่ว่าทหาร ทำหนังสือข้อตกลงกับแกนนำในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ไม่ให้ขนมวลชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.ท.วิจักขฐ์กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเราใช้การพูดคุยทำความเข้าใจกันมากกว่า ในลักษณะพรรคพวกเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักกัน เพราะคนเมืองเขาพูดคุยกันด้วยวาจาก็เข้าใจกันแล้ว การทำหนังสือ ข้อตกลงตามที่เป็นข่าวนั้นตรวจสอบแล้วไม่น่าจะเป็นความจริง เป็นข่าวลือมากกว่า

ยันทหารถือปืนแค่ฝึกลงใต้

พล.ท.วิจักขฐ์กล่าวว่า ตนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าใครเป็นผู้เผยแพร่และบิดเบือนข้อเท็จจริง รวมถึงกรณีโลกสังคม ออนไลน์ แชร์ภาพทหารยืนถือปืนตามแยก ถนนในหมู่บ้าน วัดต่างๆ พื้นที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ไปควบคุมประชาชนในพื้นที่ด้วย ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการลงพื้นที่ ไปฝึกเพราะเป็นพื้นที่ฝึกของเขา เพื่อผลัดเปลี่ยนกำลังประจำปีงบประมาณหน้า ไปปฏิบัติ หน้าที่ในภาคใต้ ดังนั้น เรื่องนี้คนส่วนใหญ่เขาเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเอกสารเผยแพร่ของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ ต.วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถึงนายกเทศมนตรีตำบลม่วงน้อย เพื่อขอใช้พื้นที่ทำการฝึกเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานการรักษาความปลอดภัยภายใน ระหว่างวันที่ 13 ส.ค.และจะเดินทางกลับวงันที่ 25 ส.ค. โดยใช้พื้นที่เทศบาลตำบลม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นสถานที่ฝึกกำลังพลเพื่อเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ไก่อู”โต้กดสื่อทำข่าวครม.สัญจร

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการทำหนังสือเชิญสื่อโทรทัศน์ประชุมที่กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เพื่อทำความเข้าใจในการลงพื้นที่ทำข่าวการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 21-22 ส.ค.นี้ที่ จ.นครราชสีมา ไม่ใช่การจัดระเบียบสื่อ แต่เชิญมาหารือเพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการทำรายงานสกู๊ปข่าวเกี่ยวกับรัฐมนตรีที่จะลงพื้นที่ด้วย เพราะที่ผ่านมาในการประชุม ครม.นอกพื้นที่จะมีแต่ข่าวของนายกฯ เท่านั้น ทั้งที่มีรัฐมนตรีคนอื่นๆ ร่วมลงพื้นที่ด้วย ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องต่างๆ ของรัฐมนตรีได้ถึงประชาชนมากที่สุดและรอบด้าน จึงขอความร่วมมือ ถามว่าใครช่องไหนสนใจรัฐมนตรีคนไหน ให้เลือกได้ตามที่สื่อช่องนั้นต้องการ

“ผมไม่ได้บังคับ ผมให้เลือกตามใจชอบเลย แต่ต้องไม่ซ้ำกันในแต่ละช่อง บางช่องบอกให้ผมเลือกให้ด้วยซ้ำ แต่ผมไม่ได้เลือกให้ เพราะรู้ว่าความสนใจของแต่ละช่องไม่เหมือนกัน เท่าที่เห็นแต่ละช่องก็เลือกกันหมดแล้ว ผมขอเพียงว่าให้ส่งสิ่งที่ทำให้กับเราด้วย เพื่อจะได้ออกอากาศทางช่องเอ็นบีที ที่สำคัญรายงานที่จะออกทางช่องเอ็นบีทีนั้นไม่ได้บังคับ จะทำเรื่องไหนอย่างไรเป็นไอเดียของแต่ละช่อง ให้ใช้ไมค์ของสถานีช่องนั้นได้เลย ที่ต้องขอความร่วมมืออย่างนี้ไม่ใช่เพราะเราไม่มีทีมข่าวที่เพียงพอ ยืนยันว่ามีเพียงพอและเตรียมไว้แล้วเช่นกัน แต่ต้องการให้เกิดความหลากหลายในการนำเสนอ ไม่เฉพาะมุมสื่อของรัฐเพียงอย่างเดียว เราเป็นเพียงตัวกลางช่วยเผยแพร่ให้ความหลากหลายแก่ประชาชน ไม่ใช่จัดระเบียบสื่ออย่างที่วิจารณ์กัน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน