ศิริกัญญา ชี้คลัง เสี่ยงถังแตก ระเบิดเวลารอปะทุ จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า

วันที่ 8 ก.ย. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงปัญหาเศรษฐกิจ ความว่า คลังเสี่ยงถังแตกอีกรอบในปีงบ 64 วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิดกำลังส่งผลต่อสถานการณ์คลังของประเทศ จากเอกสารมติคณะรัฐมนตรี เปิดเผยเอกสารจากกระทรวงการคลังว่า ปีนี้จะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าเกือบ 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 1.4 แสนล้านบาท

ถ้าไม่ขยายวงเงินกู้ใดๆ จะกระทบต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ที่จะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องขยายวงเงินกู้ออกไปจนเต็มเพดานที่จะกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณได้ เป็นวงเงิน 214,093 ล้านบาท

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

น่าตั้งข้อสังเกตว่า ถึงจะกู้เต็มพิกัด ใช้เงินคงคลังจนหมดเกลี้ยงก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไป ก็คงต้องไปลุ้นให้หน่วยราชการเบิกจ่ายไม่ทัน และรอกู้เงินจากวงเงินของปีงบประมาณถัดไป หรือไม่ก็ใช้วงเงินบริหารสภาพคล่องเงินคงคลังที่ให้ไว้ 3% ของงบประมาณรายจ่ายตามกฎหมาย ราว 90,000 ล้านบาท มาแก้ขัด

ถึงมีวงเงินก็ใช่ว่าจะกู้ได้ตามใจ หลังจากที่มีการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังต้องหันมากู้จากสถาบันการเงินบ้าง กู้จากประชาชนผ่านพันธบัตรออมทรัพย์บ้าง กู้เป็นเงินตราต่างประเทศผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีบ้าง

ทั้งๆ ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนตลาดก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ไปแย่งชิงสภาพคล่องจากตลาดการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ทั้งรัฐและเอกชนสูงขึ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับทางรัฐบาลก็ต้องบอกว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยที่พอเข้าใจได้ว่าประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่ถดถอยจากผลการแพร่ระบาดย่อมทำให้รัฐเก็บภาษี และรายได้รัฐวิสาหกิจได้น้อยลง

แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะรับได้ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปีงบ 64!

ประมาณการรายได้ที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณนั้นทำขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 เป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจปี 63 จะติดลบเพียง -5.5% และเศรษฐกิจปี 64 จะโต 5% เรียกได้ว่าสภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจจะทำรีบาวนด์กลับมาได้ภายใน 1 ปี จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดเก็บรายได้ได้ 2.67 ล้านล้านบาท และตั้งงบประมาณขาดดุล โดยกู้เพื่อชดเชย 623,000 ล้านบาท และไม่มีปรับเป้ารายได้ลงอีกเลยตั้งแต่เดือนมีนาคม

แต่จากตัวเลขการคาดการณ์ล่าสุดของสภาพัฒน์ เศรษฐกิจปี 63 จะติดลบถึง -7.5% ส่วนปี 64 ยังคาดการณ์ไว้ที่เติบโต 5% เท่าเดิม นั่นคือขนาดเศรษฐกิจจะยังกลับมาเท่ากับปี 62 ในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงมีแนวโน้มสูงว่าการจัดเก็บรายได้ปี 64 จะต่ำกว่าเป้า และประมาณการเงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลก็จะสูงกว่า 623,000 ล้านบาท

ในขณะที่เพดานการก่อหนี้เพื่อชดเชยขาดดุล อยู่ที่ 739,000 ล้านบาท เท่ากับว่าหากจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 4% ก็จะกู้ทะลุเพดานทันที เราก็จะวนกลับไปเจอปัญหาเหมือนปี 63 อีกครั้งที่เก็บภาษีหลุดเป้า กู้ชนเพดานก็ไม่รู้ว่าจะเพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่

ปี 63 เกิดโควิดกลางปีงบประมาณยังพอให้อภัยได้ แต่ปี 64 รัฐบาลมีโอกาสที่จะแก้ไขปรับเป้าหมายรายได้หลายครั้งแต่ก็ไม่ทำ ปล่อยให้เป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุในปีงบประมาณหน้า

ในเมื่อรัฐบาลไม่ยอมปรับเป้ารายได้ ก็มีอีกทางคือการปรับลดรายจ่าย คณะกรรมาธิการงบปี 64 จึงมีมติปรับลดวงเงินงบประมาณลงจากเดิม 3.3 ล้านล้านบาท เป็น 3.28 ล้านล้านบาทเศษ กล่าวคืองบประมาณที่ปรับลดได้ในปีนี้เกือบ 32,000 ล้านบาท เมื่อแปรเพิ่มให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เป็นเงินชดเชยภาษีที่ดินที่หายไปกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่งบรรจุแต่ไม่ได้ตั้งงบไว้ เป็นงบก่อสร้างสถานที่นั่งพักสำหรับประชาชนให้กับศาลยุติธรรม งบที่เหลือก็ถือว่าพับไป

นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่กรรมาธิการงบประมาณปรับลดวงเงินรวมของงบประมาณรายจ่าย แม้จะไม่มากแต่ก็ถือว่าได้ช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง

แน่นอนว่าเราเข้าใจดีถึงความจำเป็นของบทบาทการใช้จ่ายภาครัฐในยามวิกฤต แต่ในเมื่อรัฐบาลวางแผนงบประมาณไว้ไม่ดีพอ ไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บรายได้ที่อาจพลาดเป้า ประกอบกับโครงการต่างๆ ที่มาขอแปรเพิ่มก็ยังเป็นโครงการที่ไม่ได้ตอบโจทย์วิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากพิษโควิด จึงเป็นที่มาของการปรับลดวงเงินงบประมาณภาพรวมในครั้งนี้ค่ะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน