คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การสร้างสมดุลเป็นศาสตร์สำคัญหนึ่งที่แสดงถึงฝีมือการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้รัฐบาลสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ ได้คล่องตัวขึ้น

แต่หากรัฐบาลทำไม่ได้จะเกิดปัญหาและอุปสรรคที่กลายเป็นความขัดแย้งกัน อย่างกรณีปัจจุบันที่เกิดภาวะไม่สมดุลระหว่างการจัดการโรคระบาดโควิดกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

การรณรงค์ป้องกันโรคที่เน้นให้เกิดความกลัวมากกว่าความไม่ประมาท ทำให้คนในสังคม ไม่ยอมรับการขยับเขยื้อนใดๆ ที่เสี่ยงจะกระทบต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์

ยิ่งเป็นความคิดที่ฝังใจขณะนี้ยิ่งเป็นเรื่องเปลี่ยนได้ยากแล้ว

 

ปัญหาที่ภาคเอกชนและสมาชิกพรรค การเมืองหลายคนแสดงความเห็นคล้ายกันก็คือภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจรังแต่จะ ส่งผลกระทบที่กินลึก ยาวนาน และขยายวง ออกไปเรื่อยๆ

ความไม่สมดุลนี้ไม่เพียงแสดงออกทางตัวเลขที่ติดลบ ยังมีผลต่อความเป็นอยู่หรือแม้แต่การจบชีวิตของกลุ่มคนที่เปราะบางด้วย

การที่ประเทศไทยรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตไว้ได้ในระดับต่ำมาก อาจทำให้รัฐบาลภูมิใจกับคำชมว่าป้องกันโควิดได้ดีมาก ในระดับโลก

แต่หากพิจารณาจำนวนคนที่เสียชีวิต 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่าสถิติฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีก่อน คล้ายคลึงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีก่อน

แสดงให้เห็นว่าคนที่ตายเพราะผล กระทบโควิดมีมากยิ่งกว่าคนที่เสียชีวิตเพราะโควิด

 

หากคาดการณ์ในระยะยาว ความไม่สมดุลในการจัดการปัญหาดังกล่าวอาจแสดงผลที่มากขึ้นและร้ายแรงขึ้น

หากรัฐบาลไม่ศึกษาหนทางที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับรู้รับทราบสถานการณ์อย่างรอบด้าน กลุ่มคนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจมากที่สุดจะต้องตกทุกข์ได้ยากหนักกว่าเดิม

หากรัฐบาลยังมัวปลาบปลื้มว่าประเทศไทยรับมือกับโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และได้แต่โยนความเสียหายทางเศรษฐกิจว่าเป็นเพราะโรคระบาดโควิด โดยไม่คิดสร้างสมดุลในเรื่องนี้

ภาวะเสียสมดุลจะส่งผลกระทบที่หนักกว่าเดิม และหนักขึ้นไปเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน