ยืนยกฟ้อง “มาร์ค-เทือก” คดีสลายเสื้อแดง 99 ศพ ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับสำนวนคดีไว้พิจารณาตามที่ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ระบุไม่ใช่การกระทำความผิดทางอาญาโดยส่วนตัว หากเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ชี้เป็นอำนาจของป.ป.ช.ที่ต้องชี้มูลแล้วยื่นฟ้องในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้านทนายโจทก์ร่วมลั่นสู้ต่อจนกว่าจะได้ตัวคนผิด เล็งดำเนินคดีผู้ที่ทำให้ตาย ผู้สั่งการ ผู้ปฏิบัติและผู้ควบคุมตามที่ศาลไต่สวนการตายในแต่ละศพ และอาจยื่นป.ป.ช.ไต่สวนเรื่องการฆ่าด้วย ด้านประธานป.ป.ช.เผยคณะทำงานกำลังพิจารณาคำร้อง นปช.ขอรื้อคดี แต่ไม่รู้จะใช้เวลาเท่าใด ยันยึดกฎหมาย ด้านณัฐวุฒิลั่นพูดแทนคนตาย ทวงยุติธรรมแทนผู้เสียชีวิต เตรียมล่า 1 ล้านชื่อยื่นประธานรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แม่เกด-พ่อเฌอพร้อมญาติเหยื่อเหตุการณ์ร่วมกันจัดไว้อาลัยที่ราชประสงค์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 ส.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เดินทางมารับฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ อายุ 53 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ อายุ 67 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.-19 พ.ค.2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากรหรือน้องอีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เดินทางมาศาล พร้อมด้วยทีมทนาย ความและผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง

นายสุเทพกล่าวก่อนเข้าฟังคำสั่งศาลว่า คดีนี้ตนกับนายอภิสิทธิ์ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งเป็นข้อหาที่ค่อนข้างจะแปลก เนื่องมาจากกรณีที่เกิดเหตุจลาจลก่อการร้ายเมื่อปี 2553 ตนและนายอภิสิทธิ์มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จเรียบร้อย แต่เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ มิชอบ จึงมีการฟ้องมาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ไม่รับฟ้อง อัยการจึงยื่นฎีกาต่อ ก็อยู่ที่ศาลฎีกาว่าจะวินิจฉัยอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีสลายการชุมนุมนี้มีการฟ้องเป็นคดีอื่นและข้อหาอื่นด้วยหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า คดีสลายการชุมนุมปี 2552-2553 ขณะนี้ยังมีอยู่แค่นี้ แต่เหตุการณ์ในปี 2556-2557 มีมาก อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฟ้องตนและประชาชนอีก 38 คน กล่าวหาว่าขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเสียหาย โดยเรียกค่าเสียหาย 3,100 ล้านบาทเศษ ซึ่งตนจะต้องไปยื่นแก้คดีภายใน 30 วัน

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่ม นปช.เรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาฟ้องใหม่ โดยใช้ตัวอย่างคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นบรรทัดฐาน นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่แปลกใจอะไร กลุ่มนี้เขาตั้งหน้าตั้งตาจะเล่นงานพวกตนอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลฎีกาชี้ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2557 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มี ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนวยการ ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ

ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ และให้ยกคำร้องที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่บาดเจ็บ กับนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพัน ที่เสียชีวิตขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ต่อมาอัยการโจทก์, นายสมร กับนางหนู ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความยื่นอุทธรณ์

ต่อมา วันที่ 17 ก.พ. 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัวตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ส่วนนายสมร และนางหนูชิต ที่ร้องขอเป็นโจทก์ร่วมนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นก็ชอบแล้ว

ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีบุคคลถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ได้ให้ ศอฉ. ดำเนินการควบคุมให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่าน และให้ใช้อาวุธปืนเท่าที่จำเป็น จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. มีการให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงและพลแม่นปืน การออกคำสั่งขอให้สลายการชุมนุมเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตและได้รับอันตราย ซึ่งแสดงว่าตามคำฟ้องโจทก์ได้อ้างการออกคำสั่งดังกล่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการกล่าวหาผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 250 (2), 275 ที่ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปผล พร้อมทั้งความเห็นการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2), 66 วรรคหนึ่ง, 70 เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง,พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1), 10, 11, 24 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 เมื่อจะต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่วินิจฉัยแล้ว การที่ดีเอสไอได้สอบสวนแล้วสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลอาญานั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการและช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขณะที่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และมีคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 142 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามทั้งสองศาลที่ให้ยกฟ้อง เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลแล้ว คดีจึงถึงที่สุด

หลังฟังคำพิพากษา นายอภิสิทธิ์ได้ตอบคำถามสื่อเพียงสั้นๆ ว่า คดีในศาลนี้ถือว่าจบแล้ว ส่วนที่กรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เมื่อเร็วๆ นี้ ให้นำเรื่องการสลายผู้ชุมนุม นปช.ขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าว เพียงว่า เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ส่วนตนยัง ไม่ได้รับแจ้งอะไรจาก ป.ป.ช.

ขณะที่นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำสั่งศาลฎีกาว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ได้วินิจฉัยไปแล้ว ส่วนศาลก็ได้วินิจฉัยตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้า ป.ป.ช.จะพิจารณาคดีนี้อีกครั้งตามขั้นตอนที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้จะดำเนินการอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า ตนก็พร้อมจะต่อสู้คดี ได้เตรียมหลักฐานไว้ตั้งแต่ตอนบวชเป็นพระแล้ว โดยเขียนเนื้อหารวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ในหนังสือที่ได้ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. ขณะนั้นตนก็โดน ป.ป.ช. สอบสวนนานมาก และทำเป็นหนังสือไว้จำหน่ายในชื่อ “คำให้การพระสุเทพ ปภากโร” เพื่อเอาทุนมาตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และเมื่อ ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วเห็นว่าตนทำตามหน้าที่ก็จบ

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความมั่นใจหรือไม่ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก ในการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน นายสุเทพกล่าวว่า เหตุการณ์แตกต่างกัน คือ 1.ตอนที่ตนมีคำสั่งต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเรียกว่าอยู่ในกรอบของกฎหมาย 2.การสั่งการในแต่ละขั้นตอนได้มีคณะกรรมการร่วมพิจารณาว่ามีความจำเป็นเพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติบ้านเมืองมีความสงบ และได้หลีกเลี่ยงวิธีที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน อย่างการใช้แก๊สน้ำตาตนมีคำสั่งไม่ให้ใช้ประเภทยิง ให้ใช้แบบขว้าง เพราะถ้าใช้แบบยิงจะถูกประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ แต่กรณีที่ต้องสั่งให้มีการใช้อาวุธจริงนั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนเสียชีวิตแล้วบนถนนราชดำเนิน จำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธจริงได้ เพื่อระงับยับยั้งฝ่ายที่จะทำร้ายประเทศชาติ ทำร้ายประชาชน และทำร้ายเจ้าหน้าที่

ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายโจทก์ร่วม กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเห็นว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นนักการเมืองซึ่งต้องฟ้องศาลฎีกาฯนักการเมืองและศาลอาญาไม่มีอำนาจรับฟ้อง คดีที่ตนเคยฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี”53 ซึ่งเป็นลักษณะการกระทำความผิดแบบเดียวกันที่ศาลอนุญาตโอนคดีมายังศาลอาญาและศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ซึ่งตนก็คงไม่ขอดำเนินการต่อ เพราะศาลก็คงจะมีคำสั่งในลักษณะเดียวกัน

นายโชคชัยกล่าวว่าการดำเนินการต่อไปนั้น ตนยังเห็นว่าผู้ที่กระทำผิดทำให้เกิดการตาย ทั้งผู้สั่งการ ผู้ปฏิบัติ และผู้ควบคุมการปฏิบัติ ซึ่ง ป.ป.ช.เคยไม่ชี้มูล นายสุเทพกับอภิสิทธิ์ ไว้เช่นกัน แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าถ้าผู้ใดไปกระทำการเกินเลยหรือกระทำผิดก็เป็นเรื่องของบุคคล ฉะนั้นแนวทางแรกเราจะไปดำเนินการกับผู้กระทำผิดเหล่านั้นต่อไป ซึ่งการสลายการชุมนุมปี 2553 มีการตายเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และหลายพื้นที่จะต้องไปดูรายละเอียด ดีเอสไอจะต้องไปดูรายละเอียดแต่ละเหตุการณ์ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละศพ ซึ่งเป็นต่างกรรม ต่างวาระ โดยตนจะติดตามดีเอสไอว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งยังมองไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องและอยู่ใน ศอฉ. ที่ดีเอสไอจะต้องสอบสวนต่อไป

“ที่ผ่านมาในชั้น ป.ป.ช.เราก็มีการร้องว่าจะให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ แต่ก็จะต้องดูว่าเป็นไปได้แค่ไหนเพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.จะไต่สวนเฉพาะเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยังไม่ได้ไต่สวนเรื่องของข้อหาคดีในเรื่องของการฆ่าเลย เรื่องนี้ตนจะต้องดูรายละเอียดอีกทีและอาจจะยื่นให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าประกอบไปด้วย เพราะศาลฎีกาเองก็เขียนไว้ชัดว่าความผิดที่เกี่ยวข้องเป็นความผิดที่ ป.ป.ช.จะต้องไต่สวน ซึ่งเราจะอ้างคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ป.ป.ช.จะจำเป็นต้องไต่สวน เรายังไม่หยุดเราจะต้องไต่สวนให้ได้ตัวผู้กระทำความผิด” นายโชคชัยระบุ

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ตนเคารพคำวินิจฉัยของศาล แต่ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ทวงถามความยุติธรรมให้ประชาชนมือเปล่าที่ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามนอนตายกลางเมืองหลวงนับ 100 ศพต่อไปจนถึงที่สุด ทั้งนี้ เมื่อศาลชี้ว่าคดีอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ก็ต้องถามว่าหลังจากมีมติอุทธรณ์จำเลยบางคนในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว กรณีแกนนำ นปช.ร้องขอให้หยิบยกคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มาพิจารณาใหม่จะดำเนินการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช.ยกคำร้องพวกตนก็ไม่ได้เห็นด้วย ยิ่งเปรียบเทียบมาตรฐานการปฏิบัติต่อกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ยิ่งไปกันใหญ่ รัฐบาลนายสมชายใช้แก๊สน้ำตา อัยการยืนยันไม่สั่งฟ้องป.ป.ช.จ้างทนาย ฟ้องเอง แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ใช้เอ็ม 16 ติดลำกล้อง ป.ป.ช. ไม่แม้กระทั่งส่งเรื่องไปถึงอัยการเรื่องแบบนี้สังคมยอมรับว่าเป็นความยุติธรรมหรือไม่

“คนตายพูดไม่ได้ คนเป็นจึงต้องพูดแทนคนตาย หมาแมวถูกฆ่ายังมีคนเรียกร้องความเป็นธรรมให้ แต่ชีวิตคนเป็นร้อย ผมต้องขอความเห็นใจและจะปล่อยให้เป็นวิญญาณคับแค้นตลอดไปไม่ได้ เรื่องนี้เลยคำว่าการเมืองไปแล้ว หาก ป.ป.ช.ไม่ให้ความเป็นธรรม ก็ต้องฟ้องร้องดำเนินคดี และรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งกฎหมายบอกว่าต้อง 20,000 รายชื่อ แต่เสียงคนเสื้อแดงอาจไม่ดังพอ จึงตั้งใจว่าจะขอความกรุณาคนไทยผู้ต้องการเห็นความยุติธรรมสัก 1,000,000 คน เข้าชื่อร่วมกันขอให้ฝ่ายความมั่นคงสบายใจ เพราะการรวบรวมรายชื่อจะเกิดในเวลาที่มีสภา จากการเลือกตั้ง เราหวังว่าวันหนึ่งความยุติธรรมคงมาถึงและจะยังคงมีความหวังต่อไป แม้รู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ปัจจุบัน” นายณัฐวุฒิกล่าว

ส่วน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.กล่าวว่า เคารพในคำวินิจฉัยของศาล แต่ตนและประชาชนไทยทั่วไปจะเดินหน้าในการติดตามสอบถามความคืบหน้าจากป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ว่าจะพิจารณาทบทวนความเห็นเดิม เพื่อสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะเรื่องนี้ทาง นปช.ได้ยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อหลายวันก่อน หากป.ป.ช.ชุดปัจจุบันยังยืนยันความเห็นของป.ป.ช.ชุดเดิมที่ให้ยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ และสุเทพ ก็ต้องอธิบายต่อสาธารณชนเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ทบทวน เพื่อยื่นเรื่องสั่งฟ้อง

นพ.เหวงกล่าวต่อว่า กรณีของนาย เกรียงไกร คำน้อย ที่เสียชีวิตจากกระสุนของทหาร ที่มาทำหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ.บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเวลา 15.00 น. โดยเวลานั้นยังไม่ปรากฏกองกำลังชายชุดดำ และคนเสื้อแดงไม่มีอาวุธปืน ไม่ได้ยิงตอบโต้กับทหารฝ่ายรัฐบาล และกรณีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ภายในวัดปทุมวนาราม ที่ศาลมีคำสั่งการตายว่าตายจากการยิงของทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยไม่มีกองกำลังชายชุดดำ ไม่มีการยิงต่อสู้กับทหาร ทุกศพไม่มีเขม่าดินปืน และพบอาวุธสงครามที่ยึดได้ในวัดปทุมวนารามเป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ ทั้งนี้ จะหารือกับครอบครัวผู้เสียชีวิตแต่ละกรณีและปรึกษาหารือกับทางทนายความว่ามีช่องทางที่สามารถจะดำเนินเรื่องยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อนำเอาทหารหรือหน่วยทหารที่ลั่นกระสุนสังหารประชาชนมาลงโทษตามกฎหมายได้หรือไม่

ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีกลุ่ม นปช.ขอให้ป.ป.ช.รื้อคดีสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ใหม่ว่า เจ้าหน้าที่กำลังวิเคราะห์และตรวจสอบว่าการร้องขอของนปช.เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากมีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ กรรมการป.ป.ช. สามารถนำมาพิจารณาใหม่ได้ ทั้งนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด โดยจะทำตามขั้นตอน หากป.ป.ช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะมีความผิดสองเท่า ดังนั้น เราไม่กล้าที่จะทำอะไรผิดกฎหมายแน่นอน

นางอุบลวดี จันทร พี่สาวนายเสน่ห์ นิลเหลือง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 กล่าวว่าตอนนี้ยังไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ต้องปรึกษากับทางผู้ใหญ่ว่าควรทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากกฎหมายในขณะนี้ยังไม่ปกติ ทำได้เพียงรอเวลาเท่านั้น เบื้องต้นยังไม่ได้พูดคุยกับทางกลุ่มญาติวีรชนถึงกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ คงต้องนัดปรึกษาหารือรวมถึงพูดคุยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางขอบเขตว่าควรหรือไม่ควรทำอะไรในช่วงเวลานี้ เพราะยังคงเป็นที่จับจ้องของเจ้าหน้าที่อยู่

บอกผู้ตาย- นางพะเยาว์ อัคฮาด สวมเสื้อพยาบาลอาสาตัวที่ลูกสาวใส่วันถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมฯ ร่วมกับญาติ ผู้ตายในเหตุการณ์ 99 ศพ จุดธูปบอกดวงวิญญาณ บริเวณแยกราชประสงค์ หลังศาลฎีกามีคำสั่งยืน ยกฟ้องคดี เมื่อ 31 ส.ค.

เมื่อเวลา 19.00 น.วันเดียวกัน นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด ผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 พร้อมนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้องเฌอ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ เหยื่อถูกยิงที่ราชปรารภ ได้เดินทางมาที่แยกราชประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมเพื่อบอกกล่าวลูกสาวและลูกชาย โดยนำลาบเลือด ข้าวเหนียว มาวางบนเสื่อ และนางพะเยาว์ได้นำเสื้อที่น้องเกดสวมในวันที่เสียชีวิตมาสวดด้วย จากนั้นผู้มารวมกิจกรรมได้นำธูปมาไหว้ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต โดยใช้เวลาในการจัดกิจกรรมประมาณ 30 นาที จากนั้นจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ

นางพะเยาว์กล่าวว่า เมื่อศาลชี้มูลมาแบบนั้นเราก็ต้องเคารพ วันนี้ที่เรามาทำกิจกรรมก็เพื่อบอกกับดวงวิญญาณทุกดวงได้รับรู้พวกเราจะไม่ตายฟรี ส่วนตัวเชื่อว่ายังมีทางสู้ ฆาตกรยังไม่พ้นผิด ศาลฎีกาบอกว่าต้องเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ไม่ใช่ดีเอสไอ จึงต้องกลับที่ ป.ป.ช. ศาลถึงได้บอกอยู่นอกเหนืออำนาจ แต่ไม่ได้บอกว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นพ้นผิด ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เข้าสู่กระบวนการเพื่อความถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน