“ไอลอว์” บุกสภา ยื่นรายชื่อประชาชน กว่าแสนชื่อ ต่อประธานรัฐสภา ให้แก้ไข รธน.ฉบับประชาชน ลั่นต้องได้พิจารณา พร้อมร่างของพรรคการเมือง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (ilaw) เดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน มายังรัฐสภา เพื่อนำรายชื่อประชาชนกว่า 1 แสนรายชื่อ

ส่งให้รัฐสภาเพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชน ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยประกาศเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ที่รัฐสภาต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น ดังนี้

1.ที่มาของนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น

2.ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

3.เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่

4.เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

5.ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้

แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนมาคำนวณที่นั่งส.ส.ร. คล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ต่อมาเวลา 14.00 น. กลุ่มไอลอว์เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภา โดยมีรถเครื่องขยายเสียง รถซาเล้ง และประชาชนประมาณ 500 คน มาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้รัฐบาลต้องลาออก

ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาได้ปิดประตูทางเข้า-ออกรัฐสภาถนนสามเสน ขณะที่ตำรวจสน.บางโพ นำแผงเหล็กมากั้นพื้นที่หน้ารัฐสภาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

เวลา 14.30 น. มีการปราศรัยบนเวทีชั่วคราวด้านหน้ารัฐสภา ผู้ร่วมปราศรัยประกอบด้วย นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อสวัสดิการ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ และนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี คณะประชาชนปลดแอก

นายนิมิตร์ กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบรายชื่อของประชาชนต้องเสร็จสิ้นภายใน 3 วัน หรือเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สามารถพิจารณาได้ทันวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ พร้อมกับร่างของพรรคการเมือง

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ปัญหาและที่มาของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะร่างโดยคณะรัฐประหาร กระบวนการประชามติที่มาจากบรรยากาศจำใจเลือก ไม่เปิดกว้าง ไม่เป็นประชามติที่เสรีเป็นธรรม เป็น 16 ล้านเสียงที่มาลงประชามติคำถามพ่วงที่ซับซ้อน ในส่วนของเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 60 ห่างเหินการเป็นประชาธิปไตยสากล ล้าหลัง ไม่เกิดการพัฒนาทางการเมือง

ทั้งนี้ เรามีความเป็นห่วงว่าจะเกิดปรากฏการณ์ลักไก่ส.ส.ร.ล็อกสเป๊ก หากเราดูข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนจะดูดี แก้มาตรา 256 ตั้งส.ส.ร. แต่ถ้าเราทำตามสุภาษิตของประเทศอังกฤษที่กล่าวไว้ว่าความเลวร้ายอยู่ในรายละเอียด

เราจะเห็นว่า ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง ซึ่งมีเจตนาซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรากฏการณ์ต่อมาคือส.ว.ลอยนวล เพราะไม่มีข้อไหนไปแตะอำนาจของส.ว.ปัจจุบัน จึงขอเชิญชวนประชาชนจับตามองว่าประเด็นใดจะถูกแก้ ประเด็นใดจะถูกลักไก่ไม่แก้ไข

ด้านนายยิ่งชีพ กล่าวว่า ขอขอบคุณ 100,732 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เราต้องการหาทางออกความขัดแย้งทางการเมือง วันนี้เราอยู่ในระบอบทางการเมืองที่ผิดปกติจึงมาเสนอทางออก ถ้าคนในรัฐสภาทราบแล้วยังไม่ฟัง ยังเอาเรื่องเทคนิคมาขัดขวางประชาชน จะถือเป็นความผิดของเขา ไม่ใช่ความผิดประชาชน

ข้อเสนอแก้ไขของพรรคการเมืองยังขาดสาระสำคัญ เราจึงเสนอให้ยกเลิกส.ว.ทั้ง 250 คน ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี เราเสนอยกเลิกช่องทางนายกฯคนนอก รวมถึงปัญหาขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธมนุษยชน (กสม.) ที่ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรไม่เคยผิด แต่ฝ่ายตรงข้ามผิดตลอด เพราะมีที่มาจากพวกเดียวกันเอง สรรหามาโดยส.ว. เราจึงขอเสนอยกเลิกที่มาแบบนี้ ให้มีการเซ็ตซีโร่แล้วสรรหาใหม่โดยคนที่เป็นกลางและเป็นธรรม ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอ

น.ส.จีรนุช กล่าวว่า ตลอด 43 วัน เราได้รายชื่อประชาชนกว่าแสนรายชื่อ กติการัฐธรรมนูญ 60 เรียกว่ากติกาโจร เราไม่เอา จึงอยากให้ส.ส.รับฟังเสียงประชาชน เครือข่ายของเราจะร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ถึงบ้านส.ส.ทุกพื้นทุกเขตเลือกตั้ง ว่าร่างที่ประชาชนเสนอไปคืบหน้าถึงไหนแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการทำกิจกรรมและการปราศรัยของกลุ่มไอลอว์ มีส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมสังเกตการณ์ คือ พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน และนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน