“อานนท์ – ไมค์” รับรางวัลงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา ลั่น วิญญาณวีรชน 6 ตุลา มาจุติในร่างคนรุ่นใหม่ “จาตุรนต์” เตือน ผู้มีอำนาจหยุดคุกคามทำลายการเคลื่อนไหว ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ขอ ประชาชนทั้งประเทศไม่ปล่อยเยาวชนต่อสู้ลำพัง

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 6 ต.ค.2563 ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ญาติวีรชนร่วมกับคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 โดยมีองค์กรต่างๆ และตัวแทนพรรคการเมืองร่วมวางพวงมาลาและดอกไม้ ณ ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 อาทิ

พรรคก้าวไกล นำทีมโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนคณะก้าวหน้า นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มาในฐานะตัวแทนพรรค

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์ นายกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือ จิ้น กรรมาชน รวมถึง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น








Advertisement

บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ขณะเดียวกัน นายอานนท์ นำภา แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาร่วมวางพวงมาลา พร้อมรับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง

ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 2519 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ว่า ตนอาจจะเป็นอดีตนักศึกษาจากต่างจังหวัดคนแรกๆ ที่มาพูดในโอกาสนี้ ที่ผ่านมามักมีการพูดถึง 6 ตุลา โดยเน้นเหตุการณ์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว 6 ตุลา ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ธรรมศาสตร์ เพราะเกี่ยวข้องกับนักศึกษาทั่วประเทศ

6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างของการกระทำความผิดที่ไม่ต้องรับโทษ เป็นบทเรียนให้แก่สังคมไทยถึงการใช้กำลังกับผู้เห็นต่าง ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขณะที่การใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบ มากกว่านิสัยใจคอของคน ระบบเผด็จการถือว่ามีกำลังอาวุธในมือคือผู้มีอำนาจสูงสุด

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ยุติปัญหาด้วยการขจัดคนเห็นต่าง แต่เกิดจากการใช้การเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ รวมถึงการผ่อนคลายให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างในเวลาต่อมาตลอดจนการเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างทั้งหลายสามารถคืนสู่สังคมและมีที่ยืนอยู่ได้

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาในอดีต มีจุดรวมกันอยู่ที่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองและการมีความใฝ่ฝันว่าอยากเห็นสังคมที่ดี รวมทั้งต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

โดยพลังของนักศึกษาเป็นที่ยอมรับของประชาชน เนื่องจากเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์ แต่จุดที่ต่างกัน คือปัญหาของบ้านเมืองที่ซับซ้อนกว่าในอดีต อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันเรียนรู้และเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนเป็นอย่างดีทั้งประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปไกล นอกจากการเรียนรู้ข่าวสารที่สำคัญ ก็คือความจริงของสังคมไทยในหลายปีมานี้ที่ย้อนแย้งจากสิ่งที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาในปีนี้ค่อนข้างมีความหมายที่พิเศษ เนื่องจากในระยะหลัง โดยเฉพาะปีสองปีมานี้ มีการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาโดยเฉพาะ 6 ตุลาโดยคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามีการวิเคราะห์ และศึกษามาอย่างลึกซึ้ง และทวงถามหาคนผิดและความยุติธรรม

ตลอดจนในปีนี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาที่มากกว่าการแสดงความอาลัย แต่กำลังจะมีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดี ดังนั้น ควรจะมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ด้วยใจที่เปิดกว้าง และทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยดูความล้าหลังของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชน

จึงหวังว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะได้เรียนรู้จากอดีต หวังว่าผู้มีอำนาจจะหยุดคุกคามและหาทางทำลายความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา โดยการแสดงความพร้อมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวิกฤตของประเทศร่วมกันตามครรลองประชาธิปไตย

“ผมไม่มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่อยากย้ำว่าใครที่อยากจะเตือนนักศึกษาว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะเกิดแบบเดือน 6 ตุลานั้น ก็ขอให้ทำความเข้าใจเหตุการณ์เดือนตุลา ว่า นักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบปราม ขณะที่ความรุนแรงนั้นมาจากคนชั้นนำทั้งสิ้น

 

ถ้าจะเตือนก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า อย่าสร้างความเกลียดชัง อย่าสร้างเงื่อนไขเพื่อที่จะได้ใช้ความรุนแรง สถานการณ์ในบ้านเมืองวันนี้หากช่วยกันทำความเข้าใจให้เห็นปัญหาร่วมกัน การป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาก็จะยิ่งทำได้ดีมากยิ่งขึ้น

ผมไม่เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้จะซ้ำรอย 6 ตุลา เมื่อดูจากเหตุปัจจัยต่างๆ หากจะเทียบกับอดีต สถานการณ์ในวันนี้มีโอกาสพัฒนาใกล้เคียงกับ 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 มากกว่า 6 ตุลา ถ้าประชาชนทั้งประเทศพร้อมที่จะร่วมกัน ไม่ปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาต่อสู้ตามลำพัง การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงในอดีต” นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้าน นายอานนท์ นำภา กล่าวรำลึกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผู้กระทำไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างแท้จริง และมีการปิดปากเงียบกับเรื่องนี้มา 44 ปี ซึ่งบังเอิญว่าปีนี้คนรุ่นใหม่ได้พูดถึงปัญหานี้ในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง เหมือนคนที่จากไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เขาไม่ได้จากเราไป

เขากลับมาเกิดในร่างคนรุ่นใหม่ เพื่อทวงถามความยุติธรรม วันนี้วิญญาณของวีรชนผู้เสียชีวิตมาจุติใหม่ในร่างกายคนรุ่นใหม่ วันนี้ตนขอยืนยันว่าคนรุ่นใหม่จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อตอบวิญญาณผู้เสียชีวิตจะไม่สูญเปล่า และการต่อสู้ของพวกท่านจะจบในรุ่นเรา


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน