เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า จากการหารือกับฝ่ายต่างๆ ถึงวันนี้ถือว่าได้ข้อสรุปแนวทางการทวงถามความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553 ซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรการทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและด้านอื่นๆ โดยจะแถลงรายละเอียดในวันที่ 14 ก.ย. เวลา 13.30 น. ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าวชั้น 5

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นการใช้สิทธิต่อสู้ตามกรอบกฎหมาย นั่งแถลงไม่เกิน 4 คน ไม่มีการปลุกระดมใดๆ ทั้งนี้ ตนเคารพคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งชี้ช่องทางดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่ไม่ยอมรับการใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. เพราะเท่าที่ศึกษาโดยละเอียด เกิดคำถามในหลายประเด็น

จึงขอเรียกร้องให้ป.ป.ช.เปิดเผยคำฟ้องที่ใช้งบประมาณจ้างทนายความฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และคณะ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 กับมติยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.ปี 2553 แล้วอธิบายเปรียบเทียบให้ประชาชนเข้าใจว่า ทั้ง 2 กรณี ถือเป็นความยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร หรือจะให้ตนเป็นตัวแทนประชาชนไปนั่งซักถาม ก็พร้อมทันที

“ผมเห็นด้วยกับคำพูดของนายกฯ ที่บอกว่าจะคนรวยหรือคนจน ทำผิดก็ต้องติดคุก ถ้าทุกขั้นตอนอยู่บนหลักนิติธรรม แต่คำถามคือคนมีเส้นหรือมีอำนาจ ทำความผิดแล้วคดีไม่คืบหน้าจะทำอย่างไร ความยุติธรรมคือเสาเข็มของการปรองดอง ถ้าคนตายเป็นร้อยยังเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ การพูดเรื่องความปรองดองก็เลื่อนลอยเกินไป เพื่อนมิตรหลายคนบอกผมว่าเรื่องนี้หวังยาก แต่ผมเลิกหวังไม่ได้ อย่างน้อยคนไทยยังสนใจข่าวนักศึกษาแพทย์กรอกยาฆ่าหมาตาย แล้วข่าวคนมือเปล่าที่ถูกฆ่าตายและกรอกความอยุติธรรมซ้ำไว้ 7 ปี จะเลือนหายไปกับกาลเวลาได้อย่างไร” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน