พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย กางตำราโต้ไพบูลย์ นิติตะวัน กรณีพ.ร.บ.คำสั่งเรียก ชี้ทั้งฉบับยังมีผลบังคับใช้ เหตุใช้อำนาจตามรธน.มาตรา 129 แนะรอคำวินิจฉัยเต็ม

วันที่ 8 ต.ค.2563 นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการ(กมธ.) ส.ส.-ส.ว. กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ประธานกมธ.ปปช. ของสภาผู้แทนฯ ให้เรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม มาให้ถ้อยคำกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยศาลวินิจฉัยว่ามีปัญหาความชอบตามรัฐธรรมนูญนั้น

นายพรสันต์ ระบุว่า บทสัมภาษณ์ของนายไพบูลย์ทำนองว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใน 3 มาตรา ส่งผลให้ต่อไปนี้คณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่สามารถเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามาชี้แจงได้นั้น เป็นคำสัมภาษณ์ที่คลาดเคลื่อนจากหลักการ และไม่ถูกต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติหน้าที่และประชาชน จึงขออธิบายสั้นๆ 2 ข้อ ดังนี้

1.จริงอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า 3 มาตราในพ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้หมายความว่า ด้วยผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวจะสามารถเข้าไปทำลาย “ความมีอยู่ของอำนาจสอบหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการ” (Existence of Committee’s Investigative Powers) ที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติในระดับรัฐธรรมนูญ (Constitutional Powers)

เราต้องเข้าใจให้ถูกต้อง อย่าสับสนว่า “ที่มาของอำนาจคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการในรัฐสภา” นั้นแท้ที่จริงมีฐานที่มาจาก “รัฐธรรมนูญ” (ม.129) หาใช่ “กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ” (พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯ) ไม่ ดังนั้น แม้กฎหมายจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นคนละส่วนกัน

2.จากเหตุผลข้อที่ 1 คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือในวุฒิสภาก็ดี ยังคงมีอำนาจและสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติ กล่าวคือยังสามารถเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจของคณะกรรมาธิการได้ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจ ม.129 ของรัฐธรรมนูญโดยตรงได้

กรรมาธิการหลายท่านอาจกังวลใจเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งผมคิดว่าต้องรออ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มเสียก่อนเพื่อความชัดเจนในเรื่องผลทางรัฐธรรมนูญของคำวินิจฉัยด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อกฎหมายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด) ว่าจะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของท่านหรือไม่

ผมเห็นว่าก็คงจะมีอยู่บ้าง แต่ท่านยังคงทำหน้าที่ตนเองโดยการใช้อำนาจคำสั่งเรียกนี้ต่อไปได้ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรี” ที่จะต้องสั่งการให้บุคลากรของตนเองให้ความร่วมมือกับทางคณะกรรมาธิการเวลามีการออกคำสั่งเรียกไป (ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงตัวรัฐมนตรีเองด้วย หากมีคำสั่งเรียกท่านไปให้ความเห็น หรือข้อมูลใดๆ เว้นแต่จะเป็นกรณีจำเป็น)

ดังนั้น ผมจึงขออธิบายและสรุปหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องว่า คณะกรรมาธิการในรัฐสภายังคงมีอำนาจเช่นเดิม ในการออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริงต่างๆ และเป็นหน้าที่ของท่านที่ได้รับคำสั่งที่จะต้องปฏิบัติตามด้วย ทั้งนี้ ตาม ม.129 ของรัฐธรรมมนูญ

ถ้าเราไปสรุปอย่างที่คุณไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ ว่าต่อไปนี้คณะกรรมาธิการจะไม่มีอำนาจในการเรียกบุคคลใดๆ มาได้อีก โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมย้ำว่า “ไม่สอดคล้องกับหลักการและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” แล้ว ย่อมก่อให้เกิดความปัญหาในทางปฏิบัติหลายเรื่องทันที

นอกจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว ก็จะรวมไปถึงคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่รัฐสภาที่ก่อนนี้มีมติโดยรัฐสภาตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนลงมติในวาระรับหลักการด้วย ว่าคณะกรรมาธิการนี้ก็จะไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกบุคคลต่างๆ ไปให้ข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน