ไม่สนโดนไล่! ธนาธร ลุยอุดรฯ คุยพี่น้องเกษตรกร ชี้ถ้าการเมืองดี แก้จนได้

วันที่ 12 ต.ค.2563 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องเกษตรกร พร้อมโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ความว่า เกษตรกรไทยทำไมยากจน? ฟังเสียงสะท้อนพ่อใหญ่แม่ใหญ่จากอุดรธานี

เช้าวันนี้ผมอยู่ที่ตำบลหนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี พร้อมกับ คุณฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ ว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ในนามคณะก้าวหน้า เรามาฟังเสียงประชาชนที่รวมกลุ่มเป็น “กลุ่มเกษตกรปลูกผักปลอดภัย”
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน
อุดรธานีเป็นจังหวัดที่ผลิตและขายพืชผลการเกษตรและผักปลอดภัยให้กับจังหวัดอื่น มีตลาดกลางผักผลไม้คือตลาดเมืองทองเจริญศรี เป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
กลุ่มเกษตรกรแรกเริ่มมีประมาณ 20 ครัวเรือน รวมกลุ่มกันปลูกผักปลอดภัยมาได้ประมาณ 2 ปีกว่า พวกเขาร่วมกันทำการตลาดเพื่อเพิ่มการต่อรอง โดยมีช่องทางการขายสองช่องทาง ได้แก่ ทางแรกขายที่ตลาดขายส่ง กับอีกทางคือขายตรงกับบริษัทอาหาร
ช่องทางแรกเป็นช่องทางหลัก ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกนำไปขายส่งที่ตลาดเมืองทองเจริญศรีในราคาตลาด ขณะที่ช่องทางที่สองขายกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งหักค่าแรงแล้ว เกษตกรได้รับ 14 บาทต่อกิโลกรัม
หนึ่งไร่ผลิตผักได้ประมาณ 1 ตันครึ่งต่อรอบ รอบหนึ่งใช้เวลา 45 วัน การลงทุนขุดแปลงผักและระบบน้ำใช้เงินประมาณ 20,000 บาทต่อไร่
คุณฐานวัฒน์ ผู้สมัครนายก อบจ. ของคณะก้าวหน้า มีพื้นฐานมาจากด้านการเกษตร เคยรับราชการเป็นเกษตรจังหวัด ต้องการเห็นคนไทยบริโภคพืชผักที่ปลอดสารพิษเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น เขาเห็นถึงโอกาสและข้อจำกัดของรูปแบบการรวมตัวดังกล่าว
ผักปลอดสารพิษเป็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ การเอาใจใส่สุขภาพเป็นแนวโน้มของผู้บริโภคทั่วโลก ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและปลอดสารพิษมีแต่จะเติบโตมากขึ้น ส่วนเกษตรกรเองก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับพิษของสารเคมีที่ใช้ต่อร่างกายตนเอง เมื่อใช้สารเคมีน้อยลง การปนเปื้อนของสารเคมีต่อแหล่งน้ำในขุมชนก็น้อยลงด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรก็ยังมีข้อจำกัดอีกมาก ในด้านการผลิต ชุมชนนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่การชลประทาน เกษตรกรต้องขวนขวายหาน้ำใช้เอง ใครที่มีทุนมากหน่อยก็ขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ในที่ตนเองได้ ต้นทุนต่อบ่อแตกต่างกันไป อาจต้องใช้งบหลายหมื่นหรือเป็นแสนต่อบ่อ ส่วนใครไม่มีเงินหรือพื้นที่พอขุดบ่อ ก็ขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งจ้างเอกชนขุด บ่อละประมาณ 50,000 บาท
กระนั้น ก็เกิดกรณีที่น้ำไม่พอใช้ การจัดสรรก็แบ่งไปให้โรงงานอุตสาหกรรมก่อน หยุดการทำการเกษตรของเกษตรกรไว้ โดยที่พวกเขาไม่ได้การชดเชยใดๆ พวกเขาได้ใช้น้ำเป็นลำดับสุดท้าย ต่อจากภาคอุตสาหกรรม, ภาคการพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ เสมอ
ขณะที่เรื่องไฟฟ้านั้นก็เข้าไม่ถึงพื้นที่ เกษตกรต้องต่อสายไฟเข้าที่ดินตนเอง สายไฟ 100 เมตร ราคาตกอยู่ราว 1,600 บาท ลากโยงกันเข้าพื้นที่เองเป็นกิโลๆ ห้อยระโยงระยาง บางช่วงก็ต้องเอาไม้ไผ่ค้ำไว้ ทั้งหมดนี้ตามที่แต่ละคนมีต้นทุน ไม่เคยได้รับการสรับสนุนจากรัฐ
นอกจากนี้เกษตรกรใน ต.หนองไฮ อีกหลายชุมชน ทำการเกษตรในที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ พวกเขาทำการเกษตรมาหลายขั่วอายุคน แต่ไม่มีโฉนดที่ดิน และการไม่มีโฉนดทำให้เขาไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ต้องไปกู้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน
และขณะนี้พวกเขากำลังต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะยึดที่คืน และบังคับให้พวกเขาจ่ายค่าเช่า ซึ่งขณะที่ผมพบปะกับพวกเขาในวันนี้ข้อพิพาทนี้ก็ยังไม่จบ
ยังมีเรื่องถนนหนทางเข้าสู่พื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นถนนดิน ขรุขระเป็นหลุมบ่อ เดินทางเข้าออกลำบาก พวกต้องการถนนที่ดีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเกษตรไปสู่ตลาด
และอีกข้อจำกัด ก็คือเมื่อนำผลผลิตไปขายตลาดแล้ว ยังต้องมี “ค่าเข้าตลาด” ที่เก็บค่อนข้างสูง ซึ่งแน่นอนว่ากำไรย่อมเข้ากระเป๋าเจ้าของตลาด เหตุนี้เองที่คุณฐานวัฒน์ต้องการผลักดันให้มีตลาดของเกษตรกรอย่างแท้จริง
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผลก็คือทำให้เกษตรกรทุกครัวเรือนยังยากจน พ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่ผมได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยด้วย ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาเป็นหนี้สินก้อนโต !
“คณะก้าวหน้า” เรามีความต้องการเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเชื่อว่า “ถ้าการเมืองดี” เราจะสามารถแบ่งเบาภาระของพวกเขาได้ ถ้าทรัพยากรถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม พวกเขาต้องเข้าถึงถนน, น้ำ, ไฟฟ้า การลงทุนในสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เป็นภาระและก่อหนี้ให้กับพวกเขา พวกเขาต้องไม่ถูกปล่อยให้ต่อสู้ด้วยตนเองไปตามยถากรรม
เพราะ “ความไม่เท่าเทียม” เห็นชัดมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของนายทุน ที่สามารถเข้าถึง ถนน, น้ำ, ไฟฟ้า ได้อย่างสะดวกสบาย ขณะที่ชาวบ้านต้องลงทุนในสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเอง
คุณฐานวัฒน์ ต้องการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องเหล่านี้ เขาต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะผลักดัน จ.อุดรธานี ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัย ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยเชื่อว่างบประมาณ, ทรัพยากรและเครื่องไม้เครื่องมือของ อบจ. สามารถนำมาสร้างตลาดพืชผักปลอดภัยใหม่, ช่วยเกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน, ขุดเจาะบ่อน้ำ, ต่อท่อน้ำเดินไฟ และสร้างถนนหนทางที่ดีให้กับเกษตรกรได้
ความยากจนของเกษตรกรไม่ได้เกิดจากบุญกรรม ไม่ได้เกิดจากที่พวกเขาโง่ ไม่ได้เกิดจากที่พวกเขาขี้เกียจ อย่างที่หลายคนคิด
แต่ความยากจนของพวกเขาเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม
ฝากคนอุดรฯ ลองให้โอกาสคุณฐานวัฒน์ เข้าไปช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรใน จ.อุดรธานี ด้วยครับ
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนี้ มีกลุ่มมวลชน ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) จัดขบวนแรลลี่ บุกตึกไทยซัมมิท เพื่อขับไล่ นายธนาธร ออกนอกประเทศไทย!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน