รายงานพิเศษ : ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม-ทางออก‘บิ๊กตู่’

 

ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม-ทางออก‘บิ๊กตู่’ : หมายเหตุ – การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่มีความร้อนแรงต่อเนื่อง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯจะออกแถลงการณ์ให้ถอยคนละก้าว ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแต่กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นขีดเส้นตาย 3 วัน ให้นายกฯลาออก นักวิชาการ ได้ให้ความเห็นต่อทางออกของนายกฯ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ดังนี้

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหิดล

การขีดเส้นตายของผู้ชุมนุม เป็นกระบวนการยุทธวิธีของเขาที่จะกดดัน แต่สิ่งที่นายกฯ จะทำได้คือ ไม่หวั่นไหวไปกับเส้นตาย แล้วอธิบายเหตุที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง แต่ไม่ใช่มาย้อนตอบว่า “ตัวเองผิดอะไร” เหมือนครั้งก่อนๆ แต่อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ อธิบาย หรือถามว่าควรทำอย่างไรในงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่มากกว่า

นายกฯต้องไตร่ตรอง แล้วถามกลับว่า ถ้าลาออกแล้ว ช่วยบอกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เช่น ให้กระบวนการตามรัฐสภา เลือกนายกฯคนต่อไป ซึ่งมีพรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว หรือ จะดีกว่าถ้าจะมีนายกฯคนนอก

ประเด็นปัญหาคือ เราไม่รู้ตัวแปรหลักของการเลือกนายกฯ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ส.ว.เขาคิดอย่างไร ถ้าสมมติพล.อ.ประยุทธ์ บอกอยากล้างมือแล้ว เหตุมีเรื่องชุมนุมมากนัก นั่นก็มีบางคนเสนอว่า ทำไมไม่ดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านคือ คอยดูอยู่ห่างๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น คงให้เสนอว่าใครมีแนวทางอย่างไรที่จะให้ได้มาซึ่งนายกฯ คนนอกได้อย่างไร

ถ้าเกิดทางตัน คือ ไม่มีเสียงเพียงพอจะเลือกนายกฯ เพราะเสียงพอจริงๆ ต้องมีเสียง 250 ของส.ว. และ 375 เสียงของส.ส. บวกกับส.ว.ด้วย ซึ่งทำยังไงก็ไม่ได้ ถ้าจะหาเสียงให้คนนอกมาต้อง 500 เสียงก็หาไม่ได้ หรือเราจะเลือกวิธีให้รองนายกฯรักษาการไปเรื่อยๆ ซึ่งแนวทางนี้ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้

การจะยุบสภาเป็นอำนาจนายกฯ ทำได้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ แต่จะยุ่งยาก เรียกได้ว่ายุ่งมากกว่านายกฯลาออก และวิธีนี้ไม่เคยเป็นทางเลือกที่ดีเลย เพราะถ้าจะยุบสภา จะตีความได้ว่าเป็นการชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีสภาแล้ว เราจะแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ฉะนั้น ถ้าจะยุบสภาในตอนนี้ เชื่อว่าเป็นเรื่องไม่เข้าท่า

ผมอยากให้แก้รัฐธรรมนูญก่อน ลงประชามติพร้อมมีส.ส.ร. ซึ่งจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปเอง แต่ยังมองไม่เห็นว่า ใครจะมาโน้มน้าวใจส.ว. 250 คน เพราะเขาเองก็ยังคงสนับสนุนคนที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ดี เพราะคสช.ตั้งพวกเขามา

การรับหลักการแล้วแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวก่อนนั้น น่าจะเป็นการยุติกระแสต้านรัฐธรรมนูญได้ แต่เราเดาทาง ผู้ที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าให้คิดว่าต่อไปนี้เราจะมีกติกาใหม่ ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็จะเปิดทางให้ส.ส.ร.ที่จะมา การเมืองจะเปลี่ยนไปจากการเมืองท้องถนน มาเป็นการเมืองในห้องประชุมรัฐสภาเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย

แนวทางออกที่ดีของบ้านเมืองคือ เรียนผูกให้เรียนแก้ และพูดคุยกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ฉะนั้น ให้มีการมานั่งคุยกัน แต่ต้องเป็นการคุยที่มีการตกลง มีกติกาบางอย่าง และต้องไม่คุยกันต่อหน้าสื่อมวลชน เพราะการเสนอความคิดเห็นต่อหน้าสื่อจะเป็นการนำความคิด แล้วสื่อนำไปขยายต่อ

ฉะนั้น อยากให้มีการพูดคุยกันแบบเงียบๆ ในโอกาสอันควร หรือจะหาใครมาเป็นคนกลาง หรืออำนวยความสะดวกในการพูดคุยกัน จะเป็นการดี ไม่เช่นนั้นจะแตกคอกันระหว่างคุยกันเสียเปล่าๆ

วันชัย วัฒนศัพท์

อดีตผอ.หลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สถาบันพระปกเกล้า

 

ข้อเรียกร้องของคณะราษฎรให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก คือการที่ฝ่ายหนึ่งตั้งธงอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ หรือเรียกว่า จุดยืนของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นธรรมดาที่ทุกฝ่ายจะตั้งจุดยืนไว้มากที่สุด

แต่การเจรจาหาทางออกนั้น คงไม่ใช่การบังคับให้ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ มิเช่นนั้นจะต้องสู้ต้องเอาชนะกันไป ซึ่งไม่ใช่การเจรจา แต่ถ้าเจรจากันแล้ว เรื่องของจุดยืนควรเอาไว้ภายหลัง เพื่อหาทางออกให้ประเทศ ซึ่งหากหันหน้ามาพูดคุยกันก็ต้องตั้งโจทย์ใหญ่ ว่าจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร หลายครั้งพอเรามานั่งพูดคุยกัน เราก็หาสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง

การที่ผู้ชุมนุมขีดเส้นตาย 3 วันนั้น ผมเห็นว่าการขีดเส้นตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเจรจากันนั้น ไม่ใช่การต่อรอง เพราะการต่อรองคือการเอาแพ้เอาชนะกัน การเจรจาไกล่เกลี่ยคือการหันหน้ามาพูดคุยกัน

ส่วนการยุบสภาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่นั้น ตอนนี้กระบวนการประชาธิปไตยที่เรามีอยู่และเป็นที่ยอมรับ คือกระบวนการทางรัฐสภา ดังนั้น ควรปล่อยให้รัฐสภาเดินหน้า มีกฎกติกาชัดเจนเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้ารัฐสภาเห็นว่าเพื่อให้มีกระบวนการคู่ขนานในการพูดคุยกัน ก็เอาบุคคลที่เรียกร้อง และอาจจะมีทีมงานที่เข้าใจกระบวนการไกล่เกลี่ย ไม่ใช่เอาคนที่ต้องการเอาแพ้เอาชนะกันมาเถียงกัน เพราะไม่ใช่การดีเบต แต่เป็นการสานเสวนาเพื่อหาทางออก ซึ่งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง หากเราทำแบบนี้อาจจะมีทางออกก็ได้

ทั้งนี้ หากสมาชิกรัฐสภารับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อชัดเจนคือ ที่มา หลังจากร่างแล้วมีการลงประชามติ ดังนั้น ถ้าจะแก้เกินกว่าแก้รายมาตรา หรือถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับ อย่างเดียวที่ทำได้คือต้องผ่านประชามติ สมมติหากรัฐสภาเห็นเช่นนั้นก็ต้องดำเนินการ ดีกว่าเกิดการสูญเสีย นี่คือระบบรัฐสภาที่ได้กำหนดและวางกติกาไว้แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำตามกติกา เป็นลักษณะของประชาเสวนาหาทางออก

ถ้าเราจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้วทำ เราจะต้องมีกระบวนการ หากประชาชนต้องการแบบไหนจะต้องมีเวทีของการหันหน้ามาพูดคุยกันหาทางออก เอาตัวแทนแต่ละฝ่ายมาคุยกันโดยกำหนดกติกา ซึ่งไม่ใช่การดีเบต และสุดท้ายต้องใช้ฉันทามติ

การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำด้วยความรีบร้อนเราต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความแข็งแรง ไม่ใช่ว่าพอเกิดอะไรขึ้นแล้วปฏิวัติยึดอำนาจ จึงต้องให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ประเทศไทยบอบช้ำมากี่ครั้งแล้ว เพราะเราไม่มีหมวดปรองดอง ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ ก็ตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์แห่งชาติ แต่หลังจากนั้นก็กลับมาทะเลาะกันใหม่ เพราะไม่มีสถาบันที่จะมาสอนเด็กๆ ว่าหากมีเรื่องอะไร ให้หันหน้ามาคุยกัน ดังนั้น หากจะแก้รัฐธรรมนูญควรมีหมวดปรองดอง ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจต้องฟัง ส่วนผู้มาชุมนุมก็ต้องฟังด้วย โดยหาเวทีที่ปลอดภัยทั้งคู่ ซึ่งไม่ใช่การเอาแพ้เอาชนะกัน

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

อาจารย์ประจำวิชาสายกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานการณ์ขณะนี้ รัฐบาลต้องมีท่าทีที่เปิดรับฟังหรือแสดงความจริงใจกับผู้ชุมนุมมากขึ้น ผมมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แม้ผู้ชุมนุมจะสะท้อนและส่งสัญญาณถึงพล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขัดแย้งก็ตาม

ท่าทีของนายกฯที่ผ่านมา คือการลอยตัวเหนือความขัดแย้ง สังเกตว่าทุกครั้งที่ถูกโจมตี ไม่ว่าจะเป็นความบิดเบี้ยวในการบริหาร หรือการสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกเป็นเรื่องของทุกหน่วยงาน ยกเว้นตัวเอง และพยายามบอกว่าเข้ามาตรงนี้ เพื่อแก้ปัญหาประเทศ มันสะท้อนว่า นายกฯไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นปัญหา หรือขัดแย้งกับกลุ่มผู้ชุมนุม

การเรียกร้องแล้ว ไม่ได้รับการตอบสนองแบบนี้ ผลคือการชุมนุมเข้มข้นและมีอุณหภูมิที่รุนแรงมากขึ้น

การยุบสภาตอนนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาการชุมนุมได้ คำถามคือ ถ้ายุบสภาแล้ว ม็อบจะหมดหรือไม่ ผมคิดว่าไม่หมด เพราะมันไม่ใช่การตอบสนองแก้ไขปัญหาจริงๆ เพราะเป้าหมายอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงให้นายกฯ ลาออก เพราะถ้ายุบสภา ตัวโครงสร้างทางการเมืองยังคงเหมือนเดิม สุดท้ายเรื่องกฎเกณฑ์กติกาในการได้มาซึ่งนายกฯ หรือการเลือกตั้งแบบเดิม ผู้ชุมนุมก็คงไม่เอาด้วย เพราะยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

การยุบสภา จึงไม่น่าเป็นทางออกที่ตัวผู้ชุมนุมต้องการ โจทย์ของเราตอนนี้คือ สถานการณ์การเมืองเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

ประเด็นสำคัญคือ การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 26-27 ต.ค. จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ หลายคนคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤต ให้ผ่อนคลายในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องลุ้นว่าจะเป็นการหาทางออก หรือจะยิ่งสุมไฟทำให้อุณหภูมิทางการเมืองยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก

ปัจจัยสำคัญคือ พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. เพราะก่อนปิดสมัยประชุม ท่าทีของทั้งสอง ถือเป็นตัวละครหลักที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ เพราะเกมการเมืองที่จงใจยืดเยื้อ แทนที่จะลงมติรับหลักการในวาระแรก ก็ดันไปตั้งกมธ. สะท้อนความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา กลายเป็นบรรยากาศของความหวาดระแวง ไม่เชื่อใจ เป็นการสร้างศัตรูทางการเมือง คุยกันไม่รู้เรื่อง

รัฐบาลเองก็ยังไม่แสดงความจริงใจในการรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมก็มองว่ารัฐบาลไม่เคยมีความชัดเจน ต่อไปเกรงว่าจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น

สิ่งที่จะทำให้ลดอุณหภูมิทางการเมืองลงได้คือ รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว. ต้องอาศัยช่องทางนี้สื่อสารกับประชาชน

ประชาธิปไตยแบบระบอบรัฐสภาโดยหลักแล้ว รัฐสภาคือผู้แทนของประชาชนในการเข้ามาแก้ปัญหา ดังนั้น ส.ส.หรือส.ว. คือผู้แทนของประชาชน ไม่ใช่แค่คนที่เลือกคุณมา แต่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด ในเมื่อมีประชาชนจำนวนมากออกมาส่งเสียงว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา คุณก็ต้องรับฟัง ต้องส่งเสียงถึงประชาชนว่า รัฐบาลพร้อมแก้ไขแล้ว แสดงความจริงใจและทำให้บรรยากาศเป็นมิตรมากกว่านี้ เพราะส่วนหนึ่งมันมาจากความไม่จริงใจเข้าไปแก้ไขปัญหา จริงๆ ต้องยอมรับว่าคุณเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดสภาวะแบบนี้ขึ้นมา

การที่รัฐบาลบอกถอยคนละก้าว แต่ข่าวออกมา มีแต่การไปจับนิสิต นักศึกษา หากมองแบบเป็นกลาง อาจเกิดจากการสื่อสารภายในที่ไม่ถูกต้องตรงกัน เพราะสภาวะแบบนี้รัฐบาลไม่เคยเจอมาก่อน การประสานงานจึงดูแปลก ย้อนแย้งไปคนละส่วน แต่สำคัญคือ การที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกให้ถอยคนละก้าว โดยเริ่มจากการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้น ไม่ใช่การถอยคนละก้าว แต่มันยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งด้วยซ้ำ เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงตั้งแต่แรก ก็ไม่มีเหตุให้ประกาศอยู่แล้ว

นี่จึงไม่นับเป็นการถอย การถอยจริงๆ อยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นเรื่องมาตั้งแต่ต้น และเป็นสิ่งที่รัฐบาลและส.ว.ไม่ยอมถอยและไม่รับข้อเสนอซ้ำยังไปราดน้ำมันลงในกองไฟ ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง พร้อมสลายการชุมนุม เราเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะแบบนี้

การถอยที่ควรเกิดขึ้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งในปัญหา แล้วเปลี่ยนทีท่าในการรับฟัง พูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างชัดเจนว่า จะนำข้อเสนอของพวกเขามาแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน และสำคัญคือต้องทำด้วยความจริงใจ จึงจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งลงได้

ดังนั้น วันที่ 26-27 ต.ค.นี้ พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว. ต้องเปลี่ยนท่าทีและส่งสัญญาณรับข้อเสนอ โดยเฉพาะวุฒิสภา ต้องเปลี่ยนท่าทีให้ชัดเจนที่สุดว่าคุณพร้อมจะแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนข้อเรียกร้องให้นายกฯลาออกนั้น ส่วนตัวผมไม่คิดว่านายกฯจะลาออก เพียงแต่สถานการณ์มันจะเข้มงวดถึงขนาดที่เขาจะอยู่ไม่ได้เลยหรือเปล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน