สลายเสื้อแดง – วันที่ 27 ต.ค.2563 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพื่อหาทางออกประเทศ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า ความแตกต่างหลากหลายและความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม

การจะบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ และเราต้องยอมรับว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบัน เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ย่อมก่อให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชนที่เห็นต่าง ประชาชนตระหนักดีว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อนายกฯที่เป็นแกนกลางของปัญหายังยืนกรานว่าตัวเองไม่ผิดอะไรเลย ปัญหาจึงเป็นไฟลามทุ่งไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำมันลาดไปในกองเพลิง และที่ให้อภัยไม่ได้เลย คือพฤติกรรมที่พยายามจะซ้ำเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน และโศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดการผลิตซ้ำมาแล้วอีกครั้งในเหตุการณ์สังหารประชาชนที่ทุ่งสังหารราชประสงค์เมื่อเดือนพ.ค.53 มีประชาชนเสียชีวิต 99 ศพ ผ่านไป 10 ปี แต่ไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ และฆาตกรยังลอยนวล

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่คิดจะเรียนรู้ความเสียหายทางประวัติศาสตร์แบบนี้เลย ยังเอาคำว่าชังชาติ ล้มเจ้า มาปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นจะฆ่ากันแล้วทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ แล้วทำรัฐประหารเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆอย่างนั้นหรือ

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า วันนี้เสื้อเหลืองจากการเป็นสัญลักษณ์ของความรู้รักสามัคคี แต่น่าตกใจที่สุดที่เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา มีชายใส่เสื้อเหลืองไปร่วมแสดงจุดยืนแสดงความจงรักภักดี แต่ไม่สนับสนุนอำนาจเผด็จการของพล.อ.ประยุทธ์ กลับเกือบถูกรุมทำร้ายจากคนใส่เสื้อเหลืองอีกกลุ่ม จนสังคมเกิดคำถามว่าเสื้อเหลืองได้ถูกพล.อ.ประยุทธ์ สร้างให้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการปกป้องอำนาจเผด็จการของตนไปแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่

นอกจากนี้ ยังเอาข้าราชการออกมาใส่เสื้อเหลืองร่วมชุมนุม มีคนที่ถูกเกณฑ์ไม่น้อยที่รู้สึกไม่สบายใจจึงต้องออกมาพูด มีการเกณฑ์ตำรวจ ทหาร มาใส่เสื้อเหลือง พฤติกรรมแบบนี้เป็นข้อสังสัยว่าเป็นความพยายามการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่าย

สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้ประชาชนประทุษร้ายต่อกันในที่สุด ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์เอาแต่หลอนตัวเองหลอกตัวเองซ้ำว่าการชุมนุมที่คนอยู่เบื้องหลัง คิดดูถูกประชนอยู่ตลอดเวลา แล้วใช้มุกเดิมๆในการสร้างปีศาจ และยัดเยียดให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู

ปี 53 ไม่ได้สลายชุมนุม

หลังจากที่นายวิโรจน์ อภิปรายเสร็จสิ้น นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. ได้ลุกขึ้นประท้วงว่าเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ที่นายวิโรจน์พูดถึงมีความแตกต่างจากเหตุการณ์ช่วงเดือนมี.ค. – พ.ค.53 โดยสิ้นเชิง เพราะปี 53 ผู้ชุมนุมมาชุมนุมเรียกร้องว่ารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะรัฐบาลตอนนั้นคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การเรียกร้องตรงนั้นไม่ได้เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นความแตกต่างกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และอีกประเด็นท่านใช้คำว่ารัฐบาลในขณะนั้นล้อมปราบประชาชนที่แยกราชประสงค์ ในฐานะที่ตนเคยเป็นเลขาศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในขณะนั้น การที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาตอนนั้นไม่มีการสลายการชุมนุม เพียงแต่รัฐบาลกระชับวงล้อมเนื่องจากมีการใช้อาวุธ

“ไม่มีการสลายการชุมนุม ที่พูดว่ามี 99 คนเสียชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่สะสมมาตั้งแต่ 12 มี.ค.2553 และส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะผู้ชุมนุมต่อต้านเจ้าหน้าที่”

รัฐบาลใช้กำลังศอฉ.ขณะนั้นไปทำลายเครื่องกีดขวาง ไม่มีการสลายการชุมนุม ทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงว่าประธานรัฐสภา ไม่ควรให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาชี้แจงลงรายละเอียดด้วยการใส่ร้ายประชาชนในเหตุการณ์ปี 53 โดยนายชวน ระบุว่า อนุญาตให้นายถวิล ชี้แจงต่อไปเพราะถูกพาดพิงจากการอภิปรายของนายวิโรจน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน