พาณิชย์ เผยสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยโดนเพิ่ม 231รายการ อ้างปมตลาดเนื้อหมู

วันที่ 31 ต.ค.63 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้รับการแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศ นายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลการพิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการทบทวนรายประเทศ (Country Practice)

โดยเป็นเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

ทั้งนี้ การตัดสิทธิฯ ดังกล่าวมี 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาการส่งออกไปสหรัฐจะลดลงจริง 10% แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพี หรือเพราะปัจจัยลบอื่น ๆ เช่น การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจากการติดตามข้อมูลก็พบว่าสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐมากที่สุดภายใต้สิทธิจีเอสพี 20 รายการ มีถึง 10 รายการที่ส่งออกไปได้มากขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า สุขภัณฑ์ เครื่องล้างจาน ผลไม้ หัวเทียน บางรายการมีการส่งออกได้มากขึ้นถึง 100%

ขณะที่สินค้าบางรายการ เช่น แว่นตา ตะปู แผงสวิซวงจรไฟฟ้า พัดลม เครื่องจักสาน น้ำผลไม้ ส่งออกไปสหรัฐลดลงแต่กลับส่งออกไปตลาดอื่น ๆ ได้มากขึ้น เช่น จีน ฮ่องกง ยุโรป และประเทศกลุ่มเอเชีย และยังพบว่าสินค้าบางชนิดที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี เช่น ผลไม้แช่แข็ง ไม่ได้มีผลกระทบต่อไทยเพราะส่วนใหญ่ไทยส่งออกผลไม้สดไปสหรัฐฯ








Advertisement

การถูกตัดสิทธิดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจหรือกังวลเพราะผู้ประกอบการไทยมีความชำนาญและพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ อย่างไรก็ตามก็จะประสานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายกีรติ กล่าว

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้สิทธิจีเอสพีนั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้มาโดยตลอดผ่านเวที TIFA (Trade and Investment Framework Agreement)

โดยหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น การจับคู่ธุรกิจออนไลน์ สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯและตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา
ผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมรวมถึงแจ้งเรื่องผลกระทบที่ได้รับได้ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชั่นชื่อบัญชี “GSP_helper” หรือสายด่วน 1385 รวมถึงเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน