“ทรัมป์” มาจากเลือกตั้ง :คอลัมน์ ใบตองแห้ง

คนไทยจำนวนไม่น้อยอยากเห็นโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ทั้งที่นโยบายทรัมป์อาจไม่ดีกับเศรษฐกิจไทย แต่อย่างน้อยก็ได้สะใจ เห็นไหม อเมริกาคุยนักคุยหนาเป็นแม่แบบประชาธิปไตย เที่ยวไปวิพากษ์ชาวโลก เที่ยวมาวิจารณ์คนไทย ที่ไหนได้ตัวเองกลับได้ทรัมพ์เป็นประธานาธิบดี

นอกจากได้สะใจอเมริกา ได้เยาะเย้ยโอบามา ยังได้พิสูจน์ว่าระบอบเลือกตั้งเลอะเทอะเหลวไหล เหมือนคนไทยชอบใจฟิลิปปินส์เลือกได้ดูเตอร์เต ยกให้เป็นขวัญใจ ทั้งที่เคยด่าทักษิณไว้ว่า “ฆ่าตัดตอน”

นั่นละครับ คนไทยที่รักความเป็นไทย เชียร์ทรัมป์ เชียร์ ดูเตอร์เต เชิดชูปูติน และรักสี่จิ้นผิงไปพร้อมๆ กัน ตอนประชุม G20 พอเห็นการ์ดจีนกร่างใส่เจ้าหน้าที่สหรัฐ ก็แทบจุดประทัดสนั่น พอเห็นนักฟุตบอลอเมริกันไม่เคารพธงชาติ ประท้วงตำรวจยิงคนผิวดำ ก็ชื่นชมกันล้นหลาม แต่ถ้าคนไทยประท้วงละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง แหงเลย สร้างความวุ่นวาย ถ้าใครไม่เคารพธงชาติยิ่งร้ายใหญ่ โลกโซเชี่ยลเอาตาย

ทรัมป์ทำให้คนไทยภาคภูมิใจในตัว “ลุงตู่” และระบอบ คนดีที่ไม่มาจากเลือกตั้ง (แต่พอชนะประชามติก็อ้างเสียง ข้างมากไม่อยากเป็นประชาธิปไตยชั่วกัลปาวสาน) ขนาดวุฒิสมาชิกเดโมแครตเรียกร้องให้ “คนดี” ร่วมกันปกป้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรม กวีซีไรต์ ยังแปลผิดว่า ประเทศอยู่ได้ด้วยคนดี ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ถ้ามองให้กว้าง มองข้ามบุคลิก “บ้า เพี้ยน” และคำพูดก้าวร้าว นักประชาธิปไตยก็เห็นว่า “ปรากฏการณ์ทรัมป์” เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประชาธิปไตยอเมริกัน ซึ่งแม้ดูเหมือนถอยหลัง แต่ก็มีด้านที่ก้าวไปข้างหน้า สะท้อนความต้องการพลิกฐานอำนาจ จากสถาบันทางการเมืองมาสู่ประชาชน “รากหญ้า” อย่างแท้จริง

ทรัมป์ไม่เคยเป็นนักการเมือง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำพรรค แต่กลับชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย นี่สะท้อนความไม่พอใจปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ที่สั่งสมมานาน ทำให้คนอเมริกันเบื่อหน่าย The Establishment “สถาบันทางการเมือง” กระทั่งอยากท้าทายด้วยการเลือกทรัมป์ “คนนอกคอก” แม้ไม่เห็นด้วยนักหรอก กับทัศนะเหยียดเพศเหยียดเชื้อชาติศาสนา ฯลฯ ที่ทรัมป์พ่นออกมา

พรรคเดโมแครตก็เกิดปรากฏการณ์เบอร์นี แซนเดอร์ส ซึ่งหวิดชนะฮิลารี คลินตัน ด้วยแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่แฟนแซนเดอร์สผิดหวังจนประท้วง “ชนชั้นนำ” ในพรรคที่เทเสียงให้ฮิลารี

ว่าที่จริงปรากฏการณ์ดูเตอร์เตก็มีบางด้านคล้ายกัน คนฟิลิปปินส์เบื่อตระกูลการเมืองหน้าเดิมๆ อยากลองของใหม่ ผสมผสานความโกรธเคืองไม่พอใจปัญหาสังคมของคนชั้นกลาง กระทั่งหนุน “อำนาจนิยมใหม่” เพียงแต่ประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ยังไม่เข้มแข็งเท่าอเมริกัน ซึ่งถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี มีอำนาจมากแค่ไหนก็สร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกไม่ได้ ใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้

ปรากฏการณ์นี้ก็คล้ายคนไทยส่วนหนึ่งเบื่อ 2 พรรคใหญ่จนเลือก “เสี่ยอ่าง” ทั้งที่รู้ปูมหลัง ทั้งที่รู้ว่ามีคดีรื้อบาร์เบียร์

แต่คนไทยไม่ยักจับปรากฏการณ์ที่คนอเมริกันอยาก Change อีกครั้ง ไม่มองความต้องการลดเหลื่อมล้ำ คนไทยมองแต่ว่ากระแสโลกกำลังเชียร์ “อำนาจนิยมใหม่” หรือชาตินิยมใหม่ อย่างอังกฤษยังโหวต Brexit ซึ่งเป็นธรรมดาที่เมื่อประชาชนไม่พอใจปัญหาเศรษฐกิจ จะหวนไปหาชาตินิยม โดดเดี่ยวตนเอง แต่คนอังกฤษจะเริ่มรู้ว่าคิดผิดเพราะค่าเงินปอนด์สาละวันเตี้ยลงๆ

ถ้ามองกระแสโลกจากอดีต ปัจจุบัน ไปถึงอนาคต เราจะพบว่าทุนนิยมโลกกำลัง “ป่วย” เศรษฐกิจชะงักงัน ความเหลื่อมล้ำสูงลิ่ว เงินล้นโลก อุปทานล้น ในขณะที่คนจนตกงานหรือไม่มีปัญญาจับจ่าย แน่นอนประชาธิปไตยทุนนิยมมีปัญหา ส่งผลสะท้อนการเมืองในประเทศต่างๆ ให้ต้องปรับเปลี่ยน คงใช้อีกช่วงเวลาหนึ่งกว่าจะลงตัว

ทำให้ทั่วโลกเกิดความสับสน เกิดกระแสต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในรูปรัฐศาสนา รัฐชาตินิยม ศีลธรรมนิยม หรือหันไปนิยมระบอบผูกขาดอำนาจ แบบชี้ว่า เห็นไหม จีนไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ยังเศรษฐกิจรุ่งเรืองได้

แหม คิดอะไรง่ายจัง จีนมาจากสังคมนิยมที่เมื่อ 40 ปีก่อนยังมีแต่จักรยาน แค่เปิดประเทศ เศรษฐกิจก็โตโดยพลัน

โลกกำลังจะเปลี่ยน เพราะชาวโลกต้องการระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้น ต้องการประชาธิปไตยที่คนระดับล่างมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น เพียงระหว่างนี้ก็สับสนคดเคี้ยวบ้าง อย่าเพิ่งใช้ความเป็นไทยตีขลุมว่า โลกต้องการอำนาจนิยม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน