เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวถึงการประกาศให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

1.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542 มาตรา 40และ 41 การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ป.ป.ช. เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาฯวินิจฉัย แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ 2560 มาตรา 10 (1) และ (4) จะไม่มีการบัญญัติอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาฯ ในเรื่องการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทไว้

โดยมาตรา 10 จะจำกัดเขตอำนาจของศาลฎีกาฯ ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับประเทศเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่นและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 134 เนื่องจากต้องการให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษากรณีเหล่านี้แทนศาลฎีกาฯ

มาตรา 10 ยังบัญญัติให้คดีที่มีการกล่าวหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และกรณีที่กรรมการป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯด้วย ซึ่งเป็นการบัญญัติเพิ่มเติมเขตอำนาจของศาล

2.พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯฉบับใหม่ ไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขให้ป.ป.ช. จะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้เองก็ต่อเมื่อคณะทำงานร่วมที่อสส.และป.ป.ช.แต่งตั้งไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ในการดำเนินคดีดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับเก่า มาตรา 11 เนื่องจากต้องการให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.ใหม่ ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 111 ว่าเมื่ออสส. ได้รับสำนวนคดีอาญาจากป.ป.ช. แล้วให้ อสส.ฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนคดี และหากพ้น 90 วันแล้วให้ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกสำนวนคืนเพื่อฟ้องคดีเองได้ เว้นแต่อสส.มีความเห็นว่าสำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ ให้แจ้งป.ป.ช. ทราบเพื่อร่วมกันตั้งคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ภายใน 90 วัน

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 121 วรรคสอง ยังกำหนดให้กรณีอสส. มีหน้าที่ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ทรัพย์สินของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดตกเป็นของแผ่นดิน แต่อสส.ไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วัน ให้ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เองด้วย

หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 111 และมาตรา 121 วรรคสอง จะทำให้ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เองโดยไม่ต้องผ่านอสส. เพิ่มขึ้นมาจากเดิม ที่กำหนดไว้แค่เฉพาะกรณีคณะทำงานร่วมที่อสส.และป.ป.ช. แต่งตั้งไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ในการดำเนินคดีดังกล่าว

การเพิ่มขอบเขตอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้เองของป.ป.ช. ตามมาตรา 111 รวมทั้งอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 121 วรรคสอง จะต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเหมาะสมเพียงใดด้วย อีกทั้งตามมาตรา 111 และมาตรา 121 วรรคสอง ไม่ได้กำหนดว่าเมื่อเรียกสำนวนคืนมาจากอสส.แล้ว ป.ป.ช.จะต้องฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในกี่วัน การที่ป.ป.ช. จะฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลเอง จึงอาจจะยิ่งทำให้การดำเนินคดีล่าช้าออกไปมากกว่าเดิมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน