คดีบ้านหลวง-ในมุมนักกฎหมาย

: รายงานการเมือง

 

คดีบ้านหลวง-ในมุมนักกฎหมาย : รายงานการเมือง – เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สำหรับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม หลุดคดีใช้บ้านพักหลวง หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย เพราะมองกฎหมายในแง่มุมที่ต่างไป แม้แต่มุมมองของนักกฎหมาย อดีตผู้พิพากษา

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตป.ป.ช. อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

โดยหลักของการจะวินิจฉัยคดีต้องยึดรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ส่วนระเบียบคือ กฎหมายที่ทุกคนจะปฏิบัติตามโดยเฉพาะในส่วนราชการนั้นๆ ต้องถือปฏิบัติ แต่ระเบียบของกองทัพจะไปขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่ได้ เราต้องถือรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่

ข้อสำคัญ ถ้าเป็นบ้านประจำตำแหน่ง ข้าราชการทั่วๆ ไปถ้าไม่ดำรงตำแหน่งแล้วก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นบ้านพักรับรองก็มีปัญหา ในความเห็นส่วนตัวของตนคำว่าบ้านพักรับรองหมายความว่า ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่มีกำหนด ไม่ใช่อยู่เป็นหลายๆ ปี เพราะถ้าอย่างนี้ไม่ใช่บ้านพักรับรองแล้วแต่อยู่เป็นบ้านอาศัย

อีกอย่างหนึ่งคือกระทบต่องบประมาณแผ่นดินด้วย เพราะบ้านพักถ้าหากคนที่ดำรงตำแหน่งเข้ามาอยู่ พอเกษียณแล้วไม่ออก คนที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งใหม่จะไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องไปสร้างบ้านใหม่เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณใช่หรือไม่ การพักอยู่เป็นหลายๆ ปี มันไม่ใช่ความหมายของบ้านพักรับรอง

ถ้าจะอ้างว่าทำคุณงามความดี คิดว่าอ้างไม่คิด เพราะข้าราชการฝ่ายอื่นเขาก็ทำคุณงามความดีกับประเทศชาติทั้งนั้น

ครั้นจะบอกว่าเป็นนายกฯ ต้องมีคนดูแลเรื่องความปลอดภัย แต่นายกฯ หลายคนเขาก็มีบ้านพักของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในบ้านพักของทหาร แน่นอนขณะที่ดำรงตำแหน่งต้องมีคนดูแลเรื่องความปลอดภัย ดังนั้น จึงอ้างไม่ได้ในเรื่องความปลอดภัย

ที่แปลกใจคือทำไมจึงไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของความประพฤติมิชอบที่จะต้องไปยืนต่อคณะกรรมการป.ป.ช. เพราะเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะพ้นจากตำแหน่งแล้วก็น่าจะออกจากบ้านพัก ถือเป็นเรื่องของความประพฤติมิชอบตามมาตรา 157 ถ้ายื่น ป.ป.ช. ถ้าสอบพบว่ามีมูลความผิดก็จะส่งไปที่อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ไม่เข้าใจว่าทำไมไปมุ่งที่มาตรา 184 ในเรื่องรับประโยชน์เกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของป.ป.ช. มีบทบัญญัติเรื่องนี้ว่าห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับประโยชน์เกิน 3,000 บาท ดังนั้นทำไมไม่ไปยื่นต่อป.ป.ช.

เมื่อครั้งที่มีการร้องถอดถอนกรณีของนายกฯสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่มีกฎหมายเรื่องของผู้จ้าง ผู้รับจ้าง แต่ไปเอาการวิเคราะห์คำตามพจนานุกรมว่ากรณีนี้ถือเป็นการจ้าง ซึ่งอาจคล้ายกัน เนื่องจากครั้งนี้เป็นการฟ้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 แต่ทำไมไปเอาระเบียบมาพิจารณาก็ไม่ทราบ

ส่วนตัวกำลังหาคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์มาอ่านว่า วินิจฉัยตามที่คนฟ้องหรือไม่ หรือไม่วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแต่ไปวินิจฉัยเรื่องระเบียบ ซึ่งโดยหลักการแล้วระเบียบจะมาเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้

หากถามว่าเคสนี้จะทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงความลักลั่นทางกฎหมายได้ ก็ต้องบอกว่าน่าจะเป็นไปได้ ข้าราชการฝ่ายอื่นอาจเกิดความรู้สึกได้ว่ากรณีที่อ้างเรื่องทำคุณประโยชน์ หรือทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ เขาก็รู้สึกว่าเขาก็ทำ แต่ไม่เห็นจะต้องอยู่บ้านหลวง ใช้น้ำ ใช้ไฟฟรี

อีกอย่างหนึ่งคือกรณีที่ผู้ร้องร้องประเด็นผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยเรื่องจริยธรรมนี้ด้วย ทั้งที่เรื่องจริยธรรมไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ในอำนาจของป.ป.ช. และถ้าป.ป.ช. พิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องส่งต่อไปที่อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เช่นกัน

ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงไปวินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย ทำให้เกิดการตีความและเกิดคำสั่งผูกพันศาล ซึ่งคิดว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องขัดจริยธรรม

ฉะนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยหรือใครก็สามารถไปยื่นป.ป.ช.ได้ในเรื่องของจริยธรรม แต่จะได้ผลแค่ไหนไม่ทราบ เพราะส่วนตัวตอนนี้ตนรู้สึกเหนื่อยใจมาก เป็นยามที่บ้านเมืองวิกฤตจริงๆ

 

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

เพื่อความเป็นธรรมอาจต้องรออ่านคำวินิจฉัยตัวเต็มว่าจะ เป็นอย่างไร แต่เบื่องต้นฟังแล้วอาจยังไม่เคลียร์ ครั้งนี้เป็นการกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะมาตรา 184 (3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่หน่วยปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ

เจตนารมณ์ของหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ต้องการ ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปเรียกรับผลประโยชน์ การไปรับเงิน รับทอง เกรงว่าอาจไปใช้อำนาจในตำแหน่งในลักษณะเอื้อประโยชน์ ตอบสนองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลักษณะของการเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ศาลจะมุ่งไปที่กองทัพบกว่ามีอำนาจออกฎระเบียบ อ้างระเบียบของกองทัพบกว่ามีอำนาจทำได้ และพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ตามระเบียบ

ในมุมกลับกัน ตามข้อกล่าวหาเข้าลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ ศาลจะตรวจสอบเรื่องของกองทัพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าไปพิสูจน์ด้วยว่าผู้รับผลประโยชน์มีลักษณะของพฤติกรรมการใช้อำนาจของตัวเองไปเอื้อประโยชน์กองทัพด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่มีปรากฏจากการอ่านคำวินิจฉัยของศาล

การจะกล่าวหาใครว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ ต้องมุ่งตรวจสอบ 2 ทาง คือกองทัพ และตรวจสอบนายกฯ ผู้รับประโยชน์ว่ามีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ของกองทัพหรือไม่ ซึ่งยังไม่เห็นศาลพิจารณาสถานะความเป็นรมว.กลาโหม แต่ไปดูเรื่องความเป็นนายกฯ และอดีตผบ.ทบ.ที่เชื่อมโยงกับระเบียบกองทัพ เราจะพิจารณาวินิจฉัยคดีการกล่าวหาความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มีตำแหน่งรมว.กลาโหม

หากเปรียบเทียบคดีของอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ที่จัดรายการชิมไปบ่นไป แล้วหลุดจากตำแหน่ง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่นายสมัครรับเงินตรงนั้นแล้วถูกตีเป็นลูกจ้างต้องพ้นจากนายกฯ เพราะต้องไปตรวจสอบโดยศาลว่าการรับประโยชน์ตรงนั้นมีผลต่อการตัดสินใจเอื้อประโยชน์กับบริษัทผู้จ้างหรือไม่ แต่ศาลก็ไม่ได้ตรวจสอบ เพียงแค่ตีความว่าเป็นลูกจ้าง

เทียบกับกรณีพล.อ.ประยุทธ์ อาจต่างเรื่องกันแต่ลักษณะพิสูจน์แทบไม่แตกต่างกันเลย ใช้มาตรวัดเดียวกันคือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อเราเอามาตรวัดเข้าไปดูว่าการออกนโนบายทำให้กองทัพได้เปรียบหรือไม่ ศาลก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ทั้ง 2 คดีศาลไม่พิจารณา แต่นายสมัครโดนให้ออก แต่พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่

ดังนั้นในเชิงลักษณะกฎหมาย ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ถูกต้องจริงๆ ส่งผลให้เวลาที่มีการกล่าวขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ที่ห้ามไม่ให้ส.ส. หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกฯ รับผลประโยชน์ ทำหน้าที่ได้ไม่เป็นไปตามต้องการ

ดังนั้น การที่ศาลไม่เข้าไปพิเคราะห์ การป้องกันการแทรกแซงการใช้อำนาจรัฐในหน่วยงานราชการ อาจส่งผลให้มีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงเรื่องพวกนี้ได้

ส่วนในทางการเมืองแน่นอนว่า คำวินิจฉัยครั้งนี้ อาจส่งผลไม่มากก็น้อยต่ออุณหภูมิความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะครั้งนี้มติเอกฉันท์ 9-0 มีนัยยะสำคัญที่กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าศาลไปในทางเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่านายกฯเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

เมื่อคำวินิจฉัยเป็นคุณกับคู่ขัดแย้งทำให้ผู้ชุมนุมเกิดข้อสงสัย ถ้าศาลตัดสินแล้วอธิบายก็ช่วยให้เข้าใจได้แต่เรายังไม่เห็นคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ดังนั้น หลังจากนี้อุณหภูมิทางการเมืองยังคงมีอยู่ และอาจเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

เข็มทอง ตันสกุลรุ่งเรือง
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

นักนิติศาสตร์หลายคนเริ่มพูดตรงกันว่าเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ยังไม่ถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่น แต่อยู่ในสถานการณ์หรือจุดที่คนดูแล้วสงสัยในความเป็นกลาง การวินิฉัยต้องดูตัวบทกฎเกณฑ์ ระเบียบว่าอนุญาตให้รับผลประโยชน์นั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องไปดูว่าปกติหรือไม่ ไม่ทำให้เสียความเป็นกลางจริงหรือเปล่า

เรื่องนี้มีจุดที่น่าสงสัยหลายจุด หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามีการเปลี่ยนสถานะจากบ้านพักเป็นบ้านพักรับรองช่วงปี 2555 ใครเป็นคนเปลี่ยน ดูตามข้อมูลแล้วคนที่เปลี่ยนคือผบ.ทบ. หรือก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ตัวเองหรือไม่

ยังไม่รวมกรณีที่ว่าไม่ใช่อดีตผบ.ทบ.ทุกคนจะได้อาศัยอยู่ เพราะบางคนก็ต้องย้ายออก แต่ที่ชัดเจนคือถ้าเทียบกับคดีอื่นๆ ศาลตีความไปไกลมาก ในทำนองที่ว่าแม้จะมีระเบียบมีกฎหมายอยู่ แต่ดูจากพฤติกรรมแล้วไม่เชื่อว่าเป็นกลาง

เช่น กรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คดีโอนหุ้นสื่อ ทำเอกสารเรียบร้อยหมด แต่ศาลไม่เชื่อว่าเอกสารนั้นจริงเพราะมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีพิรุธ ถ้าศาลมองไกลขนาดนี้ก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน

เกณฑ์เดียวกันกับกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ดูสภาพการอยู่อาศัยว่าเป็นปกติของอดีตผบ.ทบ.ทุกคน รวมทั้งอดีตผบ.ทบ.ที่เป็นนายกฯด้วยหรือไม่ ตัวระเบียบมันขัดกับการให้ประโยชน์หรือไม่ การให้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจคือรับบริการค่าน้ำ ค่าไฟ จากรัฐวิสาหกิจจะถือเป็นประโยชน์ในแง่ไหน หรือมีแค่ข้าราชการทหารที่ยอมรับยกเว้นระเบียบแบบนี้

ทำให้ยิ่งเกิดความสงสัยว่าการได้ประโยชน์อย่างการ พักอาศัยอยู่ในที่ของกองทัพ ทำให้เกิดความไม่เป็นกลางหรือไม่

อาจพูดไม่ได้เต็มคำนักว่าระเบียบกองทัพใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ขอพูดแค่ว่าตอนนี้มันมีระเบียบกองทัพอยู่จริง แต่ศาลไม่ได้ไปต่อว่าระเบียบนั้นมันขัดกันด้วยผลประโยชน์หรือไม่ เรียกว่าศาลไม่ได้ตรวจสอบ เข้มข้นหรือไปถึงจุดเท่าที่ควร ดูแค่ว่ามีระเบียบแล้วก็จบเลย มันง่ายเกินไป

เพราะแนวทางที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเอาจริงเอาจังกับเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์มาตลอด ตีความกว้างขวางมาก เช่น เรื่องของนายสมัคร ที่อาศัยคำว่าลูกจ้าง นายธนาธรโอนหุ้น หรือน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ศาลยังบอกว่าเอื้อประโยชน์ แต่ครั้งนี้เจอระเบียบแล้วศาลจบเลย

ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2560 ตัวกฎหมายมีการเปลี่ยนน้อยมาก แต่วิธีการตีความกับการใช้ในปี 2550 หรือปี 2557 กระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้วกรณีนายธนาธร เทียบกับครั้งนี้การตีความไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องกับประเด็นใหญ่ที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนฝั่งนี้ผิดหมด คนฝั่งนั้นยังไงก็ถูก

ถามว่าเรื่องจะเป็นเงื่อนไขโหมไฟทางการเมืองหรือไม่นั้น มองว่าตอนนี้มันหลุดออกจากประเด็นกฎหมายไปเป็นประเด็นการเมืองแล้ว กฎหมายทำอะไรไม่ได้ก็ไปต่อสู้ในประเด็นการเมือง จากนี้จะไม่แปลกใจเมื่อสู้ในสภากับศาลไม่ได้ คนก็จะออกไปสู้กันที่ถนน ความขัดแย้งย่อมรุนแรงขึ้นแน่นอน

เพราะประเด็นเรื่องบ้านพัก ในใจลึกๆ คนส่วนใหญ่ เชื่อมโยงได้และรู้อยู่แล้วว่ารัฐราชการไทยดูแลข้าราชการด้วยผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ดีกว่าประชาชนคนทั่วไป ทั้งความมั่นคง สวัสดิการ บ้านพัก ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล

และข้าราชการที่ยิ่งดีกว่าบรรดาข้าราชการด้วยกันก็คือข้าราชการทหาร กองทัพมีผลประโยชน์มหาศาล มีดินแดนที่เข้าไปแตะไม่ได้ เรารู้อะไรเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช เป็นตัวจุดประเด็นบ้านพักข้าราชการ

ส่วนข้อเรียกร้องปฏิรูปองค์กรตุลาการเข้าใจว่ามีอารมณ์แล้วว่าควรเปลี่ยนแปลง แต่ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ในมิติไหน การมีศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้ระบบการเมืองแย่ไปทั้งหมด

ในทางสากลเป็นที่ยอมรับให้มีองค์กรหนึ่งมาช่วยวินิจฉัยข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเหตุสมควร เพียงแต่ต้องยอมรับหลักการและความเป็นจริงของเรามันไม่ไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน