ดราม่า”พี่ตูน”

ใบตองแห้ง

สงสารพี่ตูนจัง อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจใส่ “ไนกี้” วิ่งจากใต้จรดเหนือ ระดมเงินบริจาค 700 ล้านบาท จากพี่น้องชาวไทย 70 ล้านคน เพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้ร.พ.ศูนย์ 11 โรง กลับเกิด “ดราม่า” วิพากษ์วิจารณ์อลวน จนน่าห่วงว่าจะเสียกำลังใจ

เข้าใจตรงกันนะ คนวิจารณ์ไม่ได้ต่อต้านการทำความดี แต่สงสัยและสงสารต่างหาก ว่ามันควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ของกระทรวงสาธารณสุขไม่ใช่หรือ ที่ต้องจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้เพียงพอ ไม่ใช่มารอพี่ตูนวิ่ง ซึ่งต่อให้วิ่งจนกล้ามเนื้อสลาย ก็ได้เงินไม่พอกับความต้องการ เอาเรือดำน้ำไปวิ่งรับบริจาคดีกว่าไหม ฯลฯ

มองมุมกลับ ก็เป็นคุณูปการของพี่ตูนเช่นกัน ที่ปลุกสังคมตื่นมาตั้งคำถาม เพียงแต่สังคมก็ต้องเข้าใจปัญหาระบบสาธารณสุขด้วย ไม่งั้นจะเหมือนตอนพี่ตูนวิ่งหาเงินให้ ร.พ.บางสะพาน ซึ่งมีฉวยไปโจมตีระบบบัตรทอง “30 บาทรักษาทุกโรค” ว่าทำให้ ร.พ.ขาดทุนจนต้องพึ่งพี่ตูน ดังนั้น ประเทศไทยไม่ควรดันทุรังให้รักษาฟรีอีกต่อไป

อุตส่าห์วิ่งแทบตาย หาเงินให้ ร.พ. กลับถูกฉวยไปโจมตี ว่าควรเลิกรักษาฟรี อย่างนี้ก็มีด้วย

ปัญหาระบบสาธารณสุข ซึ่งกำลังขัดแย้งเรื่องแก้กฎหมายบัตรทอง ก็เป็นชนวนดราม่า เพราะมีคำถามว่าทำไมเอาเงินไปช่วย ร.พ.ศูนย์ 11 แห่ง (รวมทั้ง ร.พ.พระมงกุฎฯ สังกัดกลาโหม) ซึ่งก็คือ ร.พ.ใหญ่ในเมืองใหญ่ ทำไมไม่ช่วย ร.พ.ทั่วไป หรือ ร.พ.ชุมชนในถิ่นกันดาร ซึ่งขาดอุปกรณ์การแพทย์เหมือนกันหมด

ก็เห็นใจพี่ตูน เนื้อหนูปะเนื้อช้างแมมมอธ ปะตรงไหนก็ถูกมองว่าเหลื่อมล้ำ ทีมงานคงตัดสินใจเลือก ร.พ.ศูนย์ซึ่งดูแลคนไข้จำนวนมาก ให้คนได้ประโยชน์จากเงินบริจาคมากที่สุด

เพียงแต่ระบบสาธารณสุขของเราเป็นระบบหลักประกันถ้วนหน้า ซึ่งมีปัญหาทั้งการจัดสรรงบและบุคลากร พอเอาเงินก้อนพิเศษหย่อนตรงไหน แม้เป็นก้อนอิฐเล็กๆ ก็กระเพื่อมไปหมด

ในระบบปัจจุบัน ร.พ.สังกัด สธ. ได้แก่ ร.พ.ศูนย์ 33 โรง ร.พ. ทั่วไป 83 โรง ร.พ.ชุมชน 723 โรง สามารถของบจัดซื้ออุปกรณ์จากกระทรวง แต่ก็เป็นไปตามระบบราชการคือได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าอยากซื้อเองก็ต้องใช้เงินบำรุง ซึ่งมาจากค่ารักษาระบบต่างๆ บัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม ฯลฯ รวมทั้งเงินบริจาค แต่ทุกวันนี้ก็โวยว่า “ขาดทุน” โดยเฉพาะ ร.พ.ศูนย์ ร.พ.ทั่วไป

ดราม่าจึงบังเกิดเพราะคำว่า “ขาดทุน” นี่ด้วย เพราะเป็นประเด็นถกเถียงกันในการแก้กฎหมายบัตรทอง ร.พ.ใหญ่อ้างว่าขาดทุนเพราะ สปสช. “ยัก” จ่ายค่ารักษาไม่เต็มตามที่ขอเบิก ทั้งที่ สปสช.ไม่ได้อมเงิน แค่จ่ายตามเกณฑ์มาตรฐาน และจ่ายรวมงบเงินเดือน ที่ไหนมีแพทย์พยาบาลมากแต่ดูแลประชากรน้อย ก็มัก “ขาดทุน” หรือบริหารขาดประสิทธิภาพก็ “ขาดทุน”

สุดท้าย สธ.ก็แก้กฎหมายตามความต้องการของแพทย์พยาบาล ผู้บริหาร ร.พ.ใหญ่ ให้แยกเงินเดือนจากงบบัตรทอง ที่จะทำให้เหลื่อมล้ำไปใหญ่

พี่ตูนวิ่งเข้ามาตรงนี้พอดี จะรับบริจาคช่วย ร.พ.ศูนย์ หลายคนจึงอีหลักอีเหลื่อ แม้อันที่จริงไม่เป็นไร บริจาคไปเถอะ ยังไงก็เป็นประโยชน์ส่วนรวม

แต่ถ้าจะให้ดี ร.พ.ทั้งหลายควรแจ้งว่าจะเอาเงินไปซื้ออะไร สธ.ก็ควรแถลงว่าไม่ต้องห่วงความเหลื่อมล้ำ เดี๋ยวเกลี่ยงบรัฐลง ร.พ.ชุมชนให้

ถ้ามองเจตจำนงของพี่ตูน ที่บอกว่า “การวิ่งระดมทุนครั้งสุดท้าย” ต้องการเรียกให้คนหันมามอง และรู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่ ในแง่นี้ การวิพากษ์วิจารณ์อาจถือเป็นความสำเร็จเกินคาดก็ได้ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดสรรงบ ความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข ไปจนถึงการระดมเงินบริจาคในสังคมไทย

บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ TDRI ชี้ว่าแต่ละปีคนไทยบริจาคเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่มีคำถามว่าเราได้เห็นผลลัพธ์อะไร เงินบริจาคได้นำไปใช้ในจุดที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่

จริงนะครับ กล่องบริจาคตามวัดตามห้างนี่ล้นเชียว แต่ไม่รู้ประสิทธิผลแค่ไหน ไม่ได้ว่าคนรับคนให้ซึ่งล้วนตั้งใจดี แต่ถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดี คนใจบุญก็ได้แต่ช่วยตามมีตามเกิด เหมือนเมื่อก่อน ร.พ.ใช้ระบบคนไข้อนาถา ขึ้นกับหมอใจบุญให้ความอนุเคราะห์ แต่พอมี “30 บาทรักษาทุกโรค” ก็รักษาโดยถ้วนหน้า แล้วถ้าใครอยากบริจาคเสริม ก็มาเติมเงินเข้าระบบ

ถ้าสังคมไม่มีระบบสวัสดิการที่ดี ไม่มีสิทธิถ้วนหน้าด้านต่างๆ ต่อให้คนดีบริจาคกันปีละเป็นแสนล้าน ก็แก้ไขความขาดแคลนได้ไม่หมดหรอก ตรงกันข้าม อาจเหลื่อมล้ำหนัก ขึ้นด้วย

อยากช่วยพี่ตูน ก็ต้องช่วยกันวิพากษ์ระบบ (หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน