“ก้าวไกล” ย้ำ อำนาจต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ เตือน รัฐบาลอย่าเล่นลิ้นปล่อยประชาชน เคว้งคว้าง ‘ล็อกดาวน์กันเอง’ จี้ เยียวยาพร้อมควบคุมเร่งด่วน

วันที่ 7 ม.ค. นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเห็นต่อการที่รัฐบาลเริ่มประกาศใช้มาตรการเข้มข้นในการจำกัดสิทธิ์ของประชาชนในบางพื้นที่เป็นพิเศษ เช่น กรณีพื้นที่ 5 จังหวัด (สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยระบุว่า

แม้จะมีการเล่นลิ้นว่า “ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา” รัฐบาลคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการจำกัดสิทธิ์ที่ใช้เป็นพิเศษในพื้นที่เหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน รายได้ และปากท้องของประชาชนในพื้นที่เหล่านี้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อกลุ่มคนเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อยที่ต้องหาเช้ากินค่ำ

“รัฐบาลมีหน้าที่ต้องออกมาตรการเยียวยาให้ประชาชนแต่ละกลุ่ม ในแต่ละจังหวัดที่ถูกจำกัดสิทธิ์ ให้พวกเขาได้มีชีวิตรอดจากปัญหาปากท้อง เพราะสำหรับพวกเขาปัญหาปากท้องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่รัฐบาลกลัวว่าพวกเขาจะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้คนอื่น

แต่ทุกวันนี้ ศบค. มุ่งแต่จะขู่ให้ประชาชนกลัว หวาดระแวงซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างความสับสน ประชาชนในแต่ละกลุ่มในแต่ละพื้นที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ เดินทางข้ามจังหวัดแล้วต้องทำตัวอย่างไร พรรคก้าวไกลจึงอยากเห็นการปรับบทบาทของ ศบค. และรัฐบาล ให้คิดใหม่ทำใหม่ เอาประชาชนเป็นที่ตั้งแล้วถามตัวเองบ่อยๆว่า หากคุณเป็นเขา คุณอยากรู้อะไร อยากได้อะไร”

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า มาตรการจำกัดสิทธิ์ต้องใช้ควบคู่ไปกับมาตรการเยียวยา เมื่อรัฐบาลให้อำนาจไปกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการจำกัดสิทธิ์แล้ว ก็ควรประกาศมาตรการเยียวยาควบคู่กันไปด้วย ประชาชนแต่ละกลุ่ม ในแต่ละจังหวัดควรได้รับรู้ว่าเขาจะต้องทำตัวอย่างไร ได้รับการเยียวยาจากที่ไหน อย่าปล่อยให้ประชาชนสับสน เคว้งคว้างและสิ้นหวังอีก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประชาชนกำลังอยู่ท่ามกลางความสับสนของข้อมูลข่าวสาร เนื่องมาจากประกาศต่างๆของภาครัฐ หรือแต่ละจังหวัดแม้จะมีพื้นที่ติดต่อกัน แต่กลับออกมาตรการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นำไปสู่ความวิตกกังวลของประชาชนในเรื่องการล็อกดาวน์ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งหนึ่งที่ที่สำคัญและเป็นปัญหามากคือ

ตอนนี้ไม่เพียง 5 จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเท่านั้น แต่กลายเป็นว่ามาตรการในบางจังหวัดกลับมีความเข้มข้นของมาตรการไม่ต่างกัน เรียกว่าเป็นการออกมาตรการที่เข้มงวดเกินกว่าความจำเป็น ซึ่งไม่แน่ใจว่าเพื่อแลกกับผลตัวเลขว่า มาตรการดี มีผู้ติดเชื้อที่ต่ำ โดยไม่มองว่าอาจกลายเป็นการตัดโอกาสทำมาหากินของประชาชน

ซึ่งสำหรับบางรายถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะลุกขึ้นได้แต่กลับโดนซ้ำเติมให้ต้องล้มลงอีกครั้ง อย่างกรณีพื้นที่สีส้มบางจังหวัดยังไม่พบผู้ป่วยเลยในการะบาดระลอกใหม่ แต่กลับมีการดำเนินมาตรการที่ค่อนข้างเข้มข้น บางจังหวัดเพิ่มการควบคุมเวลาเปิด-ปิดร้านอาหารแล้ว หรือหลายจังหวัดในพื้นที่สีส้มและสีเหลือง ก็ออกมาตรการยังบังคับให้ผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ต้องกักตนเอง หรือมีการตั้งด่านเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำโดยเร่งด่วนเพื่อคลายความสับสน ลดความลักลั่น ขาดเอกภาพในการออกมาตรการคือ การสร้างความชัดเจนตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ใช้ถ้อยคำกำกวมชวนตีความ ต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่แน่นอนสำหรับการใช้อำนาจผู้ว่าฯ ในการออกมาตรการรายจังหวัดให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและศักยภาพการจัดการผู้ติดเชื้อในพื้นที่

หลายประเทศที่ใช้วิธีแบ่งโซนพื้นที่ออกเป็นระดับหรือสีต่างๆตามความความรุนแรงของการแพร่ระบาดเหมือนที่เราใช้ จะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนด้วยว่าสีเดียวกันจะใช้มาตรการเหมือนกันหมด ไม่ว่าการจำนวนการรวมกลุ่มหรือชุมนุมกัน การเปิด-ปิด ร้านอาหาร และผับบาร์ การทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ และอีกสิ่งที่รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้กระทำคือ ออกมาตรการเยียวยาไปพร้อมๆ กับมาตรการควบคุมด้วย

หรือหากจะให้ผู้ว่าฯมีอำนาจจัดการได้ตามสถานการณ์ของพื้นที่ รัฐบาลกลางก็ต้องพร้อมที่จะทำหน้าที่สนับสนุนมาตรการเหล่านั้น เลิกเลี่ยงบาลีที่จะชดเชยความเสียหายให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ต้องเป็นใช้อำนาจไปพร้อมๆ กับรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการของรัฐ หยุดมองประชาชนเป็นภาระ แต่ต้องมองเป็นเจ้าของภาษีที่ควรได้รับการปกป้องและไม่ควรต้องเสียสละในความผิดที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นมา” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน