เมื่อวันที่ 16 ต.ค. พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน สนช. กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ไม่เห็นด้วยกับการที่กรรมาธิการ(กมธ.)ปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยตัดเนื้อหามาตรา 7 วรรคสามในร่างเดิมของกรธ.เรื่องการให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)สามารถไต่สวนเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่กระทำทุจริตทิ้งไปว่า ประเด็นดังกล่าว กมธ.ลงมติไปแล้วว่า ให้ตัดข้อความมาตรา 7 วรรคสามทิ้งทั้งหมด เพราะพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว การให้ผู้ว่าฯสตง.เข้ามาไต่สวนเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่ทุจริตได้นั้น เป็นการก้าวล่วงอำนาจการทำงานป.ป.ช. ตามที่ป.ป.ช.ท้วงติงมาจริง และยังพบว่า เป็นการให้เลือกไต่สวนได้เฉพาะองค์กรป.ป.ช. อย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่องค์กรอื่น สตง.ไม่สามารถเข้าไปไต่สวนทุจริตได้ ดังนั้นกมธ.มองว่า ถ้าจะให้สตง.มีอำนาจเข้าไปไต่สวนการทุจริตได้ ต้องทำได้ทุกองค์กร ไม่ใช่เลือกเฉพาะป.ป.ช. จึงให้ตัดข้อความมาตรา 7 วรรคสามทิ้งทั้งหมด
ส่วนที่กรธ.ยืนกรานว่า ถ้าสนช.ไม่ทบทวนเรื่องดังกล่าว จะขอโต้แย้งให้มีการตั้งกมธ.ร่วมนั้น อย่าไปห่วงเรื่องการตั้งกมธ.ร่วม ถ้าจำเป็นก็ต้องตั้ง เพราะกมธ.ยืนยันจะไม่ถอย และกรธ. ก็คงไม่ถอย กมธ.พิจารณาเจตนารมณ์แล้ว เห็นว่าข้อท้วงติงของป.ป.ช.ถูกต้อง จึงให้ตัดข้อความทิ้งไป การที่กรธ.ระบุว่า เหตุผลที่ให้สตง.ไต่สวนทุจริตป.ป.ช.ได้ เพื่อเป็นไปตามหลักการถ่วงดุลระหว่างองค์กรนั้น เรื่องนี้หากสตง.เห็นว่า ป.ป.ช.มีการทุจริตสามารถยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าไปตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้สตง.เข้าไปไต่สวนเอง
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า เนื้อหาที่กรธ.เห็นแย้งกับกรธ.ถือเป็นความเห็นต่าง ต้องไปว่ากันในที่ประชุมสนช.ว่าจะเห็นด้วยกับกมธ.หรือไม่ แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นความเห็นแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ถ้ากรธ.ยังยืนกรานตามหลักการเดิม คงต้องตั้งกมธ.ร่วมขึ้นมาทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง คาดว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก ไม่ทำให้เสียเวลามากมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน