เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุม สนช. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมด 114 มาตรา

โดยที่ประชุมถกเถียงกันหนักในมาตรา 7 วรรคสาม ที่กมธ.แก้ไขร่างเดิมของกรธ. โดยตัดเรื่องการให้อำนาจผู้ว่าฯสตง. สามารถไต่สวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่ทุจริตทิ้งไป เพราะเห็นว่าเป็นการกล่าวล่วงอำนาจการตรวจสอบของป.ป.ช. ทำให้หน่วยงานอื่นล่วงรู้ความลับสำนวนไต่สวนป.ป.ช.

แต่กมธ.เสียงข้างน้อยและสนช.บางส่วน อาทิ นายฐิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ เชิดบุญเมือง เห็นว่าไม่ควรตัดอำนาจผู้ว่าสตง.ไต่สวนเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่ทุจริตทิ้ง เพราะการให้สตง.ตรวจสอบป.ป.ช. เป็นการถ่วงดุลองค์กรอิสระให้เกิดความน่าเชื่อถือเรื่องความโปร่งใส

ขณะที่กมธ.เสียงข้างมาก และสนช.บางส่วน อาทิ พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ ยังคงยืนกรานให้ตัดอำนาจสตง.ในการไต่สวนเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.

โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบ ยังถูกตรวจสอบได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทุจริต ยังมีสิทธิถูกตรวจสอบ โดยยื่นเรื่องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ ที่ผ่านมามีคดีที่เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ถูกฟ้องกรณีทุจริตยื่นฟ้องต่อศาลถึง 25 คดี และที่ผ่านมาป.ป.ช.ยังเคยลงมติลงโทษเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ระดับซี 9 ด้วยการไล่ออกมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าป.ป.ช.ถูกตรวจสอบได้อยู่แล้ว และมั่นใจว่าผู้บังคับ บัญชาไม่มีใครกล้าปกป้องเจ้าหน้าที่ทุจริต เพราะจะมีโทษเป็นสองเท่าข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากเกรงว่าจะเกิดความโน้มเอียงเรื่องความเที่ยงธรรม ก็ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบป.ป.ช.ได้อีกทาง

ทั้งนี้มีการถกเถียงมาตราดังกล่าวนาน 2 ชั่วโมงกว่า ในที่สุดกมธ.เสียงข้างมากยอมปรับเนื้อหามาตรา 7 วรรคสาม เป็นในกรณีที่ผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทราบ และให้ผู้ว่าฯสตง.มีอำนาจไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์ที่ป.ป.ช.กำหนด แต่ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่า การดำเนินการของผู้ว่าฯสตง.กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. สามารถแจ้งให้ผู้ว่าฯสตง.ยุติการการไต่สวนเบื้องต้น เพื่อส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายในมาตราที่เหลืออย่างกว้างขวางจนครบ 114 มาตรา

ต่อมาเวลา 18.00 น. เป็นการอภิปรายในส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 107 ที่กมธ.เสนอให้ ประธานและกรรมการคตง. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป โดยให้นับวาระดำรงตำแหน่งตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

ส่วนมาตรา 108 กมธ.มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ว่าฯสตง.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวรรคท้ายของมาตรา 108 กำหนดให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯสตง. ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับ ให้ถือว่าเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯสตง.มาก่อนตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยพล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ประธานกมธ. ชี้แจงว่า ใครที่เคยเป็นผู้ว่าฯสตง. เป็นได้แค่ครั้งเดียว ไม่สามารถกลับมาเป็นได้อีก เพราะมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ระบุชัดเจนถึงคุณสมบัติผู้ว่าฯสตง. ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ขณะเดียวกันยังมีสมาชิกอภิปรายถึงการสรรหาผู้ว่าฯสตง.ที่เปิดรับสมัครอยู่ขณะนี้ โดยมีอดีตผู้ว่าฯสตง.มาสมัคร ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในกรณีนี้ด้วยหรือไม่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กมธ.ชี้แจงว่า การสรรหาผู้ว่าฯสตง.ขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไป คนที่เป็นอดีตผู้ว่าฯสตง. แม้จะมาสมัครได้ แต่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง

หลังจากที่ประชุมอภิปรายเรียงมาตราจนครบ 114 มาตราแล้ว ได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 170 ต่อ0 งดออกเสียง 4 โดยส่งร่างกฎหมายให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรธ. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณา เกือบ 9 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ว่าฯสตง. ทำให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯสตง. รวมถึงอดีตผู้ว่าฯสตง.ทุกคน ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯสตง.รอบใหม่ได้ เพราะ มีคุณสมบัติขัดต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน