ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 3 ปี เบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลังสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร และถูกป.ป.ช. ยื่นฟ้องผิดกฎหมายมาตรา 157 คดีภาษีหุ้นชิน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเข้าทัณฑสถานหญิงก่อน หลังศาลฎีกาไม่มีคำสั่งให้ประกัน สนช.ถกเดือดพ.ร.ป.ว่าด้วย สตง.สุดท้ายไม่ตัดมาตรา 7 ให้อำนาจผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบป.ป.ช. ได้ แต่ปรับแก้ใหม่ว่ากรณีเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทราบ และมีอำนาจไต่สวนเบื้องต้น แต่ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ถ้ากระทบ ป.ป.ช.ให้ยุติและดำเนินการเอง

‘บิ๊กตู่’นั่งหัวโต๊ะประชุมก.น.จ.

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 19 ต.ค. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ หรือก.น.จ.

นายกฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า รัฐบาล และคสช. มีแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการราชการแผ่นดินให้ระดับภาคเกิดความเข้มแข็ง อยากให้ทุกอย่างเดินหน้ารวดเร็วขึ้นกว่าเดิมจากที่วางแผนไว้ จึงต้องนำร่องในทางปฏิบัติตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอีกครั้ง เพราะอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ หากปล่อยเวลาล่วงเลยไป การแก้ไขปัญหาจะช้าลง

ซึ่งแต่ละภาคต้องทำให้จังหวัด มีความพร้อมพื้นฐานใกล้เคียงกัน รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ด้วยการกำหนดแผนพัฒนาในแต่ละพื้นที่ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และแบ่งเป็นกลุ่มงานเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่ความมั่นคงในระดับภูมิภาค ขอย้ำว่าการปฏิบัติในเชิงบริหารต้องเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

คาดปมเฟซบุ๊ก-‘สมคิด’ลาป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ก.น.จ. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานกับสื่อมวลชนว่าจะให้สัมภาษณ์ โดยมีการตั้งโพเดียมบริเวณหน้าตึกภักดีบดินทร์ รวมทั้งได้สอบถามประเด็นที่จะขอสัมภาษณ์

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ส่งคำถามเรื่องความชัดเจนในการเดินทางมาพบนายกฯ ของนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผู้ก่อตั้งโซเชี่ยลมีเดียเฟซบุ๊ก รวมทั้งเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม แต่ปรากฏว่าหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ให้เจ้าหน้าที่มาแจ้งสื่อมวลชนว่าไม่ให้สัมภาษณ์ โดยได้เดินกลับออกไปบริเวณทางเชื่อมด้านหลังตึกภักดีบดินทร์ ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยถึงกำหนดการเดินทางของนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะมาเยือนประเทศไทยในปลายเดือนต.ค.นี้ และในวันที่ 30 ต.ค. มีกำหนดเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โฆษกนายมาร์ก แถลงว่า ยังไม่มีแผนที่จะเดินทางมาประเทศไทยนั้น ปรากฏว่าในช่วงเช้าวันนี้ นายสมคิดไม่ได้เข้าร่วมประชุม ก.น.จ. โดยแจ้งลาป่วยต่อที่ประชุม

อุทธรณ์ตัดสินคดีเว้นเก็บภาษีชิน

วันเดียวกัน ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ถนนสีคาม ศาลอ่านคำพิพาก ษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดของเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องแผนกคดีทุจริตฯ ในศาลอาญา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อ ไม่ให้นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควรโดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ยืนจำคุก 3 ปี-เบญจาและพวก

โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2559 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือที่ขัดไป ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากร ซึ่งความผิดสำเร็จตั้งแต่การตอบข้อหารือ โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งหารือมายังสำนักกฎหมาย แล้วนำคำหารือไปใช้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็น ผู้สนับสนุนพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี

ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับ สนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมด จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ต่อมาจำเลยทั้ง หมดได้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 3 เเสนบาท

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้ว เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดฟังไม่ขึ้น ส่วนที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่าสภาพความผิดของจำเลยทั้ง 5 มิได้คำนึงถึงความเสียหายความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีของประเทศ พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายเเรง ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษ ศาลทุจริตเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อทั้งสองศาลคือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนคดี ซึ่งในอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หากจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จะต้องให้ผู้พิพากษาที่ร่วมทำสำนวนหรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรอง ซึ่งคล้ายกับกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง อย่างไรก็ดี มีรายงานแจ้งว่าทางจำเลยเตรียมจะยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นฎีกาด้วย

ยื่นประกัน-จ่อนำคุมขังเรือนจำ

ภายหลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกแล้ว นางเบญจา หลุยเจริญ , น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1-5 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาสู้คดี ซึ่งในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้ง หมดยื่นหลักทรัพย์คนละ 3 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราว โดยการยื่นประกันตัว ครั้งนี้ คาดว่ามากกว่าหลักทรัพย์เดิม

ทั้งนี้ ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ได้ส่งคำร้องของพวกจำเลยทั้งหมด ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ กระทั่งเวลา 16.30 น. ศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งในเรื่องการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 ลงมา หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จะนำตัวจำเลยทั้งหมดไปคุมขัง โดยในส่วนของผู้ชายจะนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่เป็นผู้หญิงจะถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ผบ.ทบ.สั่งแจงห้องน้ำราชภักดิ์

ที่อาคารโพธิญาณมหาวิชชาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ให้กองทัพบกชี้แจงความโปร่งใสในการสร้างร้านค้าและห้องน้ำที่อุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้งบกว่า 15 ล้านบาทว่า ถามว่าผิดตรงไหน เรื่องการสร้างห้องน้ำกับร้านค้า ซึ่งตนจะให้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดในการดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2559 กองทัพบก โดยศูนย์การทหารราบ ค่าย ธนะรัชต์ ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ก่อสร้างอาคารร้านค้าและห้องน้ำจำนวน 5 รายการ วงเงินงบประมาณ 15,950,000 บาท จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้งบประมาณแพงเกินไป

วินธัยยันเหมาะสม-เสร็จปีหน้า

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า มูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งกองทัพบกโดยศูนย์การทหารราบเป็นผู้ดูแลนั้น ถือเป็นสถานที่สำคัญของอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีประชาชนมาเยี่ยมชม และสักการะพระบรมรูปทุกวันจำนวนมาก บางวันมีมากถึงหมื่นคน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีระบบร้านค้าและห้องน้ำไว้บริการภายในพื้นที่อุทยาน

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มูลนิธิ จึงก่อสร้างอาคารร้านค้าเเละห้องน้ำไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนที่มาเคารพสักการะหรือเที่ยวชมอุทยาน ซึ่งรูปแบบการก่อสร้างมีรูปลักษณ์ที่เหมาะสม สอดรับตามภูมิสถาปัตย์ ภายในอาคารประกอบด้วย ร้านค้า 5 ห้อง และห้องน้ำ 52 ห้อง แบ่งเป็นห้องน้ำชาย 21 ห้อง ห้องน้ำหญิง 27 ห้อง และห้องน้ำคนพิการ 4 ห้อง ด้วยงบประมาณของมูลนิธิ ประมาณ 15 ล้านบาท ทั้งนี้ ความคืบหน้าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าน่าจะเสร็จสามารถให้บริการประชาชนเดือนก.พ. 2561

พิเชษฐชี้บิ๊กสุบทเรียนคนนอก

นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์หลังพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนพ.ย. 2561 ว่า ความจริงไม่อยากพูดช่วงนี้ แต่เห็นว่าต่อไปการเมืองต้องวางรากฐานให้แข็งแรง นักการเมืองต้องจับมือกันเพื่อร่วมมือแก้ปัญหา ตนเคยพูดหลายครั้งแล้วจำได้หรือไม่ว่ารูปการณ์จะออกมาแนวๆนี้ เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เอื้อให้มีนายกฯ คนนอก

เมื่อถามว่าเมื่อรู้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเอื้อต่อการมีนายกฯคนนอก นักการเมืองจะเร่งให้มีเลือกตั้งเพื่ออะไร และการประกาศจุดยืนของพรรค 2 ใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชา ธิปัตย์ ก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะไม่เอานายกฯคนนอก พอเป็นไปได้หรือไม่ นายพิเชษฐ กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นตนก็จะทำอย่างนั้น คือประกาศก่อนเลือกตั้งว่าไม่เอา ไม่โหวตคนนอกเป็นนายกฯ แต่ไม่รู้ว่าประชา ธิปัตย์กับเพื่อไทยเขาเอาอย่างไร แต่บทเรียนก็มีแล้ว

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ คล้ายกับวังวนอดีตสมัยพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีต นายกฯ ที่มีคนคัดค้านนายกฯคนนอก ผมเคยเห็นว่ามีกองทัพประชาชนตะโกนว่า บิ๊กสุออกไปๆ สาเหตุการนองเลือดคนตายไปเยอะแยะมาจากอะไรทุกคนรู้ดี คำตอบ คือพล.อ. สุจินดา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเสียสัตย์” นายพิเชษฐ กล่าว

ปปช.ล่าชื่อค้าน-ถูกตรวจสอบ

แหล่งข่าวจากป.ป.ช. เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้ส่งต่อข้อความ ซึ่งเป็นจดหมายเปิดผนึก เพื่อให้ร่วมลงชื่อ แสดงข้อคิดเห็นต่อกรณีกรธ.ยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน หรือพ.ร.บ.สตง. มาตรา 7 วรรคสาม ที่ระบุว่าหากตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ให้ผู้ว่าฯสตง. มีอำนาจไต่สวนเบื้องต้น แล้วให้แจ้งผลต่อคณะกรรมการป.ป.ช. หากมีมูลความผิดก็ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเกิดปัญหาขัดแย้งขององค์กรบังคับใช้กฎหมายระหว่าง ป.ป.ช.และสตง. แม้จะเป็นเพียงขั้นตอนไต่สวนเบื้องต้น แต่อาจเป็นร่างที่มีเนื้อหาขยายขอบเขตหน้าที่อำนาจของผู้ว่าฯสตง.เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 242 และ 244 กำหนด อีกทั้งยังขัดกับมาตรา 234 (2) ด้วย

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ โดยเฉพาะในการดำเนินคดีอาญา บุคลากรที่จะเป็น ผู้ตรวจสอบและดำเนินคดี ต้องอยู่ในกระบวน การยุติธรรมทางอาญาที่มีความรู้ความเชี่ยว ชาญและประสบการณ์ดำเนินคดีอาญา ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ว่าฯสตง. เป็นผู้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช. โดยเฉพาะในหลักประกันการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของป.ป.ช. เนื่องจากหน้าที่และอำนาจของ สตง. เกี่ยวข้องเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในด้านวินัยการเงินและการคลัง มิใช่องค์กรดำเนินคดีอาญา และเจ้าหน้าที่ของสตง. มิใช่เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีอาญา

จี้ตัดมาตรา 7 ออกไปทั้งหมด

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ป.ป.ช. จึงเห็นพ้องกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ร่างดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาประวิงเวลาซึ่งมีอยู่จำกัด โดยการกลั่นแกล้งกล่าวหาพนักงานไต่สวนไปยังผู้ว่าฯสตง. จึงเห็นควรตัดเนื้อหาของร่างมาตรา 7 วรรคสาม ออกทั้งวรรค

เนื่องจากตามปกติ มาตรการที่ใช้ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ตามกฎหมายที่ใช้บังคับนั้นมีหลายประการ อาทิ มาตรการทางวัฒนธรรมองค์กร ห้ามไม่ให้มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ไต่สวน หรือสำนวนคดี ตามมาตรา 46 ของกฎหมายป.ป.ช. รวมทั้งห้ามรับเลี้ยงหรือยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางมาตรฐานทางจริยธรรม และมาตรการเกี่ยวกับโทษสองเท่า หากพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม ตามมาตรา 125 พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.

วันเดียวกัน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะอดีตอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ให้สัมภาษณ์โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพาว่า ให้ไปสอบถามนาย กอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีปภ. โดยขั้นตอนขณะนี้ยังไม่มีการจัดซื้อ แต่เป็นเพียงเห็นชอบในหลักการเท่านั้น

หน่อยยังไม่หลุดโผหน.พท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประเมินของแกนนำหลายคนของพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่ามีความกังวลกับกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ถูกโจมตีว่าทำกิจกรรมแฝงนัยการเมือง แต่รายชื่อของแคนดิเดตผู้นำพรรคยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นคุณหญิงสุดารัตน์เช่นเดิม เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ยังคงให้การสนับสนุน อีกทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ยังมีความแน่นแฟ้นกับนายพานทองแท้ แม้จะเจอสถานการณ์ที่ถูกโจมตีอยู่ในขณะนี้ นายทักษิณและคุณหญิงพจมานยังไม่เคลื่อนไหวอะไร

ดังนั้นข่าวที่คุณหญิงสุดารัตน์จะไปไม่รอดในตอนนี้จึงยังเป็นไปไม่ได้ ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์พยายามลดบทบาทของตัวเองให้เงียบที่สุดหลังเจอกระแสข่าวโจมตีในช่วงนี้ อีกทั้งห้วงเวลานี้ยังไม่ปรากฏชื่อบุคคลอื่นที่จะขึ้นมาเป็นแคตดิเดตแทนคุณหญิงสุดารัตน์

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคมจะขึ้นมาแทนนั้น เป็นการเสนอชื่อจากบรรดาอดีต ส.ส.อีสานเท่านั้น และด้วยบุคลิกของนายชัชชาติเอง แกนนำพรรคบางส่วนได้ประเมินแล้วว่าใจยังไม่ถึง

สนช.ถกหนักมาตรา 7 พรป.สตง.

เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม สนช. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมด 114 มาตรา โดยที่ประชุมถกเถียงกันหนักในมาตรา 7 วรรคสาม ที่กมธ.แก้ไขร่างเดิมของ กรธ. โดยตัดเรื่องการให้อำนาจผู้ว่าฯสตง. สามารถไต่สวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่ทุจริตทิ้งไป เพราะเห็นว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจการตรวจสอบของป.ป.ช. ทำให้หน่วยงานอื่นล่วงรู้ความลับสำนวนไต่สวนป.ป.ช. แต่กมธ.เสียงข้างน้อยและสนช.บางส่วน อาทิ นายฐิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง เห็นว่าไม่ควรตัดทิ้ง เพราะการให้สตง.ตรวจสอบป.ป.ช. เป็นการถ่วงดุลองค์กรอิสระให้เกิดความน่าเชื่อถือเรื่องความโปร่งใส

ขณะที่กมธ.เสียงข้างมาก และสนช.บางส่วน อาทิ พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม พล.ร.อ. ธราธร ขจิตสุวรรณ ยังคงยืนกรานให้ตัดอำนาจสตง.ในการไต่สวนเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.

ในที่สุดไม่ตัด-แค่ปรับวรรค 3

นายกล้านรงค์ จันทิก กมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบ ยังถูกตรวจสอบได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทุจริต ยังมีสิทธิถูกตรวจสอบ โดยยื่นเรื่องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ ที่ผ่านมามีคดีที่เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ถูกฟ้องกรณีทุจริตยื่นฟ้องต่อศาลถึง 25 คดี และที่ผ่านมาป.ป.ช.ยังเคยลงมติลงโทษเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ระดับซี 9 ด้วยการไล่ออกมาแล้ว มั่นใจว่าผู้บังคับบัญชาไม่มีใครกล้าปกป้องเจ้าหน้าที่ทุจริต เพราะจะมีโทษเป็นสองเท่าข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากเกรงว่าจะเกิดความโน้มเอียงเรื่องความเที่ยงธรรม ก็ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบป.ป.ช.ได้อีกทาง

ทั้งนี้มีการถกเถียงมาตราดังกล่าวนาน 2 ชั่วโมงกว่า ในที่สุดกมธ.เสียงข้างมากยอมปรับเนื้อหามาตรา 7 วรรคสาม เป็นในกรณีที่ผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทราบ และให้ผู้ว่าฯสตง.มีอำนาจไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์ที่ป.ป.ช.กำหนด แต่ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่า การดำเนินการของผู้ว่าฯสตง.กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. สามารถแจ้งให้ผู้ว่าฯสตง.ยุติการการไต่สวนเบื้องต้น เพื่อส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายในมาตราที่เหลืออย่างกว้างขวางจนครบ 114 มาตรา

นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯสตง.ได้สมัยเดียว

ต่อมาเวลา 18.00 น. เป็นการอภิปรายในส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 107 ที่กมธ.เสนอให้ประธานและกรรมการคตง. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป โดยให้นับวาระดำรงตำแหน่งตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

ส่วนมาตรา 108 กมธ.มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ว่าฯสตง.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวรรคท้ายของมาตรา 108 กำหนดให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯสตง. ก่อนวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับ ให้ถือว่าเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯสตง.มาก่อนตามพ.ร.บ.ฉบับนี้

พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ประธานกมธ. ชี้แจงว่า ใครที่เคยเป็นผู้ว่าฯสตง. เป็นได้แค่ครั้งเดียว ไม่สามารถกลับมาเป็นได้อีก เพราะมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ระบุชัดเจนถึงคุณสมบัติผู้ว่าฯสตง. ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ผ่านวาระ 3 ฉลุย-อดีตผู้ว่าฯปิ๋ว

ขณะเดียวกันยังมีสมาชิกอภิปรายถึงการสรรหาผู้ว่าฯสตง.ที่เปิดรับสมัครอยู่ขณะนี้ โดยมีอดีตผู้ว่าฯสตง.มาสมัคร ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในกรณีนี้ด้วยหรือไม่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กมธ.ชี้แจงว่า การสรรหาผู้ว่าฯสตง.ขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไป คนที่เป็นอดีต ผู้ว่าฯสตง. แม้จะมาสมัครได้ แต่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง

หลังจากที่ประชุมอภิปรายเรียงมาตราจนครบ 114 มาตราแล้ว ได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 170 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 โดย ส่งร่างกฎหมายให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรธ. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณา เกือบ 9 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ว่าฯสตง. ทำให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯสตง. รวมถึงอดีตผู้ว่าฯสตง.ทุกคนไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯสตง.รอบใหม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติขัดต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน