ส.ส.พลังประชารัฐ หลุดปากรับกลางสภา ระหว่างประชุมร่วมรัฐสภา ปมญัตติส่ง ศาล รธน.ตีความการแก้ไข รธน. ลั่น รัฐธรรมนูญ ปี 60 ไม่ได้มาจากประชาชน!

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระ ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

นายไพบูลย์ เสนอเหตุผลว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด เพราะหากไม่มีการดำเนินการให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ตนห่วงว่า ส.ว.อาจเกรงว่ามีปัญหา การลงมติวาระ 3 อาจจะไม่กล้าให้ความเห็นชอบ อาจงดอกเสียง

ทำให้ได้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ จึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ ญัตติไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราว หรือให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อไปได้

“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว. สบายใจและ การลงมติวาระ 3 ไม่มีปัญหา แต่หากศาลวินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้งกมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์ กล่าว

จากนั้นสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายแสดงความเห็น โดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน รวมถึง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วย เสมือนการดึงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า และการแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) สามารถทำได้ตามมาตรา 256 ขณะที่ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว เพื่อให้ศาลวินิจฉัยได้ข้อยุติในความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดความเสียเปล่าหรือเสียหาย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐบาลเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่เป็นระยะ แม้จะอ้างไม่ใช่ถ่วงเวลา แต่ดูแล้วเป็นญัตติที่เลวร้ายยิ่งกว่า นี่คือการหาหนทางตัดทอนอำนาจของรัฐสภา และประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปตลอดกาล

เป็นความพยายามแช่แข็งประเทศไทย ให้รัฐธรรมนูญ ของ คสช.เป็นฉบับนิรันดร ถ้ายอมรับการตีความแบบนี้ เท่ากับยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญอย่างเดียวใช่หรือไม่ หากยังดื้อดึงจะพาไปสู่ทางตัน ขอให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติพื้นฐาน ทำได้ในสภา อย่าทำให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ ต้องทำผ่านการรัฐประหารอีกเลย

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า กังวลว่าการยื่นให้ศาลตีความจะสร้างความสุ่มเสี่ยงนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญได้ หากศาลตีตกการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะกลายเป็นรัฐสภาเปิดทางให้องค์กรอื่นเข้ามาตัดหน้าขัดขวางการตัดสินใจของประชาชนในการแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงครั้งใหม่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังยากลำบาก

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พปชร. อภิปรายว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้แก้ทั้งฉบับ การจะยื่นให้ศาลญตีความ จึงมองไม่เห็นว่าจะไปขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร และขอให้คำนึงถึงความรู้สึกประชาชนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน จะเอาเหตุผลทางกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้

แม้รัฐธรรมนูญมีสิ่งดีเยอะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่ทหารเป็นผู้ร่าง ทำให้ประชาชน นักศึกษาออกมาบอกว่าอยากได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ไม่ใช่ร่างโดย คสช. จึงไม่ควรจะมายื่นคัดค้านการแก้ไข การยื่นญัตติครั้งนี้ไม่ใช่ส.ส.พปชร.จะเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตนและเพื่อน ส.ส. อีกไม่น้อยเห็นตรงกันข้าม

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายไม่เห็นด้วย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ผ่านมาชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนญัตติของนายไพบูลย์นั้น ตนไม่แน่ใจว่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 156 ที่จะต้องนำมาพิจารณา ทั้งนี้ คนมีความหวังกันมากว่า

เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้การจัดทำร่วมกันของตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง หากความหวังนี้ต้องล่มสลายไป น่าเสียดายว่าหากเมื่อไรคนในประเทศนี้รู้สึกว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำได้โดยการรัฐประหารประการเดียวเท่านั้น

ประชาชนเจ้าของประเทศไม่มีโอกาส ความไม่เป็นมงคลย่อมเกิดขึ้นกับระบบการเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ด้วยเหตุผลทางกฎหมายและทางการเมือง ตนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน