เพจกฎหมายชื่อดัง ไขข้อกฎหมาย เหตุใดศาลอาญาต้องส่งคำร้องขอประกัน “สุเทพ-3 อดีต รมต.” กับพวกให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เผยเป็นไปตามหลักเกณฑ์

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. เฟซบุ๊ก คดีโลกคดีธรรม ซึ่งเป็นเพจกฎหมายชื่อดังได้อธิบายข้อกฎหมายกรณีศาลอาญามีคำสั่งเรื่องการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 8 คนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต่างจากกรณีจำเลยรายอื่นที่ได้ประกัน

ความว่า ตาม​ ป.วิ.อาญา​ มาตรา106 (4) กฎหมายบอกว่า​ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว​ แม้ว่าคดียังไม่มีการอุทธรณ์​ ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นได้​ ถ้าศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว​ ก็ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งได้เลย​ แต่ถ้าศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งเองก็ให้รีบส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง แต่เนื่อง​จาก ป.วิ.อาญา​ มาตรา​106 (4) ไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนลงไปว่า​ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ทุกกรณีเลยหรือไม่​

ดังนั้น​ ทางประธานศาลฎีกา​ จึงออกระเบียบชื่อว่า​ ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ​ศาลยุติธรรม​ ว่าด้วย​การปล่อยตัวชั่วคราว​ พ.ศ.2548 โดยกำหนดให้​ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้เฉพาะอัตราโทษจำคุกไม่กิน​ 3 ปี​ และ​จำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี​ หากเกินจากนี้ให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์สั่ง หรือโทษสูงกว่า 3 ปี​ และศาลชั้นต้นเห็นสมควร​ (เป็นไปตาม​ข้อ​ 4, 5 )​

ดังนั้น​ ในคดีนี้ของแกนนำ​ กปปส.​ จำเลยบางคนที่โทษน้อย​ ศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งคำร้องเอง​ ส่วนจำเลยที่โทษหนัก ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง ​ซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายและดุลยพินิจ​ จำเลยที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว ก็​ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก่อน ตามหมายขังระหว่างพิจารณาที่ศาลออกหลังจากอ่านคำพิพากษาเพื่อรอการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์​ ตามปกติก็ใช้เวลา ​1-2 วันทำการ ​แต่บางคดีอาจจะเป็นสัปดาห์ก็มีเช่นกัน​ แล้วแต่ศาลท่าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน