รัฐสภาวุ่น! ถก‘กม.ประชามติ’ กมธ.ข้างมากแพ้โหวต แต่ส.ว.ไม่ยอม-ขอโหวตใหม่ ”พรเพชร” ต้องสั่งพักประชุม เพื่อปรับแก้เนื้อหา

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.เวลา 15.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

โดยเป็นการพิจารณาวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรา มีทั้งหมด 67 มาตรา โดยในมาตรา 9 เกี่ยวกับให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียง ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย

โดยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภุมิใจไทย อภิปรายเห็นด้วยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อยว่า แม้ที่ผ่านมาฝ่ายนิติบัญญัติจะทำความเห็นไปยัง ครม.แต่อำนาจการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำก็อยู่ที่ครม. แต่หากใช้ร่างของนายชูศักดิ์ จะทำให้ครม.ต้องดำเนินการตามความเห็นที่รัฐสภาส่งไป จะทำให้ความเห็นของรัฐสภาที่ต้องการให้รัฐบาลทำประชามตินั้นรัฐบาบปฏิเสธไม่ได้

ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเห็นแย้งกับ กมธ. ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทำประชามติ เพราะแค่ให้กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็ทำให้เกิดการซื้อเสียงกันอย่างกว้างขวาง การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีกฎหยุบหยิม ป้ายติดอะไร ตรงไหน ขนาดเท่าไหร่กำหนดหมด แต่ใครซื้อเสียงตรงไหนไม่เคยรู้เลยเพราะไม่เคยออกไปดู ตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา กกต.ที่นครสวรรค์รับแต่เงินเดือน ไม่มีการพัฒนาอะไรเลย ถ้าเรายังไปมอบหมายภาระกิจสำคัญให้เขาจัดทำอีก ตนมองไม่ออกเลยว่า กกต.จะจัดให้มีการทำประชามติที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร แถมยังมีการเพิ่มถ้อยคำว่าต้องเสรีและเสมอภาคอีก กกต.จะดำเนินการอย่างไร เพราะแค่ที่ทำกันอยู่ กกต.ยังไม่เคยออกมาดูเลย มีทั้งคะแนนเขย่งและบัตรเขย่งเต็มไปหมด

“ผมมองว่าถ้าเราไปมอบภาระหน้าที่ให้กกต.มากจนเกินไป ผมเกรงว่าจะเละกันไปหมด ขนาดภาคใต้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการซื้อเสียง ท่านยังทำจนเละไปหมดเลย ผมขอถามว่ากกต.จะทำให้การทำประชามติเสมอภาคได้อย่างไร จะเอาวิธีไหนมาทำให้เสมอภาค เพราะแค่การเลือกตั้งที่สุจิรตเที่ยงธรรมท่านยังทำไม่ได้เลย”นายวีระกร กล่าว

หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นแล้ว ทางกมธ.ยืนยันตามร่างที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุม โดยที่ประชุมลงมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไข 534 ต่อ 3 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 และเห็นชอบให้มีการแก้ไขตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ของนายชูศักดิ์ เสนอ

โดยเนื้อหานั้นมีสาระ คือ กำหนด 5 เงื่อนไข ต่อการทำประชามติ ได้แก่ 1.การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2. การออกเสียงกรณีเมื่อครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร 3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง 4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ครม. ดำเนินการ และ 5. การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากนั้นได้กำหนดรายละเอียยด้วยว่า ห้ามออกเสียงประชามติเรื่องที่ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

ทำให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกมธ.ฯ ขอพักการประชุม 10 นาที เพื่อไปดูว่ามาตรา 10 จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับมาตรา 9 แต่ทำให้สมาชิกถกเถียงกันไปมา เมื่อนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ขอใช้สิทธินับคะแนนใหม่ ด้วยการขานคะแนน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 58 เพราะคะแนนมีผลต่างน้อยกว่า 30 คะแนน

ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านประท้วงและโต้ตอบว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณามาตรา 10 แล้ว ทำให้มีส.ว.โห่ประท้วงไม่พอใจ แต่ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลาย นายพรเพชร วินิจฉัยว่าที่ประชุมเข้าสู่มาตรา 10 แล้วไม่สามารถใช้สิทธินับคะแนนใหม่ได้

จากนั้นนายพรเพชรได้พักการประชุม 10 นาที เพื่อให้กมธ. หารือปรับแก้เนื้อหามาตรา 10 และมาตรา 11 ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ได้แก้ไข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน