‘วิโรจน์’ ซัดรัฐบาลจัดการวัคซีนล่าช้า จี้เปิดทางเอกชนนำเข้า อย่ากลัวเสียหน้า ชี้ปมคลัสเตอร์ทองหล่อ ทำประชาชนหาเช้ากินค่ำเดือดร้อน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือที่เรียกว่า “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ว่า ต้องยอมรับว่าการระบาดขยายตัวไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว กระทั่งวันนี้เป็นที่ยืนยันแล้วว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยสงสัยว่าอาจจะติดมาจากทีมงานหน้าห้องที่มีไทม์ไลน์เดินทางไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ส่วนข้อสงสัยว่านายศักดิ์สยามจะไปย่านทองหล่อหรือไม่นั้น คงต้องให้นายศักดิ์สยามเป็นผู้ชี้แจงเอง

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า การระบาดระลอกที่ 3 จากสถาบันเทิงย่านทองหล่อ คนที่ต้องได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยากมากที่สุด คือ ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ โดยก่อนหน้านี้จากการระบาดที่เกิดขึ้นที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทำให้แทนที่ช่วงเทศกาลปีใหม่จะพอหารายได้ได้บ้างก็ต้องประสบกับความผิดหวัง ครั้งนี้ก็หวังว่าเทศกาลสงกรานต์จะพอขายของได้ก็ต้องมาผิดหวังซ้ำอีก นี่คือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการฉีดวัคซีนล่าช้าเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค.

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ประชาชนทราบดีว่าวัคซีนไม่อาจที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็มีรายงานว่าสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อได้ โดยวัคซีนแอสตราเซเนกาได้รายงานกับสื่อว่าสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อได้ถึง 67% ที่สำคัญ คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และยังสามารถป้องกันการอาการติดเชื้อรุนแรงได้ถึง 100% ดังนั้น การฉีดวัคซีน แม้ว่าประชาชนจะยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ก็ตาม แต่วิถีชีวิตและการทำมาหากินประกอบอาชีพของประชาชนจะกลับมาสู่สภาวะที่ใกล้เคียงกับปกติได้ แม้ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถจำกัดความเสี่ยงได้

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ตามแผนปัจจุบัน กว่าวัคซีนล็อตใหญ่จากแอสตราเซเนกาจะเริ่มส่งมอบต้องรอถึงเดือน มิ.ย. ซึ่งกว่าประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนตามแผนเดือนละ 10 ล้านโดสต้องรอจนถึงเดือน มิ.ย. แล้วปัญหาปากท้อง การว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน รัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร ตนขอเสนอแนะให้นายอนุทินหาทางเร่งจัดหาวัคซีนอื่นๆ ให้มาก่อนเดือน มิ.ย. ได้หรือไม่ ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการสั่งซื้อวัคซีนส่วนมากจะต้องเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ เครื่องยืนยันของความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน และการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไปของรัฐบาล

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า วัคซีนที่มีโอกาสจะจัดซื้อและเร่งการส่งมอบได้มากที่สุด น่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวค ซึ่งตามข่าวเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา นายอนุทินได้แจ้งให้กับสื่อมวลชนทราบว่า กำลังเจรจาจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 5 ล้านโดส ซึ่งการจัดซื้อนี้สามารถเร่งการส่งมอบภายในเดือน เม.ย.หรือเดือน พ.ค.ได้หรือไม่ เพื่อจะได้เร่งฉีดให้กับประชาชนโดยไม่ต้องรอจนถึงเดือน มิ.ย.

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนอยากให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าให้กับประชาชนได้ทราบ คือ จากข่าวที่ปรากฏว่าที่ประชุมสุดยอดภาคี 4 ประเทศ (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ Quad เห็นชอบให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่อาเซียน ภายในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขมีความคืบหน้าในการเข้าร่วมโครงการหรือไม่

“ผมขอเรียกร้องให้นายอนุทินชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบ และย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าถ้าไม่สามารถบริหารงานราชการให้จัดหาและจัดฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้ได้จริงๆ ผมคิดว่าอย่ายื้อ ยอมให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดหาและจัดฉีดวัคซีนได้แล้ว อย่ากลัวเสียหน้า ชีวิตและปากท้องของประชาชน 67 ล้านคน สำคัญกว่ามาก” นายวิโรจน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน