อ.จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกต คำวินิจฉัยศาล รธน. ปม ร.อ.ธรรมนัส ชี้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ต้องการได้บุคคลที่ปราศจากมลทิน ซื่อสัตย์สุจริต มาทำหน้าที่

กรณี ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.

ต่อเรื่องดังกล่าวมีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อยู่หลายท่าน เริ่มจาก ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นความว่า ไม่แปลกใจในผล และเหตุผลที่ยึดการตีความตามตัวอักษร

แต่สะท้อนใจที่ 2 ประเด็นนี้มิได้ถูกเอ่ยถึง (1) เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนญที่ต้องการจะได้บุคคลที่มือสะอาด ปราศจากมลทินโดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรง มาทำหน้าที่ในองค์กรหลักฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ถูกเอ่ยถึง

และ (2) ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็น double criminality (เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และไม่ยากในการที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดว่าตรงกันหรือไม่) และความผูกพันและพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อนานาประเทศในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับว่าเป็นความผิดร้ายแรงข้ามชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์

ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นความว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 51 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย)

คำวินิจฉัย ยืนยันหลักอธิปไตยของรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “คำพิพากษาของศาลรัฐใด ก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น”

ข้อสังเกตคือ

1. คำวินิจฉัยนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่าการกระทำผิดในต่างแดน ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
2. คำวินิจฉัย ไม่นำคุณสมบัติของรัฐมนตรี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) มาพิจารณาด้วย

มาตรา 160 รัฐมนตรี ต้อง

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน