“ก้าวไกล” จัดหนัก งบลวงพรางกองทัพ ผูกพันซื้ออาวุธต้องจ่ายกว่า 2 หมื่นล้าน เชื่อทร.เดินหน้าซื้อเรือดำน้ำ ถาม จะดีกว่าไหมถ้ามี รบ. ใหม่ ที่จัดงบเห็นหัวปชช.

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา ว่า งบประมาณจะลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 5.7% จากปี 64 ซึ่ง 5 อันดับแรกของกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือพูดได้ว่าการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ ยังเป็นเหมือนเดิม แม้เราจะอยู่ท่ามกลางวิกฤติโควิด

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ได้เผยแพร่ภาพเปรียบเทียบถึงงบประมาณด้านสาธารณสุขว่าเพิ่มขึ้นและมากกว่ากลาโหม ทั้งยังพยายามอธิบายอีกว่า กลาโหมลดงบประมาณลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบ 63-65 ซึ่งเป็นการโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่าละอาย เพราะมันเป็นการลวงว่าลด แต่ไม่ได้ลด

หากย้อนกลับไปในปีงบ 63 งบกลาโหม 2.317 แสนล้าน ถูกตัดลดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่ 1 เพื่อการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณกลางปี โดยนำเงินจากหลายกระทรวงไปรวมกันเป็นงบกลางแก้โควิด กระทรวงกลาโหมสามารถลดงบประมาณได้ถึงเกือบ 2 หมื่นล้าน ทำให้สุดท้ายงบในปีนั้นลดลงมาเหลือ 2.137 แสนล้าน ในครั้งนั้น

กระทรวงกลาโหม เป็นกระทรวงที่ตัดลดงบได้มากที่สุด แสดงให้เห็นว่าแผนงานมีความสำคัญเร่งด่วนน้อย สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้และเบิกจ่ายไม่ทัน แต่พอมาปี 64 กระทรวงกลาโหมของบมากถึง 2.236 แสนล้าน ก่อนที่จะถูกตัดลดในชั้นกรรมาธิการ ทำให้คงเหลือได้รับงบประมาณ 2.145 แสนล้าน หรือเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาทจากปี 63 ดังนั้น จึงเป็นการแอบอ้างว่า กลาโหมลดงบจากปี 63 ที่ 2.317 แสนล้าน เหลือ 2.145 แสนล้าน เพราะในความเป็นจริงคือ งบเพิ่มขึ้นในปี 64

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับใน ร่าง พ.ร.บ.งบ 65 แม้งบกลาโหมจะลดลง 5.24% แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าภาพรวมงบประมาณทั้งหมดที่ลด 5.66% อีกทั้งงบบุคคลกรของกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 1.7% แสดงให้เห็นว่า ถึงกองทัพอยากจะลดงบยังไงก็ลดไม่ลง ด้วยกำลังทหารที่มากเกินกว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้

นอกจากนี้ ตามเอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดแดงของกลาโหม ด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคง จึงทำให้ไม่สามารถเห็นรายการอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบยอดงบประมาณในโครงการผูกพันข้ามปีของเอกสารงบประมาณปี 63-64-65 ทำให้เชื่อได้ว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไป แม้ประเทศชาติจะอยู่ในวิกฤติงบประมาณ มิหนำซ้ำเมื่อส่องดูงบซื้ออาวุธแบบปีเดียว กองทัพบกตั้งงบเพิ่มขึ้น 9.23% และ กองทัพเรือเพิ่มขึ้นถึง 2.6 เท่า จากปี 64

ในส่วนของงบซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผูกพันข้ามปี ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ยังมีโครงการใหม่ที่ผูกพันงบตั้งแต่ปี 65-67 รวมมูลค่าโครงการตลอด 3 ปี อีก 9,073 ล้านบาท โดยเป็นปีงบ 65 จำนวน 882 ล้าน และ 933 ล้าน ตามลำดับ นอกจากนั้น ทั้ง 3 เหล่าทัพบวกกับกองบัญชาการกองทัพไทย ยังมีงบซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผูกพันข้ามปี ค้างตั้งแต่ปี 60-69 อีก 70 โครงการ และเป็นงบที่ต้องจ่ายในปีงบ 65 กว่า 24,218ล้าน

“ผมเชื่อว่าการระบาดของโควิด-19จะยังไม่จบจนกว่าเราจะได้วัคซีนครบจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะดีกว่าไหมถ้าเราจะจัดลำดับความสำคัญใหม่ ไม่ซื้อเรือดำน้ำแต่นำงบไปเพิ่มให้กับงบบัตรทองที่ถูกตัดไป 1,800 ล้านบาท จะดีกว่าไหมถ้าเราจะยอมทนใช้อาวุธเก่าไปอีกสักปี เพื่อนำงบไปช่วยนักเรียนที่ต้องเลิกเรียนกลางคันเพราะพ่อแม่ตกงานผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งถูกตัดงบไป 432 ล้านบาท จะดีกว่าไหมถ้าเราจะไม่ซื้ออาวุธใหม่ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศผู้ผลิตอาวุธ แต่นำเงินไปลงทุนอบรมทักษะใหม่ๆ ให้คนที่ตกงานจากภาคท่องเที่ยว ให้พวกเขาหางานใหม่ได้ง่ายขึ้น จะดีกว่าไหมถ้าเราจะมีรัฐบาลใหม่ ที่จัดงบประมาณแบบเห็นหัวประชาชนมากกว่านี้” นายพิจารณ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน