‘นิพิฏฐ์’ ฉะสโมสรนิสิตจุฬาฯ ขอโทษเคยร่วมกปปส. แจงเหตุผล 2 ข้อ ที่ต้องออกมาชุมนุม ถามจำได้ไหมเกิดอะไรขึ้น อัดคนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาอดีต

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2564 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “อย่าใช้เหตุผลของคนในปัจจุบัน ตัดสินการกระทำของคนในอดีต ผมอ่านข่าวองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบส) ออกแถลงการณ์ ขอโทษที่เคยสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส.เมื่อปี 2556 โดยให้เหตุผลว่า การกระทำขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อปี 2556 ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศแก่สถาบัน”

“หากย้อนกลับไป เมื่อปี 2556 กล่าวได้ว่าสถาบันการศึกษา”เกือบทุกแห่ง” ในประเทศสนับสนุนการชุมนุมของกปปส. เหตุใดสถาบันการศึกษาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว สนับสนุนการชุมนุมของกปปส. คงต้องถามองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯในสมัยนั้นว่า เกิดอะไรขึ้น”

“ผมคิดว่า นักศึกษาที่ออกแถลงการณ์ขอโทษการกระทำของรุ่นพี่ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นน่าจะกำลังเรียนมัธยมต้น หรืออย่างดีก็น่าจะมัธยมปลาย จะจำได้หรือเปล่าว่า เมื่อปี 2556-2557 เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ปัญหาของประเทศไทย คือ คนรุ่นใหม่ไม่ศึกษาและไม่จดจำอดีต”

“เมื่อ 2-3 วันมานี้ก็ทำนองเดียวกัน คือ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกมาโพสต์ข้อความว่า “พฤษภาทมิฬ คือการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ พ่อของ “แดง” อดีตผบ.ทบ. เจ้าน้ำตา ปัจจุบันได้รับหน้าที่เป็นถึงองคมนตรี” กล่าวคือ สับสนไปหมด จับแพะ ชนแกะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไปไกลถึงขนาดจำผิดว่า พลเอกสุจินดา เป็นพ่อของพลเอกอภิรัชต์ ไปโน่น”

“ปี 2556-2557 มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้น 2 เรื่อง ที่นำไปสู่การชุมนุมของกปปส. คือ การที่รัฐบาลชุดนั้นจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่เรียกว่าฉบับสุดซอย โดยนิรโทษกรรมความผิดทุกชนิดรวมทั้งการทุจริตของนักการเมืองด้วย และรัฐบาลสมัยนั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.กลับมาดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย”

“ผมเกี่ยวข้องโดยตรงกับทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น คือ เป็นกรรมการปรองดองและสมานฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านการนิรโทษกรรมคดีทุจริต และเป็นพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมว่า การชุมนุมคัดค้านการนิรโทษกรรมการทุจริตของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ในปี 2556 หรือ ปี 2564 ก็เป็นการชุมนุมที่ควรสนับสนุนทั้งสิ้น”

“ส่วนการชุมนุมที่เลยเถิดไปจนมีการยึดอำนาจนั้น เป็นคนละตอนกัน ขาดออกจากกันแล้ว ช่วงที่มีการยึดอำนาจ เมื่อ 22 พค.2557 ผมก็อยู่ในเหตุการณ์และผมก็ถูกควบคุมตัวไปขังด้วย ทั้งๆ ที่ผมไปร่วมประชุมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แท้ๆ แต่เอาเถอะ ถือว่าเป็นการถูกขังเพื่อชาติก็แล้วกัน”

“ที่เขียนเล่ามาให้อ่านทั้งหมดนี่ เพราะเห็นว่า องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เมื่อปี 2556 ได้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยมือ แต่ครั้นปี 2564 ประวัติศาสตร์ได้ถูกลบด้วยเท้า จึงเป็นเรื่องการใช้เหตุผลของคนในยุคปัจจุบัน ตัดสินการกระทำของคนในอดีต อย่างนี้แหละประวัติศาสตร์เมืองไทยจึงซ้ำรอยเดิมเสมอ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจและไม่จดจำอดีต” นายนิพิฏฐ์ ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน