DSI ช่วยนางร้าย?

ใบตองแห้ง

คดีครูจอมทรัพย์สะวิงกลับจาก “ครูแพะ” เหยื่อตำรวจที่สังคมเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นคนบาป ที่สังคมรุมประณาม ซ้ำยังบานปลาย เกิดข้อสงสัยว่ามีขบวนการรับจ้างติดคุก ขบวนการมุ่งร้าย ดิสเครดิต ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรีตำรวจ

สุดท้าย ก็มีคนชี้ไปที่ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ DSI ซึ่งเข้าไปช่วยเหลือครูจอมทรัพย์รื้อฟื้นคดี ว่ามีส่วนร่วมขบวนการหรือเปล่า

ไม่ทราบว่านี่เป็นธรรมชาติของสื่อ ของสังคมไทยหรือไม่ เวลาเห็นใครเป็นนางเอกก็ถูกหมด เวลาเห็นใครเป็นผู้ร้ายก็ผิดหมด ใครที่ช่วยนางร้าย ก็น่าจะผิดไปด้วย โดยไม่แยกแยะเหตุผลข้อเท็จจริง

แน่ละ ชาวบ้านข้องใจ พ.ต.อ.ดุษฎียอมรับว่า นำครูอ๋องและนายสับ วาปี เข้าเครื่องจับเท็จไม่ผ่าน น่าเชื่อว่าสร้างหลักฐานเท็จ รับจ้างติดคุกแทน ซึ่งแจ้งให้ตำรวจทราบแล้ว แต่ก็ยังช่วยครูจอมทรัพย์รื้อฟื้นคดี โดยใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลการตรวจสภาพรถ ชี้ว่าไม่เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อน

ฟังเหมือนรู้ว่าผิด แต่ก็ยังช่วย เอ๊ะ ยังไง กระนั้นถ้ามองอย่างแยกแยะก็เป็นคนละเรื่องกัน แม้รู้ว่าจ้างพยานเท็จ แต่เมื่อพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พบว่ารถครูจอมทรัพย์ไม่ได้ชน จะให้อมพะนำหรือ เขาก็ทำตามหน้าที่ ที่ต้องอำนวยความยุติธรรม คือยื่นหลักฐานให้ศาลพิจารณา โดยไม่เอานายสับ วาปี ขึ้นให้การ (ซึ่งตอนนั้นเซอร์ไพรส์กันหมด)

ถ้า พ.ต.อ.ดุษฎีและเจ้าหน้าที่ DSI ไม่ได้ปลอมแปลง หลักฐาน ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา จะผิดได้อย่างไรครับ

ข้อกังขาเรื่องหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไม่มีมูล เพราะคดีครูจอมทรัพย์ขับรถชน ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ทนาย วันชัย สอนศิริ อดีต สปท. ต่อสู้ว่าพยานให้การขัดแย้งกัน (คนหนึ่งให้การชั้นศาลว่าเห็นคนขับเป็นผู้ชาย) และรถจักรยานที่ถูกชนมีร่องรอยสีเขียวติดที่ตะเกียบรถ แต่รถครูจอมทรัพย์เป็นสีบรอนซ์น้ำตาล กรอบทะเบียนรถซึ่งเป็นสีเขียวก็ไม่มีรอย เฉี่ยวชน

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังชี้ว่า “หากรถยนต์กระบะแล่น แซงรถจักรยานยนต์ที่นางทัศนีย์ ขับขี่ล้ำเข้าไปชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่สวนทางมา รถยนต์กระบะต้องแซงออกไปทางด้านขวา… และน่าจะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานทางด้านขวาของรถยนต์กระบะ ดังนั้นรอยครูดที่ปรากฏทางด้านซ้ายของรถยนต์กระบะ จึงไม่น่าเชื่อว่า จะเกิดจากการเฉี่ยวชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่”

แต่ในชั้นฎีกา ซึ่งเปลี่ยนทนาย มีการต่อสู้กันอย่างไรไม่ทราบ ศาลพิพากษาจำคุกตามศาลชั้นต้น มีผลให้คดีถึงที่สุด ครู จอมทรัพย์ติดคุก จนพ้นโทษออกมาก็ขอรื้อฟื้นคดี

ใช่ละ การเปิดตัว (ทางทีวี) ของครูจอมทรัพย์ อาศัย “ดราม่า” อะโห เพื่อนครูอุตส่าห์ดั้นด้นตามหาคนผิด จนไปเจอนายสับ วาปี สำนึกผิด ยอมรับว่าขับรถชน รถคนละคัน ฯลฯ เท่านั้นเองกระแสสังคมก็บรรเลง ด่าตำรวจสารพัด

ขณะที่กระทรวงยุติธรรมไม่ได้เอาดราม่ามาใช้ แต่มุ่งที่ไปข้อสงสัยทางนิติวิทยาศาสตร์ หาผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ว่ารถครูจอมทรัพย์ไม่เคยชน แล้วเสนอต่อศาล โดยหวังจะอ้างการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นพยานหลักฐานใหม่ แต่ศาลไม่รับ โดยชี้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคดีเดิม ไม่ใช่หลักฐานใหม่ ก็จบตรงนั้น

คนที่สงสัยหลักฐานเรื่องรถอาจยังไม่สิ้นสงสัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าคดีถึงที่สุดไปแล้ว และรื้อฟื้นไม่ได้

ขณะเดียวกัน ครูอ๋อง ครูจอมทรัพย์ ก็ต้องก้มหน้ารับกรรม ฐานจ้างพยานเท็จ เบิกความเท็จ (แถมอั้งยี่ซ่องโจร) แม้ครูอ๋องอ้างว่าทำไปเพราะเชื่อว่าเพื่อนไม่ผิด แต่ยังไงก็ผิด โดยความผิดร้ายแรงที่สุดคือ “แหกตาสังคม”

เพียงแต่ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่ DSI สังคมก็ต้องดูว่าพวกเขาทำตามหน้าที่ หรือเข้าไปบิดเบือนพยานหลักฐาน เพราะที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมก็ช่วยเหลือประชาชนจนได้รับความเป็นธรรมหลายคดี

ส่วนประชาชนหรือสื่อที่สนับสนุนให้ตรวจสอบตำรวจ ก็เป็นการใช้สิทธิและทำหน้าที่ ไม่ใช่สนับสนุนคนผิด เว้นแต่ใครออกตัวแรง เว่อร์ไป ก็หน้าแหก หรือหมิ่นประมาทก็อาจโดนเช็กบิล

บทเรียนสังคมคืออย่าสะวิงกลับไปกลับมา สังคมและสื่อ ไม่ได้มีหน้าที่ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน” ตามแห่บดขยี้พิพากษาใคร สังคมและสื่อมีหน้าที่หลักคือตรวจสอบการใช้อำนาจ ไม่ให้เหิมเกริมอำนาจ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน (วาระแห่งชาติ) ไม่ว่าอำนาจตำรวจหรือ DSI (ซึ่งก็ใช้เกินเลยอยู่บ่อยครั้ง) เพียงขณะเดียวกันก็ต้องฟังหูไว้หู ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เท่านั้นเอง

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน