เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) และนายปานชัย แก้วอัมพรดี ประธาน อพม.กรุงเทพฯ ลงพื้นที่คลองเตย เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างตัวแทนชาวชุมชนคลองเตย และโรงพยาบาลต้นสังกัดย่านกล้วยน้ำไท ที่ประชาชนส่วนใหญ่ถือสิทธิบัตรทองอยู่ เพื่อเร่งหารือและทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลังผู้ป่วยระดับอาการสีเหลือง-แดงในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องการตรวจ RT-PCR และประสานเตียง

เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อแบบแรพิด เทสต์ ในชุมชนคลองเตยเป็นผู้สูงอายุจำนวน 2 ราย ที่มีอาการเหนื่อยหอบ และต้องการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอย่างเร่งด่วน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผลการตรวจแบบ RT-PCR เพื่อทำเรื่องประสานเตียง แต่โรงพยาบาลยังไม่มีคิวให้ตรวจ และทางผู้ป่วยไม่สามารถกลับเข้าสู่ชุมชนได้ เพราะอยู่รวมกันอย่างแออัด

ขณะที่ นายปริญญ์ ซึ่งลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนคลองเตยมาตลอด ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้เป็นตัวกลางในการจัดพื้นที่พูดคุยระหว่างประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลย่านกล้วยน้ำไท และตัวแทนชุมชนคลองเตย เพื่อรับทราบถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อจำกัดของโรงพยาบาล เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้อีก

โดยการหารือดังกล่าวได้ข้อสรุปว่าขณะนี้โรงพยาบาลประสบปัญหาเตียงเต็ม หากผู้ป่วยอาการอยู่ในระดับสีเขียว ยังคงขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่บ้าน แต่หากมีอาการอยู่ในระดับสีเหลือง-แดง ทางโรงพยาบาลจะทำการตรวจ RT-PCR ให้ตามคิว เพื่อทำเรื่องส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาโดยจะพิจารณาตามความต้องการเร่งด่วน

นายปริญญ์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการพูดคุยกัน สามารถช่วยประสานงานให้ทางโรงพยาบาลมีตัวกลางที่ชาวชุมชนคลองเตยสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา และช่วยปรับความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ รวมถึงความคลายกังวลของประชาชนลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปัญหาการขาดแคลนเตียงยังคงมีอยู่ ประชาชนต้องกักตัวที่บ้านเป็นหลัก จึงอยากเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งการนำเข้าและแจกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ให้แก่ผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวโดยเร็วก่อนที่จะแย่ลงและจำเป็นต้องใช้เตียงในภาวะที่ขาดแคลน

ด้านนางดรุณวรรณ กล่าวว่า การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน ชุมชนเข้มแข็งจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งการประสานงานเรื่องเตียงได้เป็นระบบ แยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว และลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ ช่วยสร้างโมเดลความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล และชุมชนก็พร้อมดูแลตัวเองรวมถึงรับเคสสีเหลืองที่รักษาหายจนกลายเป็นเขียวกลับไปรักษาตัวต่อในชุมชนจนหายดี ช่วยลดภาระโรงพยาบาลและภาระทางด้านสาธารณสุขของภาครัฐด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน