“ศิริกัญญา” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ รายละเอียดงบกลาง แย่กว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ แจง เท 1.63 หมื่นล้านเข้างบกลาง ผิด ม.144 ขึ้นอยู่กับการตีความ ถาม เงินกระเป๋าสำรอง 5 หมื่นล้านยังไม่พออีกหรือ ทำไมต้องอยากได้เพิ่ม

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมารรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าสาเหตุที่ต้องโอนงบที่ถูกปรับลด 1.63 หมื่นล้านไปที่งบกลาง เพื่อช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 และจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ว่า

มาตรา 144 เพิ่งถูกยกขึ้นมาในการประชุม กมธ. เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ได้มีการเสนอญัตติตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.แล้ว ซึ่งญัตติของนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยังเสนอให้โอนเข้างบกลางส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือให้กระจายไปยังหน่วยงานอื่นๆ อยู่เลย อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการตีความ เพราะมาตรา 144 เขียนไว้กำกวมว่าสรุปแล้วกมธ.จะมีโอกาสใช้งบประมาณโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ การบอกว่านำไปให้หน่วยงานอื่นไม่ได้เพราะสุ่มเสี่ยงขัดมาตรา 144 นั้น เป็นการตีความกว้างเกินไปมาก

เช่น สิ่งที่จะโอนไปเป็นเงินรายได้ชดเชยที่หายไปจากภาษีที่ดิน ที่จะให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,000 กว่าแห่ง กมธ.จะสามารถใช้งบประมาณส่วนนี้โดยตรงหรือโดยอ้อมได้อย่างไร คำอธิบายคืออะไร หรือแม้แต่งบประมาณที่จะให้กับเด็กที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กมธ.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะเข้าไปใช้งบประมาณใดๆ ดังนั้นที่บอกว่าจะขัดกับมาตรา 144 จึงฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะเราก็รู้ว่ามีการขู่เช่นนี้ทุกปี ในทางหนึ่งหากจะบอกว่าขัดมาตรา 144 ก็ไม่ต้องโอนไปที่ไหนทั้งสิ้นที่ตัดได้ไม่ต้องคืนหน่วยงานไหนเลย ก็สามารถทำได้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า งบกลางมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส รายละเอียดโครงการต่างๆ แย่ยิ่งกว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะไม่มีรายละเอียดอะไรเลยที่จะบอกว่างบประมาณส่วนนี้จะถูกใช้ไปทำอะไร เช่น ล่าสุดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งของบกลางค่าใช้จ่ายช่วยเหลือโควิด ไป 12,000 ล้านบาทมีกระดาษแค่ 4 หน้า และไม่ได้บอกว่าจะนำงบประมาณไปใช้ทำอะไรบ้าง และยังมีการใช้งบประมาณผ่านการมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีภารกิจโดยตรง

เช่น ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมไปทำ State Quarantine ซึ่งความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานทหารทำ กระทรวงมหาดไทยน่าจะมีความนัดหรือมีภารกิจโดยตรงมากกว่า ซึ่งได้รับงบประมาณไป 1,000 กว่าล้านบาท โดยใช้ชื่อว่าค่าใช้จ่ายช่วยโควิด และเมื่อมีเงินก้อนหนึ่งสำหรับใช้โดยมีวัตถุเฉพาะ ทำให้งบกลางที่เหลือ 89,000 ล้านบาท มีอำนาจใช้เต็มวงเงินโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปใช้จ่ายโควิดอีก

“ตรงนี้คือสิ่งที่เรากังวลมาก เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ การติดตามการเบิกจ่ายเป็นไปอย่างยากลำบาก และอยู่ในอำนาจเต็มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรารู้ว่าเงินมีที่ที่ควรจะไป ทำไมไม่ใส่ในที่ที่ควรจะไป สุดท้ายถ้า อปท. ไม่มีเงินพอ หรือกองทุนบัตรทองไม่มีเงินพอ เขาก็ต้องกลับมาขอจากงบกลางอีกทีอยู่ดี ในวันนี้เรารู้ว่าเขามีความต้องการเพิ่มทำไมถึงไม่จัดสรรให้เพียงพอ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีข้อโต้แย้งว่าในชั้นอนุกมธ.ฯ ก็ได้มีการปรับลดงบส่วนของท้องถิ่นไปแล้ว ทำไมถึงยังโอนกลับไปให้อีก น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องพิจารณาแยกกัน ในส่วนที่ตัดเรียกว่าเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานมาขอจากรัฐบาลโดยตรง เช่น ทำถนน ทำแหล่งน้ำ ก่อสร้างโรงเรียน แต่ส่วนที่จะคืนเป็นเงินที่เป็นรายได้โดยตรงของ อปท. ที่รัฐบาลออกประกาศลดภาษีที่ดินลง 90% ทำให้รายได้ที่จัดเก็บตามปกติหายไป เท่ากับรัฐบาลเป็นหนี้ อปท. ซึ่งมันไม่ใช่เงินประเภทเดียวกัน อย่าเอามาปนกัน โดยรายได้ที่หายไปนั้น หายไปตั้งแต่ปี 63-64 แต่กว่าจะได้ตั้งปี 65 ตอนนี้บาง อปท. ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานแล้ว

“ขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณใช้วิธีการเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ว่างบกลางจะใช้ได้สะดวกในยามวิกฤต แต่เราเพิ่งอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในวัตถุประสงค์เดียวกัน ถ้าเงิน 5 แสนล้านบาทไม่พอก็บอกมา ซึ่งสำนักงบก็ไม่ได้ชี้แจงว่าไม่พอใช้และต้องการเพิ่ม หากงบกลางหมดจริงๆ ยังมีเงินกระเป๋าสำรองอีก 50,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยังไม่พอหรือ ทำไมต้องอยากได้อีก 16,300 ล้านบาท” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน