กมธ.แก้รธน.ปรับใหม่ตัดเหี้ยน 5 ประเด็น คงไว้แค่มาตรา 83, 91 และเพิ่มมาตรา 86 กำหนดแบ่งเขตเลือกตั้ง ไพบูลย์ปัดเสียหน้า ไม่เกี่ยวเหตุภท.คัดค้าน

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา91 เรื่องระบบเลือกตั้ง มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อขอทบทวนแก้ไขเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนจะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ปรับปรุงใหม่ ให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาวาระที่ 2-3 ในช่วงบ่ายวันนี้

ที่ประชุมมีมติแก้ไขเนื้อหาสาระทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การตัดทิ้งมาตรา 85 ที่กมธ.ไปเพิ่มเนื้อหาให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน

2.การตัดทิ้งมาตรา 92 ที่กมธ.ไปเพิ่มเรื่องเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส.นั้น ให้จัดเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และผู้สมัครเลือกตั้งเดิมทุกราย ไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งในรอบใหม่ โดยให้กลับไปใช้เนื้อความเดิมตามมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญปี 2560

3.การตัดทิ้งมาตรา 94 ที่กมธ.ขอให้ยกเลิกเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 94 กรณีการเลือกตั้งซ่อมภายหลังพ้น 1 ปี ไม่ให้มีผลกระทบกับการคํานวณส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค โดยให้กลับไปยึดเนื้อความเดิมในมาตรา 94 รัฐธรรมนูญ ปี2560

4.การตัดทิ้งวรรคสาม มาตรา 105 ที่กมธ.ขอให้ยกเลิกเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคสาม กรณีการประกาศเลื่อนผู้มีชื่ออยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ขึ้นมาเป็นส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้กลับไปยึดเนื้อความเดิมตามมาตรา 105 วรรคสาม

5.การตัดทิ้งบทเฉพาะกาลที่ 4/5 ของ กมธ.ที่ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้เสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ หากแก้ไขเสร็จไม่ทันให้ กกต. มีอำนาจออกหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้งส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อใช้บังคับไปพลางก่อน

ทั้งนี้ มีมาตราที่กมธ.คงไว้คือ มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามที่รัฐสภารับหลักการในร่างของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงให้เพิ่มเติมมาตรา 86 เรื่องการกำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยยึดฐานประชากรเป็นเขตเลือกตั้ง และเพิ่มเบทเฉพาะกาลที่ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้กับการเลือกตั้งส.ส.ในครั้งถัดไป

ก่อนการประชุม นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่กมธ.ต้องพิจารณาทบทวนเนื่องจากเห็นวาไม่มีความจำเป็นที่จะบัญญัติข้อความดังกล่าวไว้ และไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทยเตรียมประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน เนื่องจากเขาคัดค้านบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ในเนื้อหาที่เสนอยังคงให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อถามว่ากรณีแก้ไขก่อนประชุม ถือว่าเสียหน้าหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเป็นฝ่ายทำกฎหมายต้องรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เมื่อมีกมธ.ทักท้วงหลายคนจึงจัดประชุมกมธ.ให้ และผลการแก้ไขเปลี่ยนแปลง สามารถยื่นเป็นเอกสารให้ประธานรัฐสภาได้ทันก่อนการพิจารณา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน