สภา ถกญัตติด่วน ตีความร่างแก้ไขรธน. ก้าวไกล ซัดสอดไส้ ส่อขัดรธน. ไพบูลย์ แจงวุ่น ยันยึดหลักการแก้ไขระบบเลือกตั้งสำคัญกว่ามาตรา

เมื่อเวลา 14.05 น. วันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ… เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

โดยนายธีรัจชัย อภิปรายว่า กมธ.ได้พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 และ 91 เกินเลยไปจากที่รับหลักการเอาไว้ และมีมติเพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย ซึ่งหลักการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าแก้ไขเพิ่มเติมได้เพียง 2 มาตราเท่านั้น ไม่อาจแก้ไขมาตราอื่นที่เกินเลยไปกว่านั้นได้ และรัฐธรรมนูญมาตรา 3 บัญญัติว่ารัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อาจตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจได้ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ

จึงขอเสนอญัตติให้สภา วินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 114 วรรคสองและข้อ 124 เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อบังคับต่อไป และการปล่อยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการวินิจฉัยตีความข้อบังคับดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง ส.ส.โดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลกระทบภายหลังได้ จึงถือเป็นกรณีสำคัญของแผ่นดิน จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา

จากนั้นส.ส.พรรคก้าวไกล อาทิ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายรังสิมันต์ โรม อภิปรายระบุ กมธ.มีการแก้ไขรวมกันถึง 9 มาตรา นี่ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวเนื่องกับหลักการที่เป็นข้อยกเว้นของข้อบังคับตามที่ได้อภิปรายไป การแก้ไขหลักการจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย การทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการสอดไส้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับรัฐธรรมนูญ และประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ. อภิปรายว่า ญัตติของนายธีรัจชัย ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 แต่เป็นญัตติที่เป็นความเห็นส่วนตัว เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านเท่านั้น ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และมีการบัญญัติมานาน ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมกมธ.เห็นว่าคำแปรญัตติของสมาชิกที่เสนอมานั้น นอกจากมาตรา 83 และ 91 ยังมีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ จึงยึดหลักมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับระบบเลือกตั้ง ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ฉบับที่เสนอมานั้น จึงเป็นการผ่านการพิจารณาจากการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา

มาตราเป็นเรื่องรอง หลักการเหตุผลเป็นเรื่องหลัก ดังนั้น หลักการแก้ไขระบบเลือกตั้ง จึงเป็นหลักการสำคัญมากกว่ามาตราด้วยซ้ำ ยืนยันว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 วรรคสามหรือทั้งฉบับ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่มีปัญหาเรื่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่มีปัญหาต้องตีความ เพราะเพิ่มมาตราได้อยู่แล้ว” นายไพบูลย์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน