เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มคัดค้านโครงการถ้าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ เลย สกลนครและเพชรบูรณ์ รวมตัวกันกว่า 100 คน เพื่ออ่านแถลงการณ์ยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญโดยชอบตามกฎหมาย พร้อมระบุว่าจากกรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ผลักดันร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ในส่วนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.อย่างรีบร้อน ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่พยายามท้วงข้อบกพร่องซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหากระบวนการทำ EIA และ EHIA แต่กลับเอื้อให้โครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ต่อมาเวลา 13.30 น. นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. … โดยขอให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อน และให้จัดตั้งคณะกรรมการในการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชนและภาครัฐเท่าๆกัน รวมถึงให้ใช้หลักการที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่คัดค้านที่จะมีกฎหมายดังกล่าว แต่เจตนารมณ์ในกฎหมายต้องมีกลไกในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ยืนยันเราจะปักหลักชุมนุมค้างคืนเพื่อรอฟังคำตอบที่พอใจก่อน เนื่องจากเราได้ขออนุญาตชุมนุมบริเวณบนฟุตบาทหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลแล้วเป็นเวลา 7 วันตั้งแต่วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้

จากนั้นเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานก.พ. กลุ่มชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประมาณ 10 กว่าคนนำโดยนายภิญโญ มีชำนะ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา

นายภิญโญ กล่าวว่า พวกตนประกอบด้วยคณาจารย์ จำนวน 43 คน ได้ศึกษาเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเดินทางไปดูงานมาหลายประเทศ เห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนที่ประชาชนรับทราบข้อมูลในปัจจุบัน และกลุ่มที่ออกมาต่อต้านให้ข้อมูลบิดเบือน โดยเฉพาะที่อ้างว่าหลายประเทศเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเพียงการยกตัวอย่างแค่บางประเทศเท่านั้น เพราะความเป็นจริงหลายประเทศยังใช้โรงไฟฟ้าถ่านและกำลังจะก่อสร้างเพิ่มด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับคือพื้นที่ภาคใต้มีพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากไม่สร้างโรงไฟฟ้าแล้วจะทำอย่างไร เราจึงขอสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการตามความจำเป็น
ด้านพ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับสน.ดุสิต กล่าวว่า การขอปักหลักค้างคืนเป็นการยื่นตามสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การขออนุญาต ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการปักหลักชุมนุมดังกล่าว จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ หากมีปัญหา พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. จะประกาศเป็นเขตห้ามชุมนุมหรือให้ศาลออกคำสั่ง เนื่องจากมีกฏหมายห้ามชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลในระยะ 50 เมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 200 นายมาคอยสังเกตการณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน