ครช.ยื่นสำนักงานผู้ตรวจฯ ร้องศาลรธน.กรณีรัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอ้างเอาไว้คุมโควิด แต่โรคไม่ลด แถมดันไปใช้ปราบคนเห็นต่างทางการเมืองต่อเนื่อง

วันที่ 17 ก.ย.2564 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินทางมายื่นหนังสือยังสำนักงานผู้ตรวจฯ เพื่อให้พิจารณายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพ.ร.ก.ฉุกเฉินละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชน

นายอนุสรณ์กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นประธาน ครช. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสานงานกับมวลชนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ ตลอดจนกลุ่มชาวบ้านและประชาชน การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อยื่นหนังสือผ่านผู้ตรวจฯไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีลักษณะที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่เนื้อหาและการบังคับใช้ อาทิ เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รัฐบาลได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรับมือกับโรคระบาดได้ ซึ่งไม่จำเป็นเลย เพราะเรามีพ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว

ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงมีอำนาจอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ขาดแต่เพียงว่าบังคับในส่วนประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงไปถึงข้อของการควบคุมตัวลักษณะต่างๆ ซึ่งก็ไม่จำเป็น แต่ที่สุดแล้วเราก็เห็นว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้ พอประกาศใช้ในบริบทของโรคโควิด

“เอาเข้าจริงแล้วเท่าที่เราเห็น ก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อที่จะควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เท่าๆ กับในการใช้เป็นหนึ่งเครื่องมือคล้ายๆ กับจะกดปราบหรือจัดการกับคนที่เห็นต่างทางการเมือง”

ด้านนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า การเข้าร่วมชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ แต่ก็ถูกพ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดกั้น อีกทั้งระยะเวลาปีกว่าๆ ที่ใช้พ.ร.ก.ฉบับนี้ ผลก็เห็นแล้วว่าโควิดไม่ได้ลดลงเพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตนเห็นว่าเจตนาของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเพียงอย่างเดียวคือการรวบอำนาจไปอยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านและขับไล่พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนตัวเชื่อสุดท้ายหลังจากยื่นฟ้องไปแล้วคดีนี้จะถูกยกเลิกในที่สุด เพราะเวลานำสืบมาแล้วคดีนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับโควิด แต่นำมาใช้คุกคามเสรีภาพของนักกิจกรรม คุกคามเสรีภาพของการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น

เพราะฉะนั้นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงถือว่าผิดเจตนารมณ์ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผิดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายลูกแต่ไปควบคุมเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้นได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยุติการใช้ความรุนแรงและขอให้ผู้ตรวจฯ รับเรื่องนี้ไว้เป็นวาระเร่งด่วน อีกทั้งยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่บริเวณย่านดินแดงต่อเนื่องถนนวิภาวดีรังสิตด้วยว่า หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป กลุ่มทะลุแก๊ซก็จะยกระดับ ซึ่งตนเห็นว่าคงไปโทษพวกเขาไม่ได้ เพราะพวกเขาคับแค้นคับข้องใจกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

อย่างไรก็ดีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นการคลายล็อกความตึงเครียด แรงกดดัน นำไปสู่การเจรจาสร้างสันติขึ้นมาได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ถูกแจ้งข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการใช้บทบัญญัติตามมาตรา 9 ออกข้อกำหนดและข้อห้ามหลายอย่าง จากการไปร่วมกิจกรรม “ส่องไฟให้ดาว” เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรที่ขณะนั้นถูกคุมขัง เนื่องจากไมได้รับการประกันตัว

วันนี้หลายคนคงเห็นแล้วว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไมได้มีผลเพื่อรับมือสถานการณ์ที่รัฐบาลเห็นว่าฉุกเฉินคือโรคระบาดโควิด-19 แต่ถูกใช้เพื่อกดปราบประชาชนที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง

“พวกเราจึงมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยพวกเราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เพื่อจอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่รัฐบาลทำ รวมถึงตัวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน