รุมค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษา อมรัตน์ เหน็บ คฝ.ตัวอย่างการไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชน จี้เปลี่ยนตัวประธาน กก.นโยบาย แค่ชื่อ ประยุทธ์ ก็สิ้นหวังแล้ว

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ก.ย.2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมีทั้งสิ้น 110 มาตรา ซึ่งที่ประชุมเปิดให้ส.ส.และส.ว.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ท้วงติงเนื้อหาที่มีการยัดเยียดให้เด็กต้องปฏิบัติตาม ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่สามารถพัฒนาการศึกษาไทย ให้เด็กได้เท่าทันโลกยุคใหม่ได้

ต่อมาเวลา 15.50 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การศึกษายุคปัจจุบัน ต้องไม่ใช่การเอาโจทย์ในอดีต มาบงการคนที่เกิดทีหลังว่าโตขึ้นต้องเป็นอะไร สิ่งที่สังคมอยากเห็นในพ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้คือ การศึกษาที่เป็นกลไกพัฒนาคน ไม่ควรเป็นระบบแพ้คัดออก ที่สร้างเงื่อนไข จำกัดโอกาสในการเรียนของคนที่อยากเรียน

แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับจับจดอยู่ที่การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ทำไมต้องพยายามเอากะลามาครอบประเทศนี้ให้ได้ เราอยากเห็นการศึกษาที่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เพื่อให้ทุกคนพัฒนาตนเอง เต็มกำลังศักยภาพ เราอยากเห็นการศึกษาที่โอบรับเด็กพิเศษ และเด็กกำพร้าทุกคน

ด้านนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เราจำเป็นพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ เราจำเป็นต้องหยุดการศึกษาที่ให้เยาวชนเน้นแต่ท่องจำค่านิยม 12 ประการ และเราจำเป็นต้องให้เยาวชน เน้นความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชนให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และตระหนักในความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์

นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า ในภาพกว้างระบบการศึกษาไทยจะไม่ล้มเหลวได้อย่างไร เมื่อเรามีการเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ บ่อยที่สุดในโลกและ 30 ปีที่ผ่านมา เรามีรมว.ศึกษาธิการ 34 คน หากย้อนไปแค่ 14 ปีที่ผ่านมา เรามีรมว.ศึกษาธิการ ทั้งหมด 16 คน เฉลี่ยแล้วเป็นรัฐมนตรีคนละ 10 เดือน และรัฐมนตรีที่อยู่ในตำหน่งสั้นที่สุดคือ อยู่ในตำแหน่งเพียง 2 เดือนครึ่ง

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ไม่ว่านักเรียนหรือผู้ปกครอง เราจะอยู่ตัวคนเดียวตามลำพังไม่ได้ ถ้าเราเห็นว่าระบบการศึกษาล้าหลังและล้มเหลว

นางอมรัตน์ กล่าวว่า เราได้ยินคำว่าปฎิรูปเต็มไปหมด ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูการศึกษาที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สำหรับตน การศึกษาไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ แต่ต้องสอนให้คิด เลิกท่องจำและปรับปรุงหลักสูตรให้กระชับ มีความยืดหยุ่น บูรณาการเนื้อหาสาระที่โลกยุคออนไลน์ เด็กสามารถหาได้ แต่การเรียนในห้องเรียนต้องเน้นทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพื่ออกสู่โลคของการทำงานได้ รวมทั้งทักษะทางอารมณ์ ทักษะในการฝึกตั้งคำถาม

“ที่สำคัญต้องเน้นให้รู้จักหน้าที่พลเมือง เพื่อเป็นพลเมืองโลกที่สง่างาม ถ้า คฝ.ปัจจุบันที่ออกมาควบคุมฝูงชน ออกมาสลายม็อบ ถ้ามีการปลูกฝังเรื่องการศึกษา เรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ คงจะไม่มีปัญหาการทำทารุณโหดร้าย

ยิ่งประธานคณะกรรมการนโยบายนี้ เป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ดิฉันได้ยินชื่อ ก็สิ้นหวัง เพราะท่านผู้นี้เป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง รับแต่ความชอบ ไม่เคยรับผิด และยังมีประวัติเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อยู่ในอำนาจโดยไม่แยแสต่อความสง่างามของการดำรงตำแหน่ง ดิฉันขอให้ทบทวนชื่อประธานคณะกรรมการนโยบายด้วย หาคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่านี้” นางอมรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายมีเสียงจากสมาชิกประท้วง แต่ยังไม่ทันได้พูด นางอมรัตน์ ก็พูดจบเสียก่อน แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ตำหนินางอมรัตน์ ว่าไม่ควรเสียดสี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน