“อมรัตน์” ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ขอให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม ลั่นคุกควรขังผู้ปล้นอำนาจประชาธิปไตย ไม่ใช่ขังผู้เรียกร้องทางการเมือง

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง นายปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องต่อจุดยืนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของเยาวชนและประชาชน

โดยนางอมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ตนจึงออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ และยินดีใช้ตำแหน่งผู้แทนราษฎรไปประกันตัว หากเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ถูกรองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญถูกพรากไปด้วยข้ออ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายปีที่ผ่านมานับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ประเทศถูกปกครองและครอบงำด้วยความกลัว ผู้ที่รักประชาธิปไตยให้คุณค่ากับหลักการสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม ตกอยู่ในความมืดมิดแห่งรัตติกาลอันยาวนานไม่เห็นแสงสว่าง ถูกปิดกั้นเสรีภาพในการคิด การพูด การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในประเทศประชาธิปไตย เมื่อสิ้นสุดความอดทน เยาวชนหนุ่มสาวและประชาชนออกมาทวงคืนประชาธิปไตย ไล่นายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ

“แต่ไม่ว่าจะออกมาส่งเสียงมากมายแค่ไหน ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกตั้งใจละเลยไม่ถูกได้ยิน สิ่งที่ได้รับคือการลุแก่อำนาจปราศจากมนุษยธรรม ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ใช้งบประมาณมากมายปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่งราวกับพวกเขาเป็นอริราชศัตรู เพียงแค่พวกเขาคิดต่างจากผู้ทรงอำนาจบาตรใหญ่ แจกคดีความถ้วนหน้าออกหมายเรียก หมายจับ ใช้กฎหมายปิดปาก จงใจใช้และต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยข้ออ้างเรื่องโควิด-19 อย่างปราศจากความละอายต่อสายตาชาวโลก” นางอมรัตน์ กล่าว

นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า เยาวชนผู้กล้าหาญเหล่านั้นคือนักต่อสู้ไม่ใช่นักโทษ คือเจ้าของอนาคตประเทศนี้ พวกเขาได้ก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัวที่คนยุคตนไม่เคยเข้าข้ามพ้นเส้นนั้นมาได้ บัดนี้มีผู้ต้องหาคดี 112, 116, 215, พ.ร.บ.คอมฯ , พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากมายถึง 1,500 คน จาก 800 กว่าคดี โดยเฉพาะคดี 112 มีถึง 150 คน และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน เราต้องยอมรับกันเสียทีว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง จะต้องถูกแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง แทนการใช้คุก ศาล ทหาร และใช้กฎหมายปิดปาก รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์ นับจากปี 2554-2564 ถูกวิจารณ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง ถูกเสนอแนะให้แก้ไขในเรื่องอัตราโทษที่สูงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่มีโทษขั้นต่ำ ไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของคำว่าดูหมิ่น และกฎหมายนี้มีปัญหาการบังคับใช้ที่ถูกตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมไปถึงไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

นางอมรัตน์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐใช้ข้ออ้างในการไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่า มีอัตราโทษสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายต่อความมั่นคง หรือน่าเชื่อว่าจะหลบหนีไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง แม้แต่ถึงฆ่าคนตายก็ยังได้สิทธิในการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี เพราะพวกเขายังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามกฎหมาย ดังนั้น ต้องหยุดความตกต่ำของกระบวนการยุติธรรมไทยไม่ให้ต้องถูกทำลายลงเพียงเพื่อจะได้ดำเนินคดี 112 หรือเพียงเพื่อต่ออายุให้รัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม ทั้งนี้ ในฐานะผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพที่จะคิด ที่จะพูด และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองให้กับพวกเขา โดยขณะนี้ยังมีผู้ถูกจองจำอีกหลายคนทั้ง นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายภาณุพงษ์ จาดนอก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และน.ส.เบนจา อะปัญ

“ขอเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้พวกเขา เพื่อคลี่คลายปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรตุลาการในขณะนี้ และขอเรียกร้องให้ประธานศาลฎีกาฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมให้กลับมาเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง คุกควรเป็นที่ของคนที่ปล้นอำนาจประชาธิปไตย ไม่ใช่ของผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย” นางอมรัตน์ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่อ่านเเถลงการณ์เสร็จ นางอมรัตน์จะยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ยังถูกคุมขังอีกครั้ง เพื่อเป็นการเรียกร้องต่อประธานศาลฎีกาให้พิจารณาและไตร่ตรองในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมให้กลับมาเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน