พิจารณ์ อัด บิ๊กตู่ ไม่คุมงบ ทอ. ทั้งที่เป็นรมว.กลาโหม ปล่อยจัดซื้อบินรบ 8 ลำ 4.5 พันล้าน ชี้เป็นงบผูกพันตั้งแต่งบปี 64 เร่งตรวจสอบความโปร่งใส

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2564 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์และไอซีที ในกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ให้สัมภาษณ์กรณีกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินโจมตี AT-6 จากสหรัฐฯ 8 ลำ งบประมาณ 4,500 ล้านบาทว่า เรื่องนี้ไม่ควรเป็นความลับ เพราะเวลาเราซื้ออาวุธอะไร ต่างประเทศหรือผู้ขายก็อยากโฆษณาอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ปิดกันไม่ได้อยู่แล้ว

แต่คิดว่าเมื่อจัดซื้อและมาเป็นข่าวในช่วงประเทศไทยประสบวิกฤตโควิดและการคลังเช่นนี้ จึงค้านสายตาประชาชนมากๆ สะท้อนความบกพร่องการลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม

นายพิจารณ์ กล่าวว่า สาเหตุที่พุ่งเป้าไปที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพราะโครงการนี้ตั้งงบประมาณไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งหมายความว่าต้องทำโครงการตั้งแต่ปี 2563 สมัย พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผบ.ทอ. ที่ตั้งงบเข้ามา ซึ่งตอนนั้นมีการระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ดูแลภาพรวมงบประมาณของประเทศ และดูแลกระทรวงกลาโหม ไม่ได้คำนึงถึงการจัดสรรงบให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เฉพาะงบปี 2564 กองทัพอากาศ (ทอ.) ตั้งงบผูกพันข้ามปีที่เป็นโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ขนาดใหญ่ทั้งหมด 10,500 ล้านบาท ซึ่งในนั้นมีโครงการจัดซื้อเครื่องบิน 8 ลำดังกล่าวอยู่

ความจริงแล้ว ทอ.จัดซื้อทั้งหมด 12 ลำ แบ่งซื้อเป็น 2 ระยะ ระยะแรกซื้อก่อน 8 ลำ ระยะที่สองซื้อ 4 ลำ เมื่อตั้งมาแบบนี้ ในฐานะที่กำกับกระทรวงกลาโหม ทำไมไม่ชะลอออกไปก่อน 1 ปี แทนที่จะซื้อ 8 ลำ ซื้อทีละ 4 ลำก่อนได้หรือไม่ จะช่วยลดงบและสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เมื่อไม่ได้ทำ เงินจำนวน 4,500 ล้านบาทจะมาเป็นภาระในปีงบประมาณอีก 4-5 ปีข้างหน้าที่จะต้องทยอยจ่าย

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า กรณี ทอ.ตั้งงบ 10,500 ล้านบาท เป็นงบผูกพันข้ามปี ซึ่งเมื่อพิจารณางบปี 2565 โครงการดังกล่าวเป็นกฎหมายไปแล้ว ในฐานะ กมธ.จะไปยกเลิกโครงการก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือปรับเลื่อนออกไป ตอนพิจารณางบฯ 65 ตนพยายามปรับเลื่อนไปได้ 3 โครงการ รวมจำนวนเงิน 100,900 ล้านบาท แต่อีก 4,500 ล้านบาท ทางกองทัพพูดถึงความจำเป็นและบอกว่าจะลงนามได้ทัน ซึ่งได้ลงนามไปเมื่ ส.ค.ที่ผ่านมา จึงปรับเลื่อนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม สภามีกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ กมธ.การทหาร และกมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่สามารถเรียกมาสอบถามรายละเอียด ดูเอกสารทีโออาร์ สัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ได้

แน่นอนว่าการจัดซื้ออาวุธไม่เหมาะสม แต่เราไปขวางไม่ได้แล้ว เพราะเป็นกฎหมายตั้งแต่งบปี 2564 ทำได้เพียงตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส ว่ามีอะไรหมกเม็ดอยู่ในนี้หรือไม่ ซึ่งในยุคนั้นมีการตั้งโครงการค่อนข้างมาก และมีบริษัทพ่อค้าอาวุธหนึ่งรายที่จะได้โครงการค่อนข้างมากในยุคนั้น เป็นข้อสังเกตว่าทำไมพ่อค้ารายนี้ถึงได้หลายงาน และมีอะไรไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใสหรือไม่ ต้องติดตามตรวจสอบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน