วันที่ 21 ธ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่สอง เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ 2 และ3 ตามที่กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 193 มาตรา

มีสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหน่วยงานต้นสังกัด ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ขณะที่ผู้ทำงานอยู่แล้วให้ยื่นภายในเวลาที่กำหนด , การกำหนดให้คู่สมรสที่ไม่จดทะเบียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. โดยให้ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์

การกำหนดระยะเวลาไต่สวนพิจารณาคดีของป.ป.ช.ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี , การเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.ดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ทุกชนิด ในคดีทุจริตและร่ำรวยผิดปกติของนักการเมือง ข้าราชการและประชาชน และการต่ออายุการดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ชุดปัจจุบันให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายวาระ 2 สมาชิกสนช.ได้ขอความชัดเจนตั้งแต่คำปรารภของร่างพ.ร.บ. ในมาตรา 35 , 36, 37/1 ทั้งนี้ กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกสนช.หลายคนอภิปรายท้วงติงอย่างหนักในมาตรา 37/1 เรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆได้ โดยห่วงว่า จะเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ขอให้กมธ.ตัดมาตรา 37/1 ทิ้ง

นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช. อภิปรายว่า การใช้มาตรา 37/1 เพื่อให้ได้ข้อมูลทางลับเป็นสิ่งต้องระวัง ห่วงว่าหากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหลุดออกไป อาจเป็นเครื่องมือนำไปแบล็กเมล์ทางการเมืองกันได้ ซึ่งต้องระวัง ประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด ไม่ควรนำมาใส่เลย และต้องฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน ถ้าป.ป.ช.เป็นองค์กรที่น่าเคารพศรัทธา ข้อมูลจะหลั่งไหลมาเอง เป็นการได้ข้อมูลทางลัด

นายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช.เสนอหลักการนี้เข้ามา ถ้าสนช.เห็นชอบ จะสร้างประวัติศาสตร์ ยอมให้อำนาจนี้กับป.ป.ช. ทั้งนี้ น่าคิดว่าหากป.ป.ช.ได้อำนาจส่วนนี้ไปแล้วถูกครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น การพิจารณามาตรานี้ ใช้เวลาสั้นๆในชั้นกมธ. เพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็เกิดมาตรา 37/1 ยังไม่รวมถึงเรื่องอำนาจการอำพราง และสะกดรอย ที่เสนอเป็นฝาแฝดพ่วงมาด้วย ถือว่าการพิจารณายังไม่ละเอียดรอบคอบ

นายภัทระกล่าวว่า ขอยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ การใช้อำนาจดักฟังจะต้องมีน้ำหนักหลักฐานแน่นหนาทางคดี จึงจะดำเนินการได้ เช่น ตำแหน่งที่ดักฟัง รูปแบบการดักฟัง รายชื่อเป้าหมายการดักฟัง เหตุผลการดักฟัง และต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้กระบวนการสอบสวนทางปกติได้ ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่หลักเกณฑ์ของไทยมีรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตั้งข้อสงสัยก็ดักฟังกันได้แล้ว

นอกจากนี้ข้อมูลที่ดักฟังหากไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับคดีต้องถูกทำลายทันที ต่างจากมาตรการของไทยที่ไม่ได้ระบุชัดเจน จะทำลายข้อมูลเมื่อใด ทั้งนี้บางประเทศ พิสูจน์ได้ว่าการดักฟังไม่มีอคติ แต่ป.ป.ช.จะมีอคติหรือไม่ก็ไม่รู้ อย่ามุ่งแต่ใช้ข้อมูลที่จะกำจัดคนโกงเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ป.ป.ช.ตกอยู่ในความเสี่ยง ต้องชั่งน้ำหนักถึงคุณค่าที่ต้องแลกมา เช่น การละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตยว่าคุ้มค่ากันหรือไม่








Advertisement

นายสมชาย แสวงการ อภิปรายว่า การให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้เป็นภัยทางการเมืองต่อทุกคน อาจมีการดักฟังข้อมูลในทุกเรื่อง ถือว่าอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หากยังเดินหน้าต่อไป จะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน

ขณะที่กมธ.เสียงข้างมาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. อภิปรายว่า การใช้คำว่าดักฟังเป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว เพราะกมธ.เสียงข้างมากไม่มีเจตนาล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน เพราะการจะใช้อำนาจตามมาตรา 37/1 ได้ ต้องผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คนก่อนจะขอยื่นอนุมัติต่ออธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ความเห็นชอบด้วย ไม่ใช่แค่ให้ผู้พิพากษาทั่วไปอนุญาต

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ที่สำคัญ ฐานความผิดที่เข้าข่ายใช้มาตรา 37/1 ได้ ต้องเป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบในวงกว้าง เมื่ออธิบดีศาลฯอนุญาตแล้ว ป.ป.ช.จะมีเวลาไม่เกินครั้งละ90 วันใช้อำนาจดังกล่าว ส่วนข้อมูลที่ได้มา จะใช้เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับคดีเท่านั้น ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับคดีจะถูกทำลายทันที ป.ป.ช.ไม่มีเจตนาจะละเมิดสิทธิประชาชน แต่จะทำทุกทางเพื่อตรวจสอบการทุจริต

ขณะที่พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกมธ. อภิปรายว่ายืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่ทำเพื่อประโยชน์ทางคดี ใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการป.ป.ช. ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในมาตรา 37/1 ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 11.00 น. กระทั่งเวลา 17.30 น. มาตราดังกล่าวก็ยังไม่ได้ข้อยุติ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. จึงขอพักการประชุม 10 นาที เพื่อหารือนอกรอบ เนื่องจากมีสมาชิกเสนอให้ปิดประชุมในวันนี้ก่อนแล้วมาอภิปรายต่อในวันที่ 22 ธ.ค.

ต่อมาเวลา 17.40 น. การประชุมได้เปิดขึ้นอีกครั้ง โดยนายพรเพชร แจ้งว่าได้เชิญกมธ.เสียงข้างมากและกมธ.เสียงข้างน้อยและผู้อภิปรายไปหารือร่วมกัน ปรากฎว่ากมธ.เสียงข้างมาก ยืนกรานไม่ยอมถอนมาตราดังกล่าว ทำให้ยังมีประเด็นที่กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกอภิปรายค้างไว้ และกมธ.เสียงข้างมากยังไม่ได้ตอบ จึงขอเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 22 ธ.ค.นี้ นัดประชุมเวลา 09.00 น. จากนั้นได้สั่งปิดประชุม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน