ปากคำประวัติศาสตร์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เล่าจุดเริ่มต้น ’30 บาท รักษาทุกโรค’ โครงการหลักประกันสุขภาพ ที่ “หมอสงวน” มานำเสนอแนวคิด สุดท้ายทำได้จริง ช่วยคนนับล้าน ลดผู้ป่วยอนาถา

18 ม.ค. 2565 – โทนี่ วู้ดซัม (ทักษิณ ชินวัตร) อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมวงสนทนาใน CareTalk x CareClubHouse หัวข้อ หมูแพง ของแพง ค่าแรงถูก : ตู่บ้งเกินคาด พินาศทั้งประเทศ โดยมี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ นักเศรษฐศาสตร์ ทายาทกิจการฟาร์มหมู จ.ราชบุรี ร่วมรายการ

ช่วงหนึ่ง อ.เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการชื่อดัง ได้ร่วมตั้งคำถามถึง โทนี่ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โดยระบุว่า วันนี้ (18 ม.ค.) เป็นวันครบรอบ 14 ปี การเสียชีวิตของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิก และ ผลักดัน “โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยได้ขอบคุณ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ผลักดันแนวคิดนี้ จนกระทั่งเป็นนโยบายจริงของ “30 บาท รักษาทุกโรค” โดยขอให้ โทนี่ และ นพ.สุรพงษ์ เล่าถึงเบื้องหลังก่อนที่จะมาเป็นโครงการดังกล่าว

นพ.สุรพงษ์ เริ่มด้วยการกล่าวถึง คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของตน เป็นแพทย์ และสนใจเกี่ยวกับความทุกข์ยากของประชาชน ตั้งแต่ช่วงที่เราเรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ด้วยกัน และเป็นคนที่ศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อหาหนทางให้ประชาชน ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ต้องล้มละลายจากการรักษา เมื่อเจ็บป่วย

นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า คุณหมอสงวนมีความฝัน ที่จะให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ทำงานอยู่กระทรวงสาธารณสุข ในกองแผนงาน และห็พยายามจะเสนอให้กับพรรคการเมืองหลายๆพรรค ทุกๆพรรค ที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ ในขณะนั้น เป็นแกนนำรัฐบาลในเวลานั้นด้วย แต่ก็ไม่มีใครมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะทำได้ บางคนมองถึงขนาดว่า เป็นความคิดที่หลุดโลก หรืออาจจะเพี้ยน

นพ.สุรพงษ์ เล่าต่อว่า ตอนนั้นมีโอกาสพบกับ นพ.สงวน เมื่อปี 2542 และก็ได้นำเอาความคิดนี้มาพบและนำเสนอกับ นายกฯทักษิณ โดยมาพบกันที่ 24 ธันวาคม 2542 ตนยังจำบรรยากาศวันนั้นได้ดี คุยกันประมาณ 40 นาที นพ.สงวน ก็ได้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับแนวคิด และความเป็นไปได้ ของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ก็ต้องเรียนตรงๆนะครับ วันนั้นผม ซึ่งนั่งฟังอยู่ ก็คิดว่าจะจบลงด้วยคำว่า ขอคิดดูก่อน ยังไม่ติดใจ ขอไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ของตัวหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น แต่ก็ผิดคาด พอได้มีการนำเสนอเสร็จ ประมาณ 40 นาที นายกฯทักษิณ ก็ได้บอกกับที่ประชุม และ นพ.สงวน ว่า

แนวคิดประสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแนวคิดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศไทยได้ การใช้งบประมาณ อาจจะไม่มากอย่างที่คาดการณ์กัน ซึ่งวันนั้นก็คาดการณ์กันว่าจะต้องใช้งบประมาณถึงแสนล้าน แต่ตัวหัวหน้าพรรคไทยรักไทย คิดว่าไม่ถึง เพียงแค่เอางบประมาณที่ใช้อยู่แล้วมาปรับใช้ และเพิ่มงบไม่กี่หมื่นล้าน ก็สามารถทำได้ และก็รับนโยบายนี้ เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทย

และนโยบายนี้ ก็เป็นนโยบายสำคัญ 1 ใน 3 ของการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อ 6 ก.พ.2544 และเป็นสุดสำคัญ ที่ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง 248 เสียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาล ผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดทุกๆคน ในวันที่ 1 ต.ค. 2544″ นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ด้าน ทักษิณ ชินวัตร เล่าต่อว่า ตนนั่งฟังหมอสงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ผมฟังดูแล้วความมุ่งมั่นของแกสูงมาก แล้วบังเอิญว่าตนเองก็เป็นคนบ้านนอก และเคยไปโรงพยาบาลสวนดอก (จ.เชียงใหม่) เดินผ่านห้องอนาถา เห็นชาวบ้านมารอคิว

“ผมมีความรู้สึกอย่างเดียวว่า เวลาเราเลือกตั้ง เราลงคะแนน 1 เสียงเท่ากัน เศรษฐี-ยาจก ก็ได้ 1 เสียง นับหนึ่งเหมือนกัน แต่ทำไมเราต้องให้เขาเป็นอนาถา? และเรื่องของความเจ็บป่วย ทำไมถึงต้องให้เขาเป็นอนาถา ทำไมเราไม่ดูแล ‘คนของชาติเรา’ แล้วเราไปเห็นใจคนของชาติอื่น โดยที่ไม่เห็นใจคนของชาติเรานี่เหรอ? ผมมีความรู้สึกนี้ในใจ” โทนี่ กล่าว

“พอหมอสงวนมาเล่าว่า (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) จะทำแล้วมันจะเป็นแบบนี้ๆ ผมบอก เห้ย มันตรงใจผมมากเลย ผมเห็นความมุ่งมั่นแกแล้ว ผมก็ถามแกว่า โดยเทคนิคแล้ว โดยวิชาการคุณทำได้นะ แน่ (หมอสงวนตอบ) ผมมีหน้าที่จัดเรื่องงบประมาณอย่างเดียวใช่หรือไม่ ใช่ครับ (หมอสงวนตอบ)” ทักษิณ เล่าช่วงหนึ่ง

ทักษิณ ยังเล่าอีกว่า ตนเคยไปอยู่อเมริกา ไปเอาประกันสุขภาพของอเมริกา (Blue Cross/Blue Shield) ผมก็เลยเอาอันนี้มาคิดประยุกต์เลย ว่า อ๋อ สมมติว่ารัฐบาลจ่ายค่าประกันสุขภาพให้ประชาชนทั้งหมด หัวละ 2,000 บาท ก็แสดงว่าค่าพรีเมียมหัวละ 2,000 แต่ 2,000 บาท เนี่ยคนตั้งกี่สิบล้านคน คงไม่ไปป่วยพร้อมกันทั้งหมดหรอก คนไม่ป่วย บริษัทประกันกิน คนป่วยบริษัทประกันขาดทุน เขายอมขาดทุนกับคนป่วย ได้กำไรจากคนไม่ป่วย

เพราะฉะนั้นก็เลยเอาหลักคิดนี้มาคิด ก็เท่ากับว่า เราออกค่าประกันให้กับประชาชนนั่นเอง แล้วเงินเอามาจากไหน ก็ทุกวันนี้ก็จ่ายอยู่ให้โรงพยาบาลเอาไปบริหาร รพ. จ่ายเป็นก้อนไปบริหารดีบ้างเฮงซวยบ้าง ผมเลยบอกว่า เอางี้ เอาเงินมารวมกันเป็นก้อน แล้วก็แบ่งเขต ว่า รพ.นี้ มีประชากรกี่ล้านคน สมมติว่ามี 1 ล้านคน หัวละ 2,000 คุณเอาไปเลย 2,000 ล้าน คุณมีหน้าที่บริหารจัดการให้ดี

“จากนั้นผมก็มาคิดต่อว่า เอ๊ะ ทำไมถึงต้องเป็น 30 บาท ผมก็มานั่งคิดกับหมอสุรพงษ์ (สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ต่อ ว่าทำไมจะเอา 30 บาท ถ้าเอามากกว่า 30 บาท ชาวบ้านก็ไม่มีตังจ่ายให้อยู่ดี ถ้าเอาน้อยเกินไป 5 บาท 10 บาท มันก็ดูไม่มีความหมาย เอา 30 บาท คนจะได้ไม่มา รพ.โดยไม่จำเป็น ถ้าเขาไม่ป่วยจะได้ไม่มา แล้วมาก็จ่าย 30 บาท และบุคคลากรทางการแพทย์ จะได้เข้าใจว่า เขาวาง 30 บาท มาซื้อบริการสาธารณสุข จากโรงพยาบาลของคุณ

เพราะฉะนั้น คนจนหรือคนรวย คุณไม่รู้หรอก เพราะเขาจ่าย 30 บาทเท่ากัน คุณก็มีหน้าที่ดูแลเขาเท่ากัน นี่คือหัวใจของประชาธิปไตยนะ ซึ่งเราคำนวนแล้ว เราเพิ่มเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท ก็เลยสามารถทำได้ ผมเป็นคิดเลขเร็ว แบบนี่โอเค ผมเลยตอบรับทำทันที” ทักษิณ กล่าว

ทักษิณ เล่าปิดท้ายว่า แต่ต้องยอมรับเลยว่า ความมุ่งมั่นของหมอ (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) มันเหมือนเป็นแพสชั่นส่วนตัว ว่าต้องแกปัญหาด้วยวิธีนี้ เพราะแกเป็นหมอชนบทมาก่อน แกไปเห็นชาวบ้านมาเหมือนที่ตนเห็นนี่แหละ ตนเองเป็นคนชนบท แต่หมอเป็นหมอชนบท ก็ได้เห็น วันนี้ก็ถือว่า คนที่รอดตายจากโครงการนี้ หรือได้รับการรักษาที่ดี ก็ถือว่าส่งผลบุญให้ หมอสงวนของเรา แกเป็นคนดีและเป็นคนเก่ง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน