เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ธ.ค. ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายชัยเกษม นิติสิริ นายวัฒนา เมืองสุข นายสามารถ แก้วมีชัย ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่า 1. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ การแก้ไขเพิ่มเติมต้องกระทำโดย สนช. การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมไม่อาจทำได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2.การออกคำสั่งดังกล่าวนอกจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา 44 เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อปฏิรูป สร้างความสามัคคีปรองดอง หรือเพื่อป้องกันการกระทำที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ยังถือเป็นการลบล้างกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 3.เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งแต่การคงข้อห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง กำหนดให้รีเซ็ตสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม กำหนดเงื่อนไขที่การดำเนินการต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. 4.เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนให้ คสช.และหัวหน้า คสช. สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป โดยก่อนออกคำสั่งไม่กี่วัน มีบางกลุ่มออกมาเรียกร้องให้รีเซ็ตสมาชิกใหม่ ดังนั้นจึงไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง บนความเสมอภาคเท่าเทียมตามที่กล่าวอ้าง แต่เพื่อทำลายพรรคการเมืองเดิม และสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่

แถลงการณ์ ระบุว่า 5.คำสั่งนี้เพิ่มอำนาจให้ คสช. มีอำนาจตอบข้อหารือ ถือว่าแทรกแซงกระบวนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง แทรกแซงการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต. 6.มีเจตนาซ่อนเร้นที่จะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไป เพราะเมื่อถึงเวลาพรรคการเมืองไม่อาจดำเนินการหรือส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทัน ก็จะเป็นข้ออ้างของ คสช.ให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้างต้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยมิได้เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำลายระบบพรรคการเมืองและสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เพิ่มภาระให้แก่สมาชิกพรรคเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น เปิดช่องให้มีการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ คสช.และหัวหน้า คสช.ได้อยู่ในอำนาจต่อไป และเมื่อหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง อันขัดต่อหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้ คสช.ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นต้นเหตุแห่งข้ออ้างของ คสช.ในการออกคำสั่งฉบับนี้ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

นายภูมิธรรม กล่าวว่า คำสั่งมีนัยยะสำคัญถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างแรง ทำลายรากฐานพรรคการเมืองเดิม เพื่อประโยชน์และพวกพ้องตนถือเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ทำประชามติมาแล้ว หวังเลื่อนเลื่อนตั้ง สร้างโอกาสเงื่อนไขให้พวกพ้องกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง โดยหลังปีใหม่ทางพรรคจะใช้ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมอีกครั้ง วันนี้ คสช.ต้องกล้าหาญ แสดงตนพูดออกมาตรงๆ ถ้าอยากเข้าสู่การเมือง ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ใช้อำนาจออกคำสั่งเพื่อสร้างความได้เปรียบ หวังชนะการเลือกตั้ง หากผู้นำยังใช้วิธีตามอำเภอใจแบบนี้ประเทศไปต่อไม่ได้ โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่แนบเนียนที่จะทำให้เกิดการรีเซ็ตและทำให้สมาชิกพรรคแยกสลายไปในตัว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก่อนหน้ามีคนบางกลุ่มมีความพยายามตั้งพรรคการเมืองใหม่ และเรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ รวมถึงรีเซ็ตพรรคการเมือง ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ทยอยเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบจนกระทั่งเกิดคำสั่งนี้ขึ้นมา จงใจให้เกิดการทำลายพรรคการเมืองอย่างชัดเจน สอดคล้องกับที่รัฐบาลออกไปพบประชาชน ไปสร้างความนิยม การที่พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่และพบอดีต ส.ส.นั้น เหมือนมีความพยายามติดต่อนักการเมืองให้ไปร่วมมือ ซึ่งก็เป็นแผนของท่าน ถามว่าทำไมพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ถึงออกมาคัดค้านพร้อมกัน เพราะกฎหมายนี้ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองโดยตรง ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวทำลายระบบกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ถ้าทุกคนอยู่เฉยๆ ปล่อยให้คสช.ทำอะไรก็ได้ จากนี้ไปเราจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่มี คสช.แทรกแซงอย่างไรก็ได้ การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย หลายประเทศมหาอำนาจจะมองว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องไม่จริง ทำให้ไทยเสียหายได้

ด้านนายสามารถ กล่าวว่า การออกคำสั่งนี้ขัดรัฐธรรมนูญ สร้างความสับสน และขัดแย้งกันเอง เช่น บุคคลที่จะเป็นสมาชิกต้องยืนยันตัวตนกับหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน รวมทั้งต้องมีการจ่ายค่าบำรุงสมาชิก แต่รัฐธรรมนูญเขียนว่าให้เก็บค่าบำรุงสมาชิก 500 คน ภายใน 180 วัน สรุปว่าต้องจ่ายเงินเลยหรือไม่ อย่างไร รวมถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม จะให้สมาชิกต้องติดต่อ สตช.หรือไม่ว่าเคยต้องคดีมาก่อนหรือเปล่า หลายเรื่องที่เขียนออกมาปฏิบัติยาก จึงหวังว่าหลังจากที่เราทักท้วง ขอให้ไปดูว่าสิ่งที่จะมีปัญหาตามมาจะแก้ปัญหาอย่างไร

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การยื่นศาลก็เป็นอำนาจของประชาชนและพรรคการเมืองที่พอจะเยียวยาตัวเองได้ ไม่เกี่ยวกับว่าเมื่อยื่นศาลแล้วจะยิ่งทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเพราะเราไม่มีที่พึ่งทางอื่น ทั้งนี้ ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งดังกล่าวเปิดช่องให้ผู้สมัครและสมาชิกพรรคสามารถย้ายออกจากพรรคได้ โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคการเมืองเดิมนั้นมีความเป็นไปได้ เป็นการสนับสนุนให้สมาชิกย้ายพรรคได้และหวังสลายพรรคการเมืองเดิม

นายวัฒนา กล่าวว่า การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ต้องมีเหตุแห่งความจำเป็นในการออกคำสั่ง แต่ขณะนี้การออกคำสั่งของหัวหน้า คสช.ใช้วิธีการคาดเดา ก้าวล่วงขยายขอบเขตอำนาจของตัวเองซึ่งมิชอบ และขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ทั้งนี้ มาตรา 268 ระบุว่าเมื่อทำกฎหมายลูกแล้วเสร็จทั้ง 4 ฉบับต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งหากใช้เวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สนช.ต้องพิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จภายในวันที่ 26 ม.ค. 61 จากนั้นจะต้องมีการทูลเกล้าฯ ประมาณวันที่ 20 ก.พ. และหากใช้เวลาสูงสุดตามรัฐธรรมนูญต้องประกาศเลือกตั้งภายในเดือน ส.ค.61 การออกคำสั่งของ คสช.แบบนี้ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามไทม์ไลน์ได้ และถ้ามีการจัดการเลือกตั้งเลยไปในปี 62 ก็อาจจะมีคนร้องว่าการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นหัวหน้าคสช.ต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และกลับไปใช้พ.ร.ป.พรรคการเมืองตามเดิม การเลือกตั้งก็จะทันภายในปี 61

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน